สิ่งที่วางอยู่เบื้องหน้าของชลานั้น คือกระดาษสีขาวอย่างแข็งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ แผ่นหนึ่ง เนื้อกระดาษเป็นอย่างดีเยี่ยม ขอบทอง ตรงกลางพิมพ์นามด้วยตัวครึ่งสีน้ำเงินสดอย่างประณีต ส่วนด้านหลังของนามบัตรนั้นมีอักษรตัวหนักๆ เขียนไว้เพียงสั้นๆ ว่า
“ช่วยหางานให้ผู้ถือนามบัตรนี้ทำด้วย เธอเป็นญาติของผมเอง”
ทางด้านหน้า ใต้นามบัตรที่พิมพ์ด้วยตัวครึ่งสีน้ำเงินสดนั้น มีลายมือเดียวกันเขียนระบุนามของผู้รับและสถานที่ไว้
นับเป็นเวลาผ่านเข้าสัปดาห์หนึ่งแล้ว ตั้งแต่ชลาได้รับนามบัตรแผ่นนี้มา ‘ท่าน’เป็นคนเขียนส่งให้กับมือของเธอในคืนที่มีงานวันเกิดของกิติมา ชลาได้นำมันออกมาดูครั้งแล้วครั้งเล่า และก็ตัดสินใจไม่ตกสักทีว่าควรจะนำมันไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองหรือไม่ หญิงสาวได้นำนามบัตรนี้ไปให้มารดาดูในวันรุ่งขึ้นจากที่ได้รับมันมา เล่าเรื่องให้ท่านฟัง พร้อมทั้งขอความเห็น นางละเมียรรับเอานามบัตรไปอ่านดูเงียบๆ ครู่หนึ่ง แล้วจึงออกวาจาออกมาเพียงสั้นๆว่า
“พิลึก”
“แม่คิดว่าหนูควรจะไปหาเขาไหมคะ?” ชลาถาม
“ก็หนูคิดว่ายังไงล่ะจ๊ะ” มารดาย้อนถาม ชลาขมวดคิ้ว ใช้มือเขี่ยไปตามพื้นกระดาษเล่นขณะที่ใช้ความคิด แล้วจึงบอกว่า
“หนูรู้สึกกระดากยังไงก็ไม่รู้ค่ะ เขาเป็นใครที่ไหนก็ไม่รู้ ไม่เคยรู้จักมักจี่กันสักหน่อย แล้วจู่ๆก็ถือนามบัตรไปของานทำ เขาจะนึกว่ายังไง”
“นั่นซีจ้ะ แม่ก็รู้สึกว่ามันแปลกอยู่เหมือนกัน หรือว่าสมัยนี้เขาทำกันแบบนี้ก็ไม่รู้ เพียงแต่ถือนามบัตรของคนใหญ่คนโตไปแสดงก็ได้งานทำแล้ว มันง่ายดีเหมือนกัน”
“ง่ายน่ะมันง่ายดีหรอกค่ะแม่ แต่คนอื่นเขาจะเข้าใจเราว่ายังไงกัน หนูละกลัวเหลือเกินไอ้เรื่องที่จะถูกคนมองในแง่ผิดๆนี่”
“ถ้าหนูกลัวอย่างนั้นก็อย่าไปซิจ๊ะ” มารดาช่วยตัดสินใจให้ “รอไว้อีกสักเดือนสองเดือนก็ได้ ให้พ่อกวีเขากลับมาเสียก่อน”
ชลามองดูมารดาด้วยความพิศวง กำลังจะถามท่านออกไปอยู่แล้วว่า เหตุใดจึงต้องรอให้กวีกลับมาเสียก่อนก็พอดีท่านพูดออกมาเองว่า
“แม่รู้สึกว่าพ่อกวีเขาเป็นคนสุขุมรอบคอบ มีความคิดดี สมควรที่หนูจะยึดเป็นที่ปรึกษาได้ สำหรับคุณพ่อน่ะ ท่านอายุมากแล้ว อาจจะวิ่งไม่ทันโลกสมัยนี้ แม่เองก็ยอมแพ้ละว่าวิ่งตามไม่ทันจริงๆ แต่แม่ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องออกไปวิ่งแข่งอะไรกับเขาอีกแล้ว ไม่เหมือนหนู ชีวิตของหนูเพิ่งจะเริ่มต้น หนูจะต้องวิ่งให้ทันคนรุ่นราวคราวเดียวกัน แม่ถึงได้ว่าพ่อกวีเขาคงจะช่วยหนูได้ดีกว่าแม่หรือคุณพ่อ”
แต่กวียังไม่กลับมา นามบัตรแผ่นนั้นจึงถูกทิ้งเอาไว้เฉยๆบนโต๊ะแต่งตัว บ่อยครั้งที่ชลาหยิบมันขึ้นมาพยายามที่จะตัดสินใจว่าควรจะทำอย่างไรดี แต่แล้วก็ทุกครั้งเช่นเดียวกันที่เธอกลับวางมันลงพร้อมกับบอกกับตัวเองว่า ยังคิดไม่ตก วางมันทิ้งไว้อย่างนั้นก่อนก็แล้วกัน
วันนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่ออยู่ว่างๆไม่มีอะไรจะทำ ชลาเดินมานั่งที่โต๊ะแต่งตัว หยิบนามบัตรแผ่นนั้นขึ้นมาอ่านดูอีกครั้งหนึ่ง ชลาคิดเรื่อยเปื่อยไปถึงเหตุการณ์ในคืนวันงานนั้นเป็นต้นมา
ขณะนั้น เธอได้ยินมารดาพูดกับใครคนหนึ่งอยู่ข้างล่าง จับความไม่ได้ว่าพูดกันถึงเรื่องอะไร แล้วจึงมีเสียงค่อนข้างสูงแหลมดังขึ้น
“คล้ายเสียงคุณกิติมา” ชลาบอกกับตัวเอง แต่คงไม่ใช่ กิติมาไม่เคยย่างเหยียบมาบ้านนี้เลยก็ว่าได้ นับตั้งแต่หล่อนแต่งงานไปแล้ว
เด็กรับใช้โผล่เข้าประตูมาบอกว่า “คุณนายท่านให้มาเชิญคุณลงไปข้างล่างค่ะ” แล้วก็ถอยหลังออกไปเสียก่อนที่ชลาจะทันซักถามให้ได้ความว่าใครมาหามารดา หญิงสาวจึงวางนามบัตรแผ่นนั้นลงยังที่เดิม ก้มลงสำรวจดูความเรียบร้อยของเครื่องแต่งกายก่อนที่จะออกไปจากห้อง
และแล้ว ชลาก็ต้องรู้สึกประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเห็นว่าผู้ที่นั่งอยู่กับมารดาที่ม้ายาวที่ระเบียงหน้านั้น คือกิติมาจริงๆ หญิงสาวจึงก้มตัวลงทำความเคารพ ยังไม่ทันจะเงยหน้าขึ้น ก็ได้ยินเสียงของฝ่ายนั้นทักขึ้นมาว่า
“ว่ายังไงจ๊ะ ชลา ท่านฝากงานให้แล้วเธอไปหาเขาหรือยังล่ะ?”
ชลานั่งลงข้างมารดาก่อนที่จะตอบว่า “ยังค่ะ”
“อ้าว ทำไมถึงยังไม่ไปอีก?” กิติมาร้อง “มิน่าล่ะ เมื่อวานนี้ท่านถึงได้ถามคุณสำราญว่าทำไมยังไม่เห็นเธอไปทำงาน คุณสำราญบอกว่า เอ ยังไงก็ไม่ทราบ เพราะตั้งแต่วันงานแล้วยังไม่ได้พบกับเธออีกเลย ทีนี้แม่กรวิภาน่ะซี เขาเกิดพูดขึ้นมาว่า เธอคงจะไปสมัครแล้ว แต่อีตาผู้จัดการท่าจะไม่ยอมรับกระมัง เท่านั้นแหละท่านเลยเอะอะใหญ่ว่าจะไปเล่นงานผู้จัดการ”
“ตายจริง” ชลาอุทานอย่างตกใจจริงๆ “ดิฉันไม่คิดว่าจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ถึงขนาดนั้นเลย เป็นความจริงที่ยังไม่ได้ไปก็เพราะว่ายังตัดสินใจไม่ตกเท่านั้นเองค่ะ”
“ตัดสินใจไม่ตกเรื่องอะไรกันล่ะจ๊ะ?” กิติมาถาม “แปลว่าเธอยังไม่แน่ใจใช่ไหมว่าจะทำงานหรือไม่ พุทโธ่ ไอ้เราก็ไม่รู้ หลงคิดว่าเธออยากจะทำจริงๆ ทั้งฉันทั้งคุณสำราญช่วยกันฝากฝังเสียแทบแย่”
“ไม่ใช่อย่างนั้นค่ะ” ชลารีบอธิบายโดยเร็ว “เรื่องทำงานน่ะดิฉันอยากทำแน่ แต่สำหรับรายนี้ดิฉันตรองไม่ตกว่าควรจะไปดีหรือไม่ดี ดิฉันเกรงใจเขาค่ะ รู้สึกว่ามันจะเป็นการบังคับใจเขามากเกินไป”
“อุ๊ย เธอละคิดมาก” กิติมาทำท่าเหมือนจะค้อน “ไม่มีใครเขาคิดมากเหมือนอย่างเธอหรอกจ้ะ ชลา สมัยนี้น่ะ มัวแต่คิดมากอยู่ไม่ได้ จะไม่ทันกินเขา พอโอกาสผ่านมาถึงเราก็ต้องรีบคว้าเอาไว้ทันที ฉันจะสอนให้ อย่างเธอนี่น่ะ นับว่าโชคดีกว่าคนอื่นเทียวนะที่มีท่านช่วย ใครๆ ก็อยากจะได้โอกาสอย่างนี้กันออกจะตายไป แต่ท่านน่ะ ไม่ช่วยใครง่ายๆ หรอก นอกจากจะถูกใจจริงๆ”
“ไอ้คำว่าถูกใจของแม่กิติมาน่ะ เขามีความหมายถึงแค่ไหนกันนะ แม่อยากรู้นัก”
นางละเมียรกล่าวคล้ายปรารภกับบุตรสาว ภายหลังที่กิติมาได้ลากลับไปแล้ว พร้อมทั้งไม่ลืมที่จะกำชับกำชาให้ชลารีบไปสมัครงานเสียโดยเร็ว
เมื่อเห็นธิดายังคงนั่งนิ่งอยู่ นางละเมียรก็กล่าวต่อไปว่า “แม่ยิ่งฟังแล้วรู้สึกว่ามันไม่สนิทหูเสียเลย รู้สึกคล้ายกับว่าไอ้การที่เขาฝากงานฝากการ ให้หนูครั้งนี้น่ะมันมีอะไรแอบแฝงอยู่พิกล”
“นั่นน่ะซีคะ” ชลาคล้อยตาม “ยิ่งคุณกิติมาถึงกับลงทุนมาเอะอะโวยวายถึงบ้านอย่างนี้ด้วยแล้ว หนูยิ่งไม่สบายใจเสียเลยทีเดียว”
“ร้อยวันพันปีแม่กิติมาไม่เคยเหยียบย่างมาบ้านนี้ วันนี้ยังเดินตัวปลิวเป็นถูกลมพัดเข้ามาได้ จะว่ามาเพราะกลัวหนูจะถูกเจ้านายของเขาโกรธเอาที่ฝากงานให้แล้วไม่ไปทำเท่านั้นก็ผิดทีไป”
“แหม กลุ้มใจจริง” ชลาร้อง “นี่หนูจะทำยังไงดีเล่าคะแม่”
“เฉยเอาไว้ก่อนก็แล้วกันจ้ะ”
“ถ้าคุณกิติมามาล้งเล้งเอาอีกเล่าคะ
”“ก็แก้ตัวไปตามเรื่อง ว่า เรายังไม่อยากไปหรือไม่สบายอะไรก็ได้นี่นะ” มารดาแนะ “หนูอย่าไปวิตกแทนคนอื่นเขาจนถึงกับเอาตัวของเราเข้าเสี่ยงเลย แม่กิติมา เขาไม่เดือดร้อนอะไรนักหนาหรอก”
ชลาจึงตกลงใจที่จะทำตามที่มารดาแนะนำ เวลาได้ล่วงเลยไปอีกสัปดาห์หนึ่ง แล้วหญิงสาวก็ได้ประสบกับเหตุการณ์ที่แสนประหลาดน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก
กล่าวคือ เย็นวันหนึ่ง ขณะที่ชลาลงมานั่งคอยบิดาอยู่ที่หน้าบ้านตามเคยนั้น เธอได้มองเห็นรถยนต์คันหนึ่งแล่นมาจอดที่หน้าประตูบ้าน ความสวยงามทันสมัยของรถคันนั้นที่มองเห็นได้จากรั้วในส่วนที่โปร่ง และความฉงนใจที่มันแล่นมาหยุดอยู่ ณ ประตูบ้านของหล่อนได้อย่างพอดิบพอดีนั้นอีกหนึ่ง ที่ทำให้หญิงสาวรู้สึกสนใจเป็นพิเศษ จนถึงกับจับตามองดู แล้วหล่อนจึงได้มองเห็นประตูเล็กถูกผลักเข้ามา ผู้ชายคนหนึ่งลอดกายก้าวข้ามขอบประตูเข้ามาในบ้าน เมื่อเขายึดกายขึ้นอย่างเต็มที่แล้ว ชลาจึงได้เห็นว่าเขาแต่งกายเรียบร้อย สวมเสื้อเชิ้ตแขนยาวและผูกเน็คไทสวมแว่นตากันแดดสีชาเข้ม เมื่อเขามองเห็นเธอนั่งอยู่ เขาก็เดินตรงเข้ามาหาทันทีโดยไม่เสียเวลาหยุดลังเลใจแม้แต่น้อย ชลาจึงจำต้องลุกขึ้นยึนทั้งที่แน่ใจว่าเธอไม่เคยรู้จักเขามาก่อนเลย
“คุณชลาใช่ไหมครับ?”
เขาถามทันทีที่เดินมาถึงตัวเธอ ซึ่งยังผลให้ชลาต้องเบิกตากว้างด้วยความประหลาดใจ
“เอ๊ะ ทำไมคุณถึงได้รู้จักดิฉันเล่าคะ?”
เขาหัวเราะพร้อมกับดึงแว่นกันแดดออกจากดวงตา ชลาได้สังเกตเห็นเพิ่มเติมขึ้นอีกว่า เขาเป็นชายที่อยู่ในวัยเกือบจะกลางคนแล้ว แต่งกายประณีตและพิถีพิถันยิ่งนัก เครื่องแต่งกาย และเครื่องใช้ที่เขาใช้ทุกชิ้น เท่าที่เธอพอจะสังเกตเห็นได้นั้น ล้วนแต่เป็นของดีราคาแพงทั้งสิ้น เขาหวีผมเรียบ แสกกลาง และหน้าตาของเขาจะน่าดูยิ่งขึ้นกว่านี้อีกมากทีเดียว ถ้าเขาจะไม่มีดวงตาที่ค่อนข้างเล็กยาวอย่างนั้น
“ผมเดาเอาจากที่ได้ยินคำอธิบายจากท่าน และคุณสำราญน่ะซีครับ” เขาบอก ชลายิ่งงงหนักขึ้น
“คุณได้ยินจากท่านและคุณสำราญหรือคะ เอ๊! ดิฉันไม่เข้าใจเลยว่าคุณพูดถึงเรื่องอะไร?”
“ยังไม่เข้าใจผมก็จะเล่าเรื่องให้ฟัง” เขาบอกอย่างอารมณ์ดี มองดูเก้าอี้แล้วถามอย่างมีมารยาทดีว่า “ขอให้ผมนั่งก่อนได้ไหม?”
“ได้ค่ะ” ชลาหัวเราะอย่างกระดากในความบกพร่องของตนเอง “ขึ้นไปนั่งในห้องรับแขกข้างบนจะดีกว่ากระมังคะ?”
“ไม่ต้องดอก” เขาบอกอย่างใจดี “นั่งตรงนี้ก็ดีแล้ว ดูเป็นกันเองดี ก่อนอื่น ผมต้องขอแนะนำตัวเองเสียก่อนว่าผมชื่ออารีย์ เป็นผู้จัดการบริษัทไทยทัศนา”
“อ๋อ” ชลาออกปากอุทานมาในทันทีนั้นเองเมื่อนึกขึ้นมาได้ในฉับพลัน ว่า ชื่อนี้ ที่แท้คือชื่อที่ ‘ท่าน’ เขียนใส่นามบัตรส่งมาให้เธอและสั่งให้ไปหานั่นเอง
“คราวนี้คุณคงจะเข้าใจแล้วซีนะครับ ว่าผมต้องการจะมาพูดกับคุณด้วยเรื่องอะไร” ชายที่บอกว่าชื่ออารีย์หัวเราะอย่างอารมณ์ดี “เมื่อวานซึนนี้ ท่านแวะไปที่บริษัทผม ถามว่าคนงานใหม่ที่ฝากมาให้ทำงานนั้น ทำงานเป็นยังไงบ้าง ไอ้ผมก็งงถามว่าคนงานใหม่ที่ไหนกัน ท่านก็เอ็ดว่า อุบ๊ะ ก็น้องสาวคุณกิติมาเขาอยากจะทำงาน อั๊วก็เลยเขียนนามบัตรฝากฝังให้เขามาทำกับลื้อยังไงล่ะ แล้วท่านก็เลยเทศนาผมเสียยกใหญ่ว่าไม่เอาใจใส่กับคำขอร้องของท่าน”
“โธ่ ก็ดิฉันไม่ได้ไปสมัครเองนี่คะ ท่านจะมาว่าคุณไม่เอาใจใส่ได้ยังไงกัน” ชลาร้อง รู้สึกร้อนใจที่ตนต้องเป็นต้นเหตุทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
“แต่ท่านไม่ได้คิดอย่างนั้นนี่ครับ” อารีย์ว่า “ท่านคิดว่าคุณไปสมัครแล้วทางบริษัทผมไม่ยอมรับไว้ ผมเองก็คิดว่าคุณอาจจะไปแล้วไม่พบผม แต่ไปพบคนอื่นคุณก็เลยกลับ”
“แต่ความจริงนั้นดิฉันไม่ได้ไปเลยแหละค่ะ” ชลาสารภาพอย่างซื่อๆ “ดิฉันเกรงใจคุณก็เลยไม่ไป”
“นั่นน่ะซีครับ ผมถามใครๆ ดูแล้วก็ไม่มีใครรู้เรื่อง ผมก็เลยวิ่งไปหาคุณกิติมากับคุณสำราญเมื่อวานนี้ นี่คุณกิติมาช่วยบอกบ้านให้ดอกนะครับ ผมถึงได้มาหาคุณถูก”
“โธ่ คุณต้องพลอยลำบากลำบนไปเพราะดิฉันแท้ๆ ทีเดียว” ชลาว่า “ดิฉันต้องขอประทานโทษด้วยค่ะ ดิฉันจะขอให้คุณกิติมาช่วยเรียนท่านว่าเป็นความผิดของดิฉันเองที่ไม่ได้ไป ไม่ใช่ของคุณเลย”
“ขอบคุณครับ” เขาบอก “ผมต้องเกรงใจท่านให้มากหน่อยเพราะท่านเป็นหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัท ท่านมีสิทธิที่จะแต่งตั้งใครให้เป็นอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้นคุณคงจะเข้าใจนะครับว่าทำไมผมจึงต้องดั้นด้นมาหาคุณถึงที่นี่ในวันนี้”
“ก็คุณบอกแล้วไงเล่าคะว่า คุณต้องเกรงใจท่าน” ชลาบอกพร้อมกับยิ้มอย่างนึกขัน รอยยิ้มนั้นช่วยขับดวงตาที่ใสซึ้งให้เปล่งประกายงดงามสว่างไสวน่าดูยิ่งขึ้น ผู้จัดการบริษัทไทยทัศนานิ่งมองดูหญิงสาวที่นั่งอยู่เบื้องหน้า คำพูดประโยคหนึ่งผุดขึ้นมาในความคิดแต่เขาเก็บมันไว้เพียงในใจ เขานิ่ง
“เย็นแล้ว ผมเห็นจะต้องลาคุณเสียทีละครับ”
ชลารีบลุกขึ้นยืนและทำความเคารพเขา อารีย์รับการเคารพ ครั้นเดินห่างไป ๔-๕ ก้าว แล้วก็หันกลับมาร้องขึ้นว่า
“ผมเกือบลืมไปแล้วซี แล้วนี่เมื่อไหร่คุณถึงจะเริ่มไปทำงานเล่าครับ คุณชลา?”
“เอ๊ะ” ชลาร้องออกมาอย่างงวยงง “ไปทำงานที่ไหนกันคะ?”
“อ้าว ก็ที่บริษัทไทยทัศนาน่ะซีครับ” เขาบอก “ก็ท่านฝากคุณให้ทำงานในบริษัทอย่างไรเล่า คุณลืมเสียแล้วหรือ”
“เปล่า ดิฉันไม่ลืมหรอกค่ะ” ชลาตอบ รู้สึกแปลกใจจนอยากหัวเราะออกมาดังๆ “เป็นแต่ดิฉันรู้สึกแปลกใจและไม่เข้าใจเท่านั้น อะไรกันนี่ ท่านเขียนนามบัตรให้ดิฉันนำไปให้คุณ แต่ดิฉันไม่ไปเพราะเกรงใจคุณ แล้วคุณก็กลับเป็นฝ่ายมาหาดิฉันถึงที่นี่เอง อย่างนี้ยังไม่น่าขันอีกหรือคะ?”
“ก็น่าขันเหมือนกัน” เขาคล้อยตามพลางหัวเราะ “แต่ดังที่ผมเรียนให้คุณทราบแล้ว ท่านเป็นหุ้นใหญ่ เป็นประธานกรรมการของบริษัท ความประสงค์ของท่านคือสิ่งที่ผมจะต้องปฏิบัติตาม”
ประหลาด.. ประหลาดที่สุดในโลกจริงๆ ทีเดียว ดูหรือมีคนตั้งกี่ร้อยกี่พันคนที่เที่ยววิ่งวุ่น เหนื่อยอ่อนทั้งใจและกายเพื่อที่จะหางานทำ แต่แล้วกลับต้องพลาดหวัง เธอสิ อยู่ๆก็มีคนเอาโอกาสนั้นมายัดใส่มือให้ เธอกลับขว้างมันทิ้งไปเสียก่อนอย่างไม่ไยดี แต่แล้วก็ยังมีคนเก็บเอามันขึ้น ตามมายัดเยียดใส่มือให้เธออีก มันเป็นเรื่องที่แปลกแต่จริงเรื่องหนึ่งทีเดียว
อดมิได้ที่จะไม่นำเอาเรื่องนี้ไปปรึกษามารดาเช่นเคย นางละเมียรนิ่งฟังบุตรเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟังด้วยใบหน้าที่สงบแล้วจึงออกอุทานมาว่า
“ประหลาดดีนี่ลูก”
“นั่นซีคะ” ชลาว่า “แต่แรกหนูก็ตั้งใจแล้ว ว่าจะไม่ไปทำงานละ ถึงได้เฉยอยู่ตั้งสองอาทิตย์ไม่ไปสมัคร แต่แล้วผู้จัดการเขาก็กลับเอางานมาส่งให้ถึงมือเอง จะว่ายังไงดีคะ แม่?”
“เอ แม่ตัดสินใจให้หนูไม่ได้หรอกจ้ะ แม่ก็ไม่รู้นี่จ๊ะ ว่างานที่หนูจะไปทำนี่น่ะมันเรียบร้อยดีแค่ไหน แล้วก็ผู้จัดการที่แกบากบั่นมาถึงที่นี่น่ะ เจตนาของแกจะบริสุทธิ์หรือไม่สักเพียงใดก็ไม่รู้ ถ้าแกอุตส่าห์มาเพราะกลัวนายเขาเล่นงานเอาแล้วยังไม่ได้ตัวหนูไปก็น่าสงสารแกอยู่เหมือนกัน”
“แหม กลุ้มใจจริง” ชลาร้องอย่างอัดอั้นตันใจ “เจอปัญหายากๆ อย่างนี้ อยากให้พี่กวีอยู่เหลือเกิน”
“ถ้าพ่อกวีอยู่ละก็ ลูกอาจจะไม่ต้องพบกับปัญหายากๆ อย่างนี้ดอก” มารดาว่า “นี่พ่อกวีไม่อยู่และปัญหามันก็เกิดขึ้นแล้ว จะตัดสินใจอย่างไรก็ทำเข้าซีจ๊ะ”
ชลานิ่งเงียบไปครู่ใหญ่ แล้วจึงพูดขึ้นช้าๆ อย่างใช้ความคิดว่า “แม่คิดว่าจะน่ากลัวไหมคะถ้าหนูจะลองเสี่ยงไปทำงานเสียสักพักหนึ่ง”
“ถ้าเพียงแต่เป็นงานธรรมดาก็ไม่เห็นจะน่ากลัวอะไรนี่จ๊ะ” มารดาว่า “สมัยนี้ผู้ใหญ่เขาก็ทำงานกันทั้งนั้น แต่อย่างไรก็ตาม แม่อยากจะขอเตือนไว้ว่าการที่จะออกไปทำงานนอกบ้านนี้ จะเท่ากับลูกได้ก้าวออกจากโลกที่เคยอยู่ไปสู่โลกใหม่ที่ลูกยังไม่คุ้นเคย เพราะฉะนั้นทุกก้าวที่จะย่างเดินไปนั้น ลูกจะต้องระมัดระวังให้มาก มองให้มั่นใจเสียก่อนว่ามันมั่นคงปลอดภัยจริงๆแล้วจึงค่อยเหยียบลงไป จำไว้นะจ๊ะ”
“ค่ะแม่ หนูจะนึกถึงที่แม่สอนเสมอ” ชลาพูดอย่างเด็กดี “ถ้าอย่างนั้นพรุ่งนี้หนูจะบอกให้ผู้จัดการเขาทราบว่า หนูจะเริ่มไปทำงานในวันจันทร์ที่จะถึงนี้”
“จะทันหรือลูก” มารดาติงอย่างหวังดี “หนูจะต้องเย็บเสื้อผ้าเตรียมไว้อีก แล้วก็ต้องเรียนขออนุญาตคุณพ่อเสียก่อน เอาไว้ให้คุณพ่อท่านอนุญาตเสียก่อนแล้วค่อยบอกเขาดีกว่า”
“ค่ะ แล้วหนูจะเรียนคุณพ่อค่ำวันนี้ เชื่อว่าท่านคงจะไม่ขัดข้องเป็นแน่”
“ถ้าท่านยอมให้ไป พรุ่งนี้แม่จะให้เงินไปซื้อผ้า”
ชลาสวมกอดมารดาไว้อย่างรักใคร่ ในขณะที่ในใจภาวนาขอให้บิดายอมอนุญาตให้ออกไปทำงานนอกบ้าน ชลานั้นก็เปรียบดุจเดียวกับทารกที่เพิ่งสอนเดิน การออกงานราตรีครั้งแรกในงานวันเกิดของกิติมานั้น เปรียบเสมือนกับการก้าวเดินออกสู่โลกใหม่เป็นก้าวแรก ยั่วยุให้บังเกิดความกระหายใคร่จะได้ก้าวออกมาให้ไกลต่อไปอีกโดยมิได้หยุดยั้ง