ดวงใจนี้ใครครอง

>> สุภาว์ เทวกุลฯ

ดวงใจนี้ใครครอง

บทที่ 5

รถที่ไปรับนายสำราญ พงษ์ศรี   กลับมายังบ้าน ‘ โสภณา’ อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเวลาใกล้จะย่ำค่ำ   ขณะนั้นทางสามสาวได้โยกย้ายจากห้องส่วนตัวของกรวิภา โสภณา ลงมายังห้องนั่งเล่นแล้ว   โดยมีคุณวินิจ โสภณา   บุรุษชราประมุขของบ้านนั่งเป็นประธานอยู่ในห้องนั้นด้วย   คุณวินิจมีรูปร่างโปร่งบางคล้ายกับกวี บุตรชายคนเดียวของท่าน   หากแต่กวี จะล่ำสันกว่า   แต่สิ่งที่คนทั้งสอง ช่างมีอยู่เหมือนกันคือดวงตาที่ใสสว่าง บ่งบอกถึงความเฉลียวฉลาดและเต็มเปี่ยมด้วยความอ่อนโยนยิ่งนัก   หากแต่ของคุณวินิจนั้นสงบลึกซึ้งด้วยรอบรู้และจัดเจนในชีวิตมากกว่าของกวีบุตรชาย ซึ่งยังคงอ่อนโลกและมักจะเต็มไปด้วยแสงแห่งความรื่นเริงอยู่เป็นนิจ   เห็นจะเป็นเพราะเหตุนี้ดอกกระมังที่ทำให้ชลาบังเกิดความอบอุ่นและไว้วางใจ เมื่อได้อยู่ใกล้กับท่าน อันเป็นความรู้สึกที่แทบจะไม่แตกต่างกับที่เธอมีต่อบิดาบังเกิดเกล้านัก

แต่สำหรับบุตรีทั้งสองของท่านนั้น   ชลาสามารถที่จะอธิบายความรู้สึกที่เธอมีต่อเจ้าหล่อนได้โดยยาก   ชลาลงความเห็นว่า เห็นจะเป็นเพราะไม่อาจที่จะแยกแยะนิสัยใจคอของหล่อนออกได้อย่างชัดแจ้งนั่นเอง   ทั้งกิติมาและกรวิภานั้น บางครั้งก็แสดงความสนิทสนมอย่างฉันญาติกับเธอดีอยู่   แต่บางครั้งหล่อนก็ทำตัวสูงส่ง และมองดูเธอด้วยสายตาที่ใช้มองคนที่ต่ำต้อยกว่า   ในที่สุด ชลาก็ลงความเห็นว่า ทั้งกิติมาและกรวิภานั้น น่าจะมีนิสัยเอนเอียงไปทางมารดาของเจ้าหล่อน มากกว่าที่จะมาทางข้างบิดา   แม้ว่าหญิงผู้มีศักดิ์เป็นป้าสะใภ้ของชลาจะถึงแก่อนิจกรรมไปตั้งแต่เธอยังอายุน้อยอยู่   แต่ ชลา ก็ยังจำได้ดีถึงความรู้สึกที่เธอมีต่อสตรีรู้นั้น   ความรู้สึกนั้นคือความ ‘ เกรง’   ไม่ปรารถนาจะเข้าใกล้   แม้ว่าบางครั้งนางจะทักทายยิ้มแย้มแจ่มใสกับเธออย่างลูกหลานดีอยู่   แต่บางครั้งนางก็จะทำราวประหนึ่งว่า เธอและสายธารเป็นเพียงแต่ผงเล็กๆ ที่มองไม่เห็นเช่นนั้น

และพฤติการณ์อีกอย่างหนึ่งของป้าสะใภ้ ที่นอกจากจะทำให้ชลาบังเกิดความ ‘ เกรง’ แล้ว ยังทำให้เธอบังเกิดความ ‘ คร้าม’ ขึ้นมาอีกด้วย   นั่นก็คือเมื่อกวีมาเล่าให้เธอฟังว่า   มารดาของเขาสั่งให้ช่างไม้ไปรื้อหลังคาบ้านเช่าหลังหนึ่งออกเสีย ด้วยสาเหตุที่ผู้เช่าไม่นำเงินค่าเช่ามาชำระเป็นเวลาถึงสามเดือน   ดูท่าทางกวีเดือดร้อนใจมาก

“โธ่ คิดดูซิ”   กวีคร่ำครวญราวกับว่าเขาคือผู้เช่าเคราะห์ร้ายคนนั้น   “ค่าเช่าเพียงเดือนละไม่กี่ร้อยบาท   ถ้าเขามีทำไมเขาจะไม่เอามาให้   นี่ก็เพราะเขาไม่มีน่ะซี   คุณแม่ช่างไม่เห็นใจคนเสียบ้างเลย   ถ้ารื้อหลังคาออกเสียแล้วเขาจะอยู่กันเข้าไปยังไง   หน้านี้ก็เป็นหน้าฝนเสียด้วย”

ชลา แม้ว่าในขณะนั้นอายุยังน้อยอยู่เพียง ๘-๙ ขวบ แต่ก็สามารถจะหยั่งรู้ในน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความทุกข์ร้อนของเด็กชายผู้เป็นทั้งญาติและเพื่อนเล่นได้   ก็พลอยเดือนร้อนวิตกกังวลไปด้วย   สมองน้อยๆ พยายามที่จะคิดหาช่องทางช่วยเหลือคนเช่าบ้านโชคร้ายคนนั้น   หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องก็คือ   ช่วยญาติของเธอให้พ้นจากความไม่สบายใจที่เขากำลังได้รับนั้นเอง

“เราช่วยกันหาเงินไปให้เขาไม่ได้หรือ พี่กวี”   เธอออกความคิด   “เขาจะได้เอาเงินนั้นมาให้ค่าเช่าบ้าน   แล้วคุณป้าก็จะได้ไม่รื้อหลังคา”

“ไม่ทันหรอก”   กวีสายหน้าอย่างหมดหวัง   “พี่ได้ยินคุณแม่สั่งช่างไม้เมื่อวานนี้   กำชับด้วยว่าให้รื้อโดยเร็วที่สุด   ป่านนี้เขาคงจะกำลังรื้อกันอยู่แล้ว”

“แต่ถ้าเขาเอาค่าเช่ามาให้แล้ว คุณป้าอาจจะสั่งให้ไปมุงหลังคาให้ใหม่อย่างเก่าอีกก็ได้นะ”

กวีสายหน้าอีก   นิ่งไปครู่หนึ่งแล้วจึงถามขึ้นว่า   “แต่ว่าเราจะเอาเงินที่ไหนไปให้เขาล่ะ ชลา   พี่ได้ค่าขนมวันละไม่กี่บาท แล้วก็ไม่เคยเหลือกลับบ้านเลยสักบาทเดียว”

เมื่อเจอเข้ากับปัญหาข้อนี้ เด็กหญิงชลา โสภณา ก็ถึงกับนิ่งอึ้งไป   แต่แล้วก็บังเกิดความปลอดโปร่งขึ้นมาตามประสาเด็กที่มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของง่ายดายไปหมดสิ้น   เธอร้องออกมาว่า

“เอายังงี้ซี   พี่กวีไปขอคุณพ่อของพี่กวีมาครึ่งหนึ่ง  แล้วชลาก็ขอคุณพ่อของชลาอีกครึ่งหนึ่ง   เอามารวมกันแล้วเอาไปให้เขา”

แต่กวี ผู้ซึ่งมีอายุแก่กว่าญาติของเขาเกือบห้าปีได้มีความเห็นพอที่จะหยั่งรู้ ได้บ้างแล้ว   ว่าสิ่งใดอาจเป็นไปได้และสิ่งใดอาจเป็นไปไม่ได้   ได้ค้านขึ้นว่า

“คุณพ่อของเราคงจะไม่ยอมให้เงินแก่เรามากๆ เพื่อเอาไปแจกจ่ายแก่คนอื่นอย่างนี้หรอก   เพราะเรื่องอย่างนี้มันจะไม่เกิดเพียงครั้งนี้ครั้งเดียวเท่านั้น   คุณแม่ยังมีบ้านให้เช่าอีกหลายหลัง   แล้วอีกอย่างหนึ่ง คุณแม่คงจะโกรธมาก ถ้ารู้ว่าคุณพ่อเอาเงินมาช่วยคนนั้น   คุณพ่อของพี่ไม่กล้าทำให้คุณแม่โกรธหรอก พี่รู้ดี”

คำพูดของกวี ทำให้แสงสว่างที่เกิดขึ้นในสมองเล็กๆ นั้นดับวูบลง   ชลารู้สึกว่ามันช่างมืดมิดไปเสียหมด   เธอนั่งนิ่งเงียบอย่างอัดอั้นตันใจ   หมดปัญญาที่จะคิดหาทางมาบรรเทาความทุกข์ร้อนให้ญาติที่รักใคร่สนิทสนมคนนี้ได้   เด็กหญิงนั่งกอดเข่า มองดูอีกฝ่ายหนึ่งที่ซึมเซาเศร้าหมอง ด้วยหัวใจที่เป็นทุกข์ร้อนยิ่งนัก   เธอแทบจะสะดุ้งทั้งตัวเมื่อกวีใช้กำปั้นทุบลงที่ดินแรงๆ แล้วร้องออกมาว่า

“พี่อายเหลือเกินที่มีแม่ใจร้ายอย่างนี้   พี่อาย อาย อาย”

เสียงของเขาไม่เบานัก ทำให้ชลาตกใจ   โผเข้าไปใช้มือปิดปากของเขาพร้อมกับละล่ำละลักห้ามว่า

“อย่าเอะอะไปซีพี่กวี   ประเดี๋ยวคุณป้าได้ยินเข้าพี่กวีจะถูกเฆี่ยนนะ”

คำเตือนของญาติผู้น้องได้ผลดี   กวีเลิกส่งเสียงดังอย่างคับแค้นใจนั้น แต่หน้าตาของเขายังคงเคร่งขรึมหมองคล้ำอยู่   เขานิ่งเงียบไปนาน แล้วก็ฉวยมือชลาไปกุมไว้   พูดเสียงขึงหน้าขึงตาเอากับเธอว่า

“ชลา   โตขึ้นแล้วเธออย่าเป็นอย่างคุณแม่ของพี่นะ   พี่จะทนไม่ไหวทีเดียวถ้าเธอเป็นอย่างนี้”

คำพูดนั้นเป็นคำพูดของเด็กชายในวัยสิบสอง   ยังตื้นอยู่ด้วยความหมายอันลึกซึ้งจริงจัง   และผู้ฟังเล่าก็ยิ่งเยาว์กว่าไปอีก   ปราศจากวิจารณญาณอันจะสามารถทำความเข้าใจถึงความหมายแห่งคำพูดนั้นได้   แต่จากกิริยาท่าทางอันเต็มไปด้วยความทุกข์ระทมคับแค้นใจของพี่ชาย   ประกอบกับสัญชาตญาณแห่งความเป็นหญิงอันมีจิตใจอ่อนโยนเตรียมพร้อมที่จะปลอบประโลมและดับทุกข์ให้ผู้อื่นอยู่เสมอ   เด็กหญิงชลาพยักหน้า   ให้สัญญาด้วยเสียงอันหนักแน่นว่า

“จ๊ะ พี่กวี   ชลาให้สัญญาว่าจะไม่เป็นอย่างคุณป้า   ชลาจะไม่ทำอะไรที่พี่กวีไม่ชอบเลยเป็นอันขาด”

ความคิดของหญิงสาวสะดุดหยุดสิ้นลง เมื่อปรากฏเสียงรองเท้ากระทบพื้นเป็นระยะถี่ๆ ใกล้เข้ามา   แล้วร่างอันค่อนข้างสมบูรณ์ของพี่เขยผู้ยิ่งใหญ่ของกรวิภาก็โผล่เข้ามาในห้อง   เขาทำความเคารพบิดาของภรรยา พร้อมกับหัวเราะร่าบอกว่า

“ตั้งใจจะมาเยี่ยมคุณพ่อหลายวันแล้วครับ   แต่ว่าหมู่นี้งานมันยุ่งสิ้นดี   ประชุมโน่นประชุมนี้อยู่เรื่อยๆ ทุกวี่ทุกวัน   นี่วันนี้ก็มีประชุมกันอีกครับ   พอออกจากห้องประชุมก็ตรงมานี่ทีเดียว”

ขณะที่พูดนั้น เขาเดินไปหย่อนกายลงนั่งบนเก้าอี้ตรงข้ามคุณวินิจ   ยกมือข้างหนึ่งขึ้นรับไหว้กรวิภาและสายธารผู้ซึ่งชลาแอบสังเกตเห็นว่าได้ยกมือทำความเคารพชายที่เพิ่งมาถึงนี้อย่างนอบน้อมและยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นพิเศษ   และดวงตาที่เล็กยาวว่องไวนั้นก็แลเลยมายังเธอซึ่งนั่งห่างมาอยู่เกือบจะสุดมุมห้อง   ชลาจึงทำความเคารพเขา โดยระวังมิให้มากเกินไปหรือน้อยเกินไป   เขาพยักหน้ารับ ร้องออกมาว่า

“คนนี้ไม่ค่อยจะได้เคยพบเลย”

“หนูชลา เกลอของเจ้ากวีเขายังไงล่ะ”   คุณวินิจบอก   “ขอบใจนะคุณสำราญที่อุตส่าห์มาเยี่ยมทั้งๆ ที่มีธุระยุ่ง   ไอ้ฉันนี่ ที่พอจะมีความสนุกสบายใจอยู่พอสมควรทุกวันนี้ก็เพราะว่าคนโน้นคนนี้ผลัดเปลี่ยนแวะกันมาเยี่ยมเยียนนี่แหละ   ได้ต่อชีวิตมาได้ด้วยน้ำใจคนแท้ๆ”

“ผมอยากมาบ่อยๆ หรอกครับ แต่มันติดที่มีงานมากจริงๆ ”   ลูกเขยของท่านออกตัวต่อไป   “เออ นี่ได้ข่าวว่ากวีจะกลับมาเร็วๆ นี้แล้วไม่ใช่หรือครับ?”

“ถ้ามันไม่เถลไถล เสียก็คง จะมาถึงบ้านในราวอีกสองเดือนข้างหน้านี้”   ท่านผู้เฒ่าตอบอย่างอารมณ์ดี

“พี่กวีคงจะไม่เถลไถลหรอกค่ะคุณพ่อ”   กรวิภาว่า   “เขามีแม่เหล็กคอยดึงดูดอยู่ที่กรุงเทพฯ นี่   พอได้รับปริญญาเรียบร้อยแล้วก็คงจะรีบบึ่งกลับมาทันที”

แล้วหล่อนก็อมยิ้ม ปรายสายตามาที่ชลาเป็นเชิงล้อเลียน   พี่เขยของหล่อนเเลตามสายตานั้นมาดู   ชลารู้สึกว่าเขามองดูหล่อนนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่จะหันไปพูดกับท่านเจ้าของบ้านต่อไปว่า

“กวีกลับมาก็ดีแล้ว   ผมจะเป็นคนประเดิมความรู้ของเขาก่อนเพื่อนเลยทีเดียว   จะให้เขาออกแบบบ้านให้สักหลังหนึ่ง”

“จะปลูกบ้านไปทำไมกันอีกล่ะ?”   คุณวินิจซัก   “จะให้ฝรั่งเช่าหรือ?”

“เปล่าครับ   จะอยู่เอง”

“อ้าว ไอ้หลังที่อยู่เดี๋ยวนี้น่ะมันเป็นยังไง?”   ท่านผู้เฒ่าร้อง   “ออกกว้างขวางใหญ่โตยังงั้น ยังไม่พออยู่กันอีกหรือคุณ?”

“ก็มันปลูกมานานตั้งหลายปีแล้วนี่ครับ”   สำราญตอบด้วยเสียงและสีหน้าประดุจว่าการจะปลูกบ้านใหม่สักหลังหนึ่งนั้น ไม่แตกต่างกับการซื้อเสื้อใหม่อีกสักตัว   “ดูมันโบราณคร่ำครึ ไม่ทันสมัยเสียแล้ว   ผมจะขอให้กวีออกแบบให้อย่างสมัยใหม่ที่สุดทีเดียว   ให้มีเครื่องอำนวยความสะดวกสบายให้พร้อม”

“เอาถึงขนาดที่ว่าพอกดปุ่มปับ   อาหารสำเร็จรูปไหลเข้าปากเองหรือยังไง?”

คุณวินิจถามพลางหัวเราะ   ซึ่งพลอยทำให้ทุกคนพลอยหัวเราะไปด้วย แม้แต่ลูกเขยของท่านเอง   สำราญตอบว่า

“ไม่ต้องถึงขนาดนั้นหรอกครับ   เอาแค่ขนาดที่พวกดาราภาพยนตร์หรือพวกเศรษฐีอเมริกามันอยู่ก็พอแล้ว   ผมอยากจะให้เป็นของขวัญเขา”   ตอนนี้เขาหันไปพยักหน้าทางภรรยา ซึ่งนั่งยิ้มอย่างภาคภูมิอิ่มเอมใจอยู่บนเก้าอี้นวมตัวยาวคู่กับน้องสาว   “เป็นของขวัญในวันครบรอบแต่งงานปีที่สิบของเรา”

“อือ ให้ของขวัญกันด้วยตึกทั้งหลังเทียวนะ”   คุณวินิจครางในคอ   “แล้วหลังเก่าล่ะ   จะรื้อขายเป็นเศษปูนเศษอิฐไปหรือยังไง?”

“หลังเก่าลูกคิดว่าจะให้ฝรั่งเช่าค่ะ คุณพ่อ”   กิติมาตอบแทนสามีของหล่อน   “อย่างน้อยๆ ก็คงจะได้สักเดือนละสี่ห้าพันพอเป็นค่าขนมค่าเสื้อผ้าของลูกๆ ”

“ที่ทางซื้อเอาไว้แล้วหรือ?”   ชายชราซักต่อไปต่อไปและลูกเขยของท่านก็บอกว่า

“ซื้อแล้วครับ แต่ค่อนข้างจะไกลอยู่สักหน่อย   อยู่เลยพระโขนงออกไปเกือบจะถึงปากน้ำ   แต่ดีที่อยู่ริมถนนใหญ่เลยทีเดียว”

“ทำไมถึงไปซื้อเอาไว้ไกลถึงเพียงนั้น ไม่หาที่ใกล้ๆ กันนี่อยู่   ถึงจะมีบริเวณแคบไปสักหน่อยก็ยังดี   เจ็บไข้ได้ป่วยจะได้ไปเยี่ยมเยียน ไปมาหาสู่ถามข่าวคราวกันได้ง่ายๆ หน่อย”

ท่านทัก ตามประสา คนสูงอายุ ที่เต็มไปด้วยความห่วงใยในทุกข์สุขของลูกหลาน   และบุตรีของท่านก็บอกว่า

“โธ่ ลูกอยากไปอยู่ไกลๆ อย่างนั้นเมื่อไหร่เล่าคะ   แต่ที่ใกล้ๆ แถวในเมืองนี่น่ะ หายากออกจะตายไป   ถึงจะมีก็โก่งราคาแพงเสียลิบลิ่ว   ตารางวาหนึ่งตอกเข้าไปเป็นพันๆ   เออ” หล่อนหันมาทางสายธาร แล้วถามว่า   “นี่คุณอาไม่คิดจะขายบ้านนี้บ้างหรือ สายธาร?”

ชลารู้สึกฉิววูบขึ้นมาทันที   เธอนิ่งคอยฟังคำตอบของพี่สาว   แต่ก่อนพี่สายธารจะทันตอบ คุณวินิจก็ขัดขึ้นเสียก่อนว่า

“เฮ่ย ถามอะไรอย่างนั้น   ถ้าอาเขารู้เข้าละก็โกรธตายเทียวละ   ที่ตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตายายมอบให้มา เขารักของเขาจะตายไป   ถ้าอยากอยู่ในเมืองจริงๆ ละก็ไปหาซื้อเอาใหม่ซี   แพงหน่อยก็สู้เขา   เงินเรามีจะกลัวอะไร”

ชลามีความรู้สึกว่าอยากจะคลานเข้าไปกราบคุณลุงและจูบท่านเดี๋ยวนั้น   เธอได้ยินเสียงกิติมาพูดเสียงอ่อนลงว่า

“แต่ลูกอยากจะอยู่ใกล้ๆ คุณพ่อนี่คะ   รู้สึกอุ่นใจดี”

“พูดยังกับว่ายังเป็นลูกแหง่อยู่นั่นแหละ”   คุณวินิจหัวเราะ แล้วจึงพูดทีเล่นทีจริงว่า   “อย่ามาอยู่ใกล้ๆ พ่อเลย พ่อขี้เกียจหนวกหู   แกมันชอบมีงานไม่หยุดไม่หย่อน   ประเดี๋ยวเลี้ยงให้คนนั้น ประเดี๋ยวฉลองให้คนนี้   นี่ก็ได้ข่าวว่าจะมีงานกันอีกแล้วไม่ใช่หรือ   เมื่อวานนี้ยายกรมาคะยิกๆ ขอเงินอยู่ ว่าจะต้องตัดเสื้อใหม่ใส่ไปงานที่บ้านพี่กิติมา”

“งานเลี้ยงกันนิดๆ หน่อยๆ อย่างกันเองน่ะครับคุณพ่อ”   สำราญว่า   “ไม่มีอะไรมากนัก”

“ที่ว่าไม่มีอะไรมากนั่นน่ะมีอะไรบ้าง?”   คุณวินิจซักอย่างสนุก   “วงดนตรีสองวงประชันกัน   อาหารจีนสักห้าสิบโต๊ะหรือยังไง?”

“ไม่ถึงห้าสิบหรอกครับ”   ลูกเขยของท่านตอบพร้อมกับหัวเราะ   “ เพียงสามสิบโต๊ะเท่านั้น   แล้ววงดนตรีก็มีเพียงวงเดียว ไม่ใช่สองวงประชันกันอย่างคุณพ่อว่า”

“เฮอ” ท่านผู้เฒ่าถอนใจ   “ฟังดูแล้วน่าเหน็ดเหนื่อยแทน   มีงานทีครั้งหนึ่งๆ มันเหนื่อยน้อยอยู่เมื่อไหร่   ไหนจะต้องเตรียมโน้นเตรียมนี่   ไหนจะต้องวิ่งเชิญแขกเหรื่อเปลืองทั้งแรงเปลืองทั้งทรัพย์”

“แต่มันเป็นของจำเป็นเหมือนกันนะครับ คุณพ่อ”   ลูกเขยพยายามอธิบาย   “ยิ่งต้องทำงานติดต่อกับคนมากๆ อย่างผมนี้ด้วยแล้ว ยิ่งจำเป็นมากทีเดียว   เราเสียเพียงแค่นี้ในวันนี้   แต่อาจได้กลับคืนมาอีกตั้งหลายเท่าในวันหน้าก็ได้”

“เออ นึกอะไรขึ้นมาได้แล้วละ”   กรวิภาเอ่ยขัดขึ้นมาด้วยเสียงค่อนข้างดัง จนทำให้ทุกคนหันไปมองดูหล่อนเป็นตาเดียวกันหมด   กรวิภาหันไปทางพี่เขยแล้วบอกว่า

“คุณพี่รู้จักคนออกมากมาย ช่วยฝากงานให้ชลาทีสิคะ   ชลาเขาอยากจะทำงาน”

ชลาอุทานออกมาเบาๆ คําหนึ่งอย่างตกใจ   เพราะคิดไม่ถึงว่าจู่ๆ ชื่อของตนจะถูกนำออกมาเป็นหัวข้อในการสนทนาเช่นนั้น   กิติมามองมาทางเธอแล้วจึงหันไปบอกสามีว่า

“จริงๆ แหละค่ะ   ดิฉันรับปากกับชลาไว้ว่าจะให้คุณช่วยฝากงานให้   ช่วยแกทีเถอะนะคะ   สงสาร เวลานี้แกอยู่บ้านเฉยๆ   ได้งานได้การทำเสียจะได้มีรายได้กับเขาบ้าง”

“แต่ถึงจะอยู่กับบ้านเฉยๆ   ชลาก็ไม่ถึงกับอดอยากไม่ใช่หรือ?”

คุณวินิจขัดขึ้น   อาการหัวเราะยิ้มแย้มอย่างออกรสสนุกของท่านเมื่อสักครู่นี้หมดไป   เสียงของท่านราบเรียบจนชลาตกใจ   ขณะที่เธอมองดูท่านอย่างวิงวอนและอัดอั้นตันใจนั้น สำราญซึ่งหันมาเพ่งมองดูเธอตั้งแต่กรวิภาพูดจบประโยคก็ถามขึ้นว่า

“อยากจะทำงานจริงๆ หรือ?”

“โธ่ ก็อยากทำจริงๆ น่ะซีคะ”   กรวิภาตอบแทน   “ชลาเขาบ่นเสมอว่าอยู่กับบ้านเฉยๆ เบื่อออกจะตาย   คุณพี่ช่วยทีเถอะค่ะ”

“ถ้าอยากทำจริง พอจะช่วยฝากฝังให้ได้”   สำราญว่า แล้วยิ้มพยักกับหล่อนอย่างผู้ใหญ่ใจดีจะแสดงต่อเด็ก   บอกว่า   “วันเกิดของคุณพี่เขานี่ก็ไปเที่ยวที่บ้านด้วยซี   เผื่อปะเหมาะจะได้แนะนำให้รู้จักแล้วจะได้เลยฝากงานกับเขาเสียด้วยเลย”

ค่ำวันนั้น   หลังจากที่สองสามีภรรยาได้ลากลับไปหลังจากบริโภคอาหารมื้อเย็นร่วมกัน และกรวิภาฉุดสายธารกลับขึ้นไปข้างบนเพื่อเลือกแบบเสื้ออีกครั้งหนึ่ง   ชลาก็กราบลาคุณวินิจกลับมายังบ้านของหล่อน   เมื่อหล่อนก้มลงกราบกับเข่าของท่าน แล้วเงยหน้าขึ้นนั้น   หญิงสาวได้สังเกตว่าท่านกําลังมองดูหล่อนอย่างพินิจพิเคราะห์แล้วจึงถามว่า

“ตั้งใจจะทำงานจริงๆ หรือ?”

ชลานิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่งก่อนที่จะเรียนกับท่านว่า   “ชลาอยากทำงานจริงๆ ค่ะ คุณลุงคะ   แต่ถ้าคุณลุงเห็นว่าไม่เหมาะ ชลาก็…”

“ เปล่าๆ ” ท่านยกมือขึ้นโบก   “ไม่ใช่ลุงจะเห็นว่าผู้หญิงที่ออกไปทำงานนอกบ้านนั้นไม่เหมาะนะ   ลุงเพียงแต่คิดว่า เมื่อแกอยากจะทำงานจริงๆ แล้ว แกก็น่าจะมาบอกลุงเสียก่อน   ลุงอาจจะช่วยแกได้ดีกว่าที่พี่เขยแกจะช่วย   แต่ว่า เมื่อขอความช่วยเหลือเขา แล้วเขาก็รับปากรับคำแล้วอย่างนี้ ก็ไม่ควรจะกลับปฏิเสธเขาเสีย   ลองไปปรึกษากับพ่อแม่เราดูก่อนก็แล้วกัน”

ชลาจึงก้มลงกราบท่านอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงถอยออกมา   เธอได้ยินเสียงท่านถอนหายใจพร้อมกับบ่นเบาๆ ตามหลังออกมาว่า

“เฮ้อ อีกตั้งสองเดือนกว่าเจ้ากวีจะกลับมา”

จบบทที่ 5