ดวงใจนี้ใครครอง

>> สุภาว์ เทวกุลฯ

ดวงใจนี้ใครครอง

บทที่ 14

คุณวินิจ โสภณา   นั่งอยู่ที่โต๊ะอาหารค่ำวันนั้น   เบื้องขวามือของท่านคือบุตรชายคนเดียว   ซ้ายมือคือหญิงสาวผู้มีศักดิ์เป็นหลาน   ชลาสังเกตเห็นว่าดวงหน้าที่เคยซีดเซียวและเคร่งขรึมของท่านนั้นเปล่งปลั่งแจ่มใสขึ้นเป็นอันมาก   ริมฝีปากที่ค่อนข้างบางและหุบสนิทอย่างใช้ความคิดของท่านนั้น ปรากฏรอยยิ้มบ่อยครั้ง ขณะที่ฟังบุตรชายคุยถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เขาได้ผ่านพบมา   และกวีนั้นเล่า   ถึงแม้ว่าเขาจะได้จากบ้านเกิดเมืองนอนไปอยู่ในดินแดนที่ห่างไกล   แตกต่างด้วยขนบประเพณีและสิ่งแวดล้อมทั้งมวลมานานถึงห้าปีก็ตาม   แต่เขาก็หาได้ละลืมขนบประเพณีของไทยเราเสียไม่   เขายังเต็มไปด้วยความเคารพนอบน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่อยู่เช่นเดิม   อารยธรรมตะวันตกเพียงแต่ทำให้เขารู้จักพูดคุยมากขึ้น   กล้าที่จะแสดงความคิดของตนออกมามากขึ้น   ช่วยเพิ่มบุคลิกลักษณะของเขาให้น่าดูยิ่งขึ้นในความคิดของชลา

“ชลาทำไมเงียบไป?”

ตอนหนึ่งกวีละจากการสนทนากับบิดาของเขา หันมาทางชลาซึ่งกำลังดูเขาเพลินอยู่   ทำให้หญิงสาวรู้สึกตัวและรู้สึกว่าหน้าร้อนผ่าวขึ้นนิดๆ   คุณวินิจมองดูหลานสาวอย่างเอ็นดู   บอกว่า

“หนูชลาไม่ค่อยชอบพูดมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว”

“เป็นลักษณะของหญิงไทยแท้ๆ” กวี ยิ้มกับเธอ   “สายธารเป็นอย่างไรบ้าง   สบายดีหรือ?”

“สบายดีค่ะ” ชลาตอบสั้นๆ   คุณวินิจพูดต่อว่า

“แม่สายธารเขาถูกคอกันกับกรวิภา แม่น้องสาวของแก เหมือนกับนกแก้วนกขุนทองเทียวละ   วันไหนอยู่ละก็บ้านช่องเป็นไม่มีเวลาเงียบได้”

“ตอนนี้กรวิภาทำอะไรครับ ?”

“ก็ไม่เห็นมันทำอะไรนี่   โดยมากก็ไปขลุกอยู่กับยายกิติมา   หรือไม่ก็ตระเวนไปตามบ้านเพื่อนฝูง”

“ทำไมคุณพ่อไม่ลองให้แกทำงานที่ธนาคารดูเล่าครับ?”

คุณวินิจหัวเราะหึๆ อยู่ในลำคอ   “มันทำก็ดีน่ะซี” ท่านว่า   “มันบอกว่ายังไงรู้ไหม   น้องสาวแกมันบอกว่าเป็นลูกสาวนายธนาคารดีกว่าไปเป็นลูกจ้างธนาคาร   เป็นยังไง”

กวีหัวเราะตาม   เขามองดูชลา แล้วถามว่า   “ชลาล่ะ   ทำงานที่ไหนหรือเปล่าจ๊ะ?”

“หนูชลาทำงานที่บริษัทส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยทัศนา” คุณวินิจตอบแทนหลานสาว และลงท้ายด้วยคำถามว่า   “แกไม่รู้ดอกหรือ?”

กวีเลิกคิ้วเล็กน้อยมองชลา   หญิงสาวจึงรีบบอกว่า “ชลาพึ่งเข้าไปทำงานได้สักสองอาทิตย์มานี่เองค่ะ   ยังไม่ได้เขียนไปเล่าให้พี่กวีฟัง”

“อ้อ” ชายหนุ่มรับรู้ค่อยๆ อยู่ในลำคอ   “ความจริงเมื่อกี้คุณอาก็บอกพี่แล้วว่าชลาไปทำงาน   แต่พี่ลืมไปเพราะไม่ได้รู้จากตัวเธอเอง...   แล้วเป็นอย่างไรบ้างงานที่ทำน่ะ   สนุกดีไหมจ๊ะ?”

ชลานิ่งไปครู่หนึ่ง   เธอกำลังนึกถึงการเอาอกเอาใจประคบประหงมราวกับเธอเป็นของเปราะบางแตกหักง่ายที่ผู้จัดการปฏิบัติต่อเธอ   นึกถึงสันทัดผู้ที่มองดูเธอด้วยสายตาอันเหยียดหยามไม่เป็นมิตรในตอนแรก   และนึกถึงแม่สาวคนสวยที่หน้าตาประหลาด และมีคำพูดอันลับลมคมในกับสันทัดที่มาปรากฏกายที่สำนักงานในวันนี้   แต่คำตอบที่เธอให้กับกวีคือ

“สนุกดีค่ะ”

กวีพยักหน้าน้อยๆ นิ่งไปไม่พูดว่ากระไร   แต่ชลารู้สึกว่าสายตาของบุรุษทั้งสองกำลังมองดูเธออยู่   หญิงสาว ก้มลงมองจานอาหารตรงหน้าอึดใจหนึ่งแล้วจึงเงยหน้าขึ้นพูดด้วยเสียงกลั้วหัวเราะว่า

“ออกไปทำงานนอกบ้าน ได้เห็นอะไรแปลกๆ สนุกดีค่ะ”

สองพ่อลูกยิ้มให้เธอ และคุณวินิจก็เปลี่ยนการสนทนาไปยังเรื่องอื่นต่อไป


คุณวินิจขอตัวขึ้นข้างบน หลังจากการบริโภคเสร็จสิ้นลงแล้ว   ท่านบอกกับหลานสาวว่า

“อยู่คุยกับพี่เขาก่อนซี ชลา   อย่าเพิ่งรีบกลับ   เคยคุยกันถูกคออยู่นี่   ไอ้ลุงน่ะมันคนแก่คนเฒ่า   นั่งอยู่นานๆ ชักจะปวดเมื่อยขึ้นมาทีเดียว   ต้องขอตัวขึ้นไปพักผ่อนเสียที”

กวีเดินตามไปส่งบิดาที่เชิงบันได แล้วจึงกลับมาหาญาติสาวที่ยืนคอยอยู่หน้าห้องอาหาร   บอกแก่เธอว่า

“เราออกไปคุยที่ระเบียงหน้าบ้านกันดีไหมจ๊ะ ชลา?”

ชลารับคำชวนนั้นอย่างว่าง่าย   ทั้งสองเดินผ่านเข้าห้องรับแขก ซึ่งมีหน้าต่างกระจกยาวแบบฝรั่งเศสเปิดออกไปสู่ระเบียงหินกว้าง   มีกำแพงเตี้ยๆ ก่อขึ้นมาสำหรับปลูกไม้ดอกล้อมอยู่โดยรอบ   ที่ระเบียงมิได้เปิดไฟ หากแต่มีแสงไฟจากตัวตึกข้างบนสาดลงมาพอสว่างสลัวๆ   ผสมกลมกลืนกับแสงจันทร์ในข้างขึ้น   ชลาทรุดกายลงนั่งบนเก้าอี้เหล็กที่ฉลุโปร่งด้วยลวดลายอันอ่อนช้อยประณีต   ตามองดูชิงช้าซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างออกไปเท่าใดนัก พลางคิดว่าถ้าหากเป็นสายธาร   สายธารคงจะต้องเลือกนั่งที่ชิงช้านั่นเป็นแน่   แต่นี่เผอิญเป็นชลา   ชลาไม่มีความมั่นใจในตัวเอง   ชลาที่มากด้วยลังเลไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรทั้งสิ้น

กวีจับเก้าอี้ตัวถัดไปให้หันมาทางหญิงสาว แล้วนั่งลง   เขาหยิบบุหรี่ออกมา   ชลาส่ายหน้าเมื่อเขายื่นกล่องบุหรี่มาให้เธอ

“ชลาไม่สูบหรอกค่ะ สูบไม่เป็น”

“จริงซีนะ พี่ลืมไป” กวีหัวเราะหดมือกลับไป   “หญิงไทยเราน้อยคนนักที่จะสูบบุหรี่   ไม่เหมือนผู้หญิงฝรั่ง   ถ้าอย่างนั้นพี่ขออนุญาตสูบบุหรี่ได้ไหม?”

“ตามสบายเถอะค่ะ” ชลาบอก   กวีกล่าวขอบใจเธอ แล้วจึงหยิบบุหรี่ออกมาคาบไว้   เขาวางซองบุหรี่ไว้บนโต๊ะข้างกาย   ชลามองดูเขาจุดบุหรี่พ่นควันออกเป็นทางยาว นิ่งอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะถามว่า

“พี่กวีรู้จักผู้หญิงฝรั่งมากหรือคะ?”

“มาก” ชายหนุ่มผงกศีรษะแล้วพูดต่อไปว่า   “แต่ผู้หญิงไทยเราเดี๋ยวนี้ก็เก่งพอๆ กับผู้หญิงฝรั่งเทียวนะ   แต่งตัวกันสวยๆ ท่าทางสมาร์ทไม่ต่างกับผู้หญิงฝรั่งเลยทีเดียว”

“พี่กวีพูดราวกับว่าจากเมืองไทยไปตั้งสิบๆ ปีอย่างนั้นแหละ” ชลาว่า   ความจริงผู้หญิงไทยเราเลิกเก็บตัวมาตั้งนานแล้วนี่คะ   จะมีที่เก็บตัวคร่ำเครอะอยู่กับบ้านก็น้อยคนเต็มที   อย่างชลาเป็นต้น”

“ใครว่าชลาคร่ำเครอะ”   เขาชะโงกหน้าเข้ามาใกล้เธอ   แม้ว่าที่นั่นจะมีแสงสว่างไม่มากนัก แต่ชลาก็ยังเห็นได้ชัดว่า ดวงตาของเขาที่กำลังมองดูเธออยู่นั้นเป็นประกายสุกใสน่าดู

“ใครๆ เขาก็ว่ากันทั้งนั้น   เขาว่าชลาทำตัวล้าสมัยหมกอยู่แต่ในบ้าน ไม่โผล่ออกไปดูโลกภายนอกกับเขาบ้าง   แต่ก็จริงอย่างเขาว่าแหละค่ะ   พี่กวีรู้ไหมคะ ว่าก่อนที่ชลาจะออกไปทำงานนั้น  เดินถนนคนเดียวชลายังเดินไม่ได้   คอยจะรู้สึกแต่ว่าตัวเองเปิ่น   ใครต่อใครมองดู   เวลาเดินขาก็จะขวิดเสียให้ได้”

กวีหัวเราะเบาๆ   เสียงหัวเราะของเขาช่างทุ้มและฟังดูนุ่มนวลนัก   “เด็กเอ๋ยเด็ก”   เขาว่าแล้วนิ่งไปครู่หนึ่ง ก่อนที่จะถามต่อไปด้วยเสียงเรียบๆ ว่า   “เพราะเหตุนี้เองหรือที่ทำให้เธอดิ้นรนอยากจะออกไปทำงานนอกบ้าน”

“ชลาไม่ได้ดิ้นรนนี่คะ”   หญิงสาวค้านคำพูดของเขาด้วยเสียงที่แสดงความประหลาดใจ  “ชลาเพียงแต่ปรารภว่า ชลาเบื่อที่จะอยู่บ้านเฉยๆ โดยไม่ได้ทำประโยชน์อะไร   กรวิภาจึงได้ขอให้คุณกิติมาช่วยฝากงานให้ชลา”

“อ้อ... งานที่กำลังทำอยู่นี่น่ะคุณกิติมาเป็นคนฝากให้หรือจ๊ะ?”   กวีถามด้วยเสียงที่บอกว่าเขามีความสนใจเป็นอย่างยิ่ง

“ก็ไม่เชิงหรอกค่ะ   คุณสำราญต่างหากคะที่เป็นคนฝากให้ชลาเข้าทำงาน”

“คุณสำราญ”   กวีทวนคำแล้วนิ่ง ไป   ดูเหมือนเรากำลังใช้ความคิด   ชลาจึงเล่าต่อไปว่า

“คืออย่างนี้ค่ะ   เรื่องมันน่าขันเหลือเกิน   คือว่าพอคุณสำราญทราบว่าชลาอยากทำงาน ก็เขียนข้อความใส่นามบัตรให้ชลาถือไปที่บริษัทไทยทัศนานี่   แต่ชลาเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ง่ายมากเกินไป   อยู่ๆ เพียงแต่ถือนามบัตรไปให้   ใครเขาจะรับเข้าทำงานง่ายๆ คะ   ชลาเลยเฉยเสีย   ที่ไหนได้เล่าคะ   อีกอาทิตย์เดียวเท่านั้นแหละ   ผู้จัดการไทยทัศนา   มาหาชลาถึงบ้านนี้เลยทีเดียว   มาเรียกตัวไปทำงาน   น่าขันดีไหมเล่าคะ?”

แต่กวีมิได้หัวเราะขันไปกับเธอด้วย   เขานิ่งเงียบไปซึ่งทำให้ชลารู้สึกไม่สบายใจนัก   เพราะเธอรู้อยู่แก่ใจดีว่าเธอกำลังพูดความไม่จริงใจให้เขาฟัง   ใช่สำราญเมื่อไหร่กันเล่าที่เป็นผู้เขียนนามบัตรให้เธอถือไปที่บริษัทไทยทัศนา   หากเป็น ‘ท่าน’   บุรุษที่มีลักษณะท่าทางเป็นคนสำคัญ และมีอิทธิพลอยู่ไม่น้อยผู้นั้นต่างหาก   เธอเองก็ไม่เข้าใจว่าอะไรทำให้เธอปกปิดความจริงเสียจากกวีเช่นนั้น

“พี่กวีไม่ค่อยเปลี่ยนไปเท่าใดเลย”

ชลาเปลี่ยนเรื่องพูด   เธอไม่ชอบให้เขานิ่งเงียบอยู่เช่นนั้น   ประกอบทั้งความรู้สึกผิด ทำให้เธอบังเกิดความไม่สบายใจขึ้นมาเป็นอย่างยิ่ง

“งั้นรึ?” กวีถาม   เสียงของเขากลับนุ่มนวลลงเช่นเดิม ซึ่งทำให้หญิงสาวค่อยหายใจสะดวกขึ้น   “แต่คุณพ่อก็ว่าพี่เปลี่ยนไปมากทีเดียว   เดี๋ยวนี้พี่ทั้งสูงทั้งใหญ่กว่าท่านแล้ว”

“นั่นมันเป็นธรรมดานี่คะ   เดี๋ยวนี้พี่กวีเป็นผู้ใหญ่แล้วไม่ใช่เด็กอย่างเมื่อก่อนนี้ ร่างกายก็ต้องเติบโตขึ้นแข็งแรงขึ้นเป็นธรรมดา   แต่ที่ชลาพูดถึงนั้น   ชลาหมายความถึงการเปลี่ยนแปลงทางนิสัยใจคอต่างหากเล่าคะ”

“งั้นหรือ”   เขาพูดอย่างอารมณ์ดี   “แล้วดีหรือไม่ดีเล่าที่พี่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางนิสัยใจคออย่างที่เธอว่ามานี้?”

“ดีค่ะ” ชลาบอก   “เพราะพี่กวีเป็นคนดีอยู่แล้วทำให้ชลาไม่รู้สึกลำบากใจที่จะ... ที่จะ...”

“ที่จะเรียกพี่ว่าพี่กวีต่อไป”   เขาต่อให้พร้อมกับหัวเราะ บอกว่า “ขอบใจที่ชมพี่ว่าเป็นคนดี   พี่จำได้ว่าตั้งแต่เป็นพี่น้องกันมา   เพิ่งจะครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ชลาชมพี่ต่อหน้า ว่า พี่เป็นคนดี”

เขานิ่งไปครู่หนึ่ง แล้วจึงพูดต่อไปว่า   “พี่รู้สึกว่าชลาเปลี่ยนไป”

ชลามองดูเขาอย่างแปลกใจ แต่มิกล้าออกปากซักว่าเขาเห็นเธอเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง   เธอก้มมองลงดูผ้าซิ่นไหมสีส้มอ่อน และเสื้อลูกไม้เนื้อละเอียดสีเดียวกันที่สวมอยู่นั้น   ดูราวกับว่ากวีจะอ่านความคิดของเธอออก เพราะเขากล่าวต่อไปว่า

“ไม่ใช่เปลี่ยนไปในการแต่งกาย   รู้ไหมว่าขณะที่พี่ยังไม่ได้กลับมาถึงเมืองไทยนั้น พี่วาดภาพเธอไว้อย่างไร”   เขาหัวเราะเบาๆ คล้ายกับนึกขันความคิดของตน   พี่เห็นรูปยายกรวิภาที่เขาส่งไปให้   พี่เลยนึกว่าเธอคงจะแต่งตัวแบบนั้นบ้าง   กางเกงขายาวลีบๆ หรือไม่ก็สั้นกุด   กระโปรงบานๆ พองๆ ที่ใช้ผ้าเกือบสิบเมตร   พี่ยังเคยนึกเสมอว่านี่ผู้หญิงไทยเราพากันวิวัฒนาการเครื่องแต่งกายแบบอย่างผู้หญิงตะวันตกกันไปเสียหมดแล้วหรืออย่างไร   แต่เมื่อมาเห็นเธอในคืนนี้”

เขามองดูเธอทั่วร่างด้วยดวงตาที่แจ่มใสและอ่อนโยน

“พี่ดีใจที่เห็นว่ายังมีหญิงไทยบางคนที่เห็นคุณค่าและความสวยงามอย่างไทยเรา   และพี่รู้สึกว่าผู้หญิงไทยนั้น เป็นผู้หญิงที่มีความสวย สุภาพ อ่อนหวาน   ละมุนละไมที่สุดในโลก”

คำพูดของกวีทำให้ก่อความฉ่ำชื่นแก่ดวงใจของชลาอย่างเหลือประมาณ   แม้หลังจากที่แยกจากกันแล้วในคืนนั้น ชลาก็ยังนอนคิดถึงคำพูดของเขาอยู่ถึงดึกดื่นครึ่งค่อนคืน   กวีช่างพูดได้ไพเราะเพราะพริ้งกว่าเมื่อก่อนนี้มากนัก   แต่ถึงแม้ว่าเขาจะพูดเก่งขึ้น ชลาก็ยังรู้สึกอบอุ่นใจที่เห็นว่าเขายังคงเป็นกวีคนเก่า   ที่เห็นเธอเป็นคนดีพร้อมเหนือผู้หญิงคนใดในสายตาของเขาอยู่อย่างเดิมนั่นเอง

ได้ยินเสียงสายธารกลับมาถึงบ้านใกล้จะห้าทุ่ม   ชลาคิดว่าเธอจะออกไปแจ้งข่าวการกลับมาถึงเมืองไทยของกวีให้พี่สาวรู้ดีหรือไม่   แต่แล้วก็ตัดสินใจว่าจะบอกให้สายธารรู้เรื่องในตอนเช้า

แต่เธอยังมิทันบอกเรื่องนี้แก่สายธาร   กรวิภาก็เป็นผู้แจ้งข่าวแก่ญาติและเพื่อนหูคู่ของหล่อนเสียก่อน   ชลากำลังอยู่ในห้องอาหารพร้อมด้วยบิดาและมารดา   เมื่อเห็นชายเสื้อคลุมยาวสีสดของกรวิภาปลิวแวบขึ้นบันไดไปชั้นบน พร้อมกับร้องเรียกชื่อสายธารอย่างตื่นเต้นยินดี

“นั่นดูเหมือนแม่กรวิภาไม่ใช่หรือ” บิดาของชลาว่า   “ถ้าจะมาบอกข่าวพี่ชายกลับกระมัง   เห็นจะยังไม่ทันแต่งตัว.. ใส่เสื้อรุ่มร่วมเป็นแหม่มอยู่นี่”

คุณเวชเรียกเสื้อคลุมยาวอย่างที่กรวิภาชอบสวมเวลาอยู่กับบ้าน   และสายธารก็เลียนแบบมาตัดใช้บ้างนั้น ว่า ‘เสื้อแหม่ม’   ท่านเรียกกระโปรงบานๆ พองๆ ว่า ‘กระโปรงแหม่ม’   และเรียกสายสร้อยที่ทำด้วยลูกแก้วสีสดสวยสำหรับประดับคอว่า ‘ประคำแหม่ม’

“คุณพี่คงดีใจไม่น้อยที่ลูกชายกลับบ้าน” ท่านพูดคล้ายปรารถกับตัวเองต่อไป   “หมู่นี้บ่นถึงไม่หยุดปากอยู่นี่”

มารดาของชลามิได้ตอบรับเออออสนองถ้อยคำของสามีแต่อย่างใด   หากหันกลับมาถามบุตรสาวว่า

“เป็นอย่างไรจ๊ะ   เมื่อคืนนี้คุยกับพ่อกวีว่าอย่างไรบ้าง?”

“ไม่ได้คุยอะไรมากหรอกค่ะ   เป็นแต่พี่กวีถามชลาถึงเรื่องที่ชลาไปทำงาน   ชลาก็เล่าให้เธอฟังเท่านั้นเอง   เธอบอกว่าชลาไม่เปลี่ยนไปจากเดิม”

พูดประโยคสุดท้ายออกไปแล้ว ชลาจึงนึกสะดุดขึ้นมาในใจ   กวีพูดหรือว่าเธอมิได้เปลี่ยนไปจากเดิม   เปล่าเลย   เขาพูดว่าเขาดีใจที่เห็นผู้หญิงไทยบางคน ซึ่งแน่ละเขาคงต้องหมายถึงเธอ   ยังรู้ถึงคุณค่าในความงามแห่งเครื่องแต่งกายแบบไทยๆ เรานี่ต่างหาก   แต่ก่อนที่จะกล่าวประโยคนี้   กวีมิได้บอกดอกหรือว่าเขารู้สึกว่าเธอเปลี่ยนไป   เป็นแต่ว่าเธอมัวแต่ปลาบปลื้มอยู่กับคำประโยคหลังๆ ของเขาเสียเท่านั้น   เธอจึงได้ลืมถามเขาเสียสนิทว่า เขาเห็นเธอเปลี่ยนไปประการใด

ชรารู้สึกว่ามารดากำลังมองดูเธออย่างเอาใจใส่   แต่ยังไม่ทันที่ท่านจะกล่าวอย่างใด สายธารก็เดินเข้ามาในห้องนั้นในลักษณะที่เรียกว่า ‘ตัวปลิว’   ทั้งน้ำเสียงและสีหน้าตลอดจนดวงตาของหล่อนเต็มไปด้วยความตื่นเต้นเมื่อหล่อนรายงานว่า

“คุณกวีกลับมาแล้วค่ะ   กลับมาถึงเมื่อคืนนี้เอง”

ชลามองดูพี่สาว   สายธารแต่งตัวสำหรับจะออกไปทำงานแต่ยังไม่เรียบร้อยนัก   หล่อนสวมกระโปรงทรงกระสอบหลวมๆ ยังมิได้คาดเข็มขัด   ผมของหล่อนกำลังถูกหวีไว้ด้วยวิธี ‘แปรงกลับ’ เตรียมพร้อมที่จะถูกตกแต่งให้กลายเป็น ‘ทรงมะพร้าว’ ตามที่ท่านบิดาเรียก   มือขวาของหล่อนถือแปรง   มือซ้ายจับอยู่กับมือของกรวิภาซึ่งยังคงอยู่ในชุด ‘เสื้อแหม่ม’ สีเขียวสด มีลายเป็นจุดกลมๆ สีดำทั่วตัว

“คุณกวีมาเคาะประตูเรียกกรเมื่อตอนเช้านี่เอง” กรวิภาเล่า   “แต่แรกเปิดประตูออกไปยังแทบไม่เชื่อสายตา   พอแน่ใจว่ามาจริงก็ทนอยู่ไม่ได้ ต้องรีบโทรศัพท์บอกคุณกิติมาแล้วก็วิ่งมาที่นี่แหละค่ะ”

และต่อมา เมื่อหล่อนทั้งสองเห็นว่าบุคคลทั้งสามที่อยู่ในห้องนั้นมิได้แสดงความตื่นเต้นดีอกดีใจไปด้วย   ความตื่นเต้นของหล่อนก็เริ่มลดลง กลายเป็นความแปลกใจ   กรวิภามองดูญาติผู้ใหญ่ทั้งสอง แล้วจึงหันมาทางชลาซึ่งนั่งยิ้มเฉยอยู่ ถามว่า

“เอ๊ะ... ดูท่าทางเธอไม่ตื่นเต้นเลยนะ ชลา   ที่ว่าพี่กวีกลับมาแล้ว”

“ก็จะตื่นเต้นทำไมกันอีกล่ะหลาน” คุณเวชพูดอย่างอารมณ์ดี   “ยายชลาแกรู้ว่าพ่อกวีกลับมาตั้งแต่เมื่อคืนแล้วนี่นา”

“รู้แล้ว” สายธารทวนคำ   มองดูน้องสาวอย่างไม่เชื่อหูตัวเอง   “ถ้าอย่างนั้นเธอก็พบกับคุณกวีแล้วน่ะสิ?”

“ก็พบแล้วน่ะสิ” คุณเวชตอบลูกสาวใหญ่แทนลูกสาวเล็ก   “เมื่อคืนนี้ชลาก็ไปกินข้าวที่บ้านโน้นกับคุณลุงและพ่อกวี”

สายธารนิ่งอึ้งไปเมื่อบิดาพูดจบ   ดวงตาที่ตบแต่งไว้แล้วอย่างสวยงามของหล่อนเปลี่ยนไปในทันที   ครู่หนึ่งหล่อนจึงหลุดโพล่งออกมาด้วยเสียงที่ค่อนห้วนว่า

“รู้แล้วจะบอกเราบ้างก็ไม่มี   แกใจดำมากนะชลา”

แล้วหล่อนก็ปล่อยมือจากกรวิภาเดินออกไปจากห้องทันที   ก่อนที่จะมีผู้ใดกล่าวคัดค้านอะไรออกมา

จบบทที่ 14