ดวงใจนี้ใครครอง

>> สุภาว์ เทวกุลฯ

ดวงใจนี้ใครครอง

บทที่ 6

นางละเมียร โสภณา   กำลังเตรียมตัวจะเข้านอนอยู่แล้ว เมื่อบุตรีไปเคาะประตูเรียกในคืนนั้น   เมื่อได้รับอนุญาตให้เข้าไปได้ ชลาก็เปิดประตูเข้าไป   เดินย่องๆไปทรุดกายลงนั่งบนพื้นกระดานที่เช็ดถูไว้จนเป็นมันใกล้กับมารดา ผู้ซึ่งกำลังใช้พัดขนนกโบกกระพือลมให้ตนเองอยู่หน้าตั่งซึ่งใช้แทนเตียงนอน   ผ้าคลุมถูกเลิกออกเรียบร้อยแล้ว เห็นฟูกอันหนากว้างปูด้วยผ้าปูสีขาวสะอาดตึงเปรี๊ยะ

ชลาสูดกลิ่นหอมชื่นใจของกลิ่นน้ำอบไทยที่มารดาประพรมไว้ทั่วร่างนั้นเต็มแรง ร้องว่า

“เฮ้อ.. ชื่นใจ... กลิ่นหอมอย่างไทยๆ เรานี่หอมเย็นๆ ชื่นใจดีเหลือเกินนะคะ”

“จ้ะ   แล้วก็ไม่ค่อยจะเปลืองสตางค์ดีด้วย”   มารดารับ   “ไอ้อย่างของฝรั่งที่แม่สายเขาซื้อมาใช้น่ะ   ขวดเดียวราคาตอกเข้าไปตั้งเป็นร้อยๆ   น้ำอบของหนูหมดแล้วหรือยังเล่าจ๊ะ   มาแบ่งเอาที่แม่ไปใช้บ้างซิ   นี่แม่ลองปรุงอย่างใหม่ดู”

“ยังไม่หมดหรอกค่ะ   ถ้าหมดแล้วหนูจะมาขอแบ่งจากแม่บ้าง”   ชลามองไปรอบๆห้อง ถามว่า   “นี่คุณพ่อยังไม่ออกจากห้องสมุดอีกหรือคะ?”

“จ้ะ ไม่รู้ดอกหรือว่า เดี๋ยวนี้คุณพ่อกำลังจะแต่งตำรับตำราเกี่ยวกับทางศาสนา   อยู่ นอนดึกๆ มาตั้งเดือนหนึ่งได้แล้ว”

“ตายจริง”   ชลาอุทาน   “ไม่ทราบหรอกค่ะ   ก็พอหนูเอากาแฟเข้าไปให้ท่านตอนสามทุ่ม ท่านก็บอกหนูทุกคืนว่า   ไปนอนเสียเถิดไป๊   ประเดี๋ยวพ่อก็จะนอนเหมือนกัน”

“ประเดี๋ยวของคุณพ่อ คือห้าทุ่มเป็นอย่างน้อย”   มารดาบอก

“โธ่ แล้วหนูก็เลยนอนหลับเสียสบายไปเลยทุกคืน   นึกว่าคุณพ่อคงนอนแล้วเหมือนกัน   ช่างเป็นลูกที่ดีเหลือเกินนะคะ หนูนี่”

“แม่ก็เหมือนกันแหละจ้ะ   แต่แรกๆ แม่ก็คอยเข้านอนพร้อมคุณพ่อหรอก   ท่านก็เอ็ดเอาทุกทีว่าไม่ให้คอย   ทำให้ท่านเป็นห่วง อ่านเขียนหนังสือไม่รู้เรื่อง   แล้วแม่ก็ง่วงนอนพอดีกันน่ะลูก   ตอนหลังนี่แม่ก็เลยเข้านอนก่อน”

“นี่แม่ก็กำลังเตรียมตัวจะเข้านอนแล้วซีคะใช่ไหม?”

“ยังไม่นอนหรอกจ้ะ   แม่เพิ่งอาบน้ำเสร็จประแป้งแล้วกำลังนั่งพัดให้ตัวแห้ง ก็พอดีหนูเข้ามา เป็นยังไงจ๊ะ   รับทานข้าวบ้านคุณลุงอร่อยไหม?”

“ก็อร่อยเหมือนกันแหละค่ะ แล้วก็ฟังคุณสำราญคุยกับคุณลุงสนุกดี”

ชลาบอกพร้อมกับหัวเราะ เมื่อนึกถึงภาพที่โต๊ะอาหารอันกว้างขวางที่บ้านของกรวิภา   ในตอนค่ำวันนั้น มีแต่เสียงของสามีกิติมาคนเดียวที่ดังลั่น เกือบจะไม่มีการหยุดพัก   คุณลุงก็ได้แต่พยักหน้าหงึกๆ   นานๆ ก็พูดออกมาเสียสักประโยคหนึ่ง

นางละเมียรมองดูบุตรีนิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วจึงบอกว่า

“แม่กิติมาเขาดีกับหนูอยู่หรือ?”

“ก็ไม่เห็นมีอะไรนี่คะ”   ชลาบอก   “ทักทายดี   เป็นแต่ว่าช่างซักถามหน่อยเท่านั้น   แต่กับคุณสำราญน่ะ หนูไม่ค่อยรู้จัก   แต่ก็...เป็นคนน่าขันดีนี่คะ”

“แม่กิติมาเขาถามอะไรหนูบ้าง?” มารดาซัก

“ก็ถามอย่างธรรมดาๆ นี่แหละค่ะ ว่าหนูยังเรียนหนังสืออยู่หรือเปล่า   พอบอกว่าไม่ได้เรียนแล้ว ก็ถามต่อไปว่า ทำงานที่ไหน”

“แล้วหนูว่าไง?”

“หนูไม่ได้ว่ายังไงหรอกค่ะ”   ชลาหัวเราะ   “แต่กรวิภาซีคะ  เขาจัดแจงฝากฝังให้คุณสำราญกับคุณกิติมาช่วยหางานให้หนูทำเสร็จทีเดียว”

“อ้อ”   มารดารับรู้ด้วยเสียงในลำคอค่อยๆ   “แล้วเขาว่ายังไงเล่าจ๊ะ คุณสำราญกับแม่กิติมาน่ะ”

“ก็เห็นเขารับปากรับคำเป็นอย่างดีนี่คะ   แต่คุณลุงท่านบอกให้หนูมาถามความเห็นคุณพ่อดูเสียก่อนว่า ท่านจะว่าอย่างไร”

“แล้วคุณลุงท่านไม่ว่าอย่างไรหรอกหรือ?”

“ท่านบอกว่า อยากจะทำงานทำไมไม่บอกท่าน”   ชลาเล่า   “หนูก็ไม่ทราบว่าจะเรียนท่านว่าอย่างไร   เพราะคุณพ่อบอกว่า คุณลุงกำลังไม่สบายไม่อยากไปรบกวนใจท่าน   แล้วอีกอย่างหนึ่ง   หนูไม่นึกว่ากรวิภาเขาจะใจเร็วปุบปับพูดกับคุณสำราญอย่างนั้น   เมื่อเขารับปากรับคำแล้ว ก็เลยไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร”

นางละเมียรนิ่งเงียบไปอย่างใช้ความคิด   มือที่ถือพัดโบกไปมานั้นหยุดพัดวางไว้บนตักเฉย   ครู่หนึ่งจึงได้เอ่ยถามบุตรีว่า

“แล้วหนูอยากจะทำงานจริงๆหรือจ๊ะ?”

ชลาทรุดกายลงในท่าหมอบ เอียงศีรษะลงเคลียกับต้นขาของมารดาอย่างประจบ

“หนูรู้สึกเบื่อที่จะต้องอยู่กับบ้านเฉยๆ เหลือเกินค่ะ แม่   คล้ายกับว่าตัวเองเป็นคนไม่มีประโยชน์   ได้แต่นั่งนอนใช้เงินของพ่อแม่อยู่ทุกวัน เหมือนคนไม่มีความสามารถ   ถ้าหนูมีรายได้ของหนูเอง   อย่างน้อยหนูก็คงจะรู้สึกสบายใจขึ้นบ้างว่า เดี๋ยวนี้หนูโตแล้ว   ไม่ต้องรบกวนคุณพ่อและแม่อีกแล้ว”

โดยปกติ นางละเมียรก็เป็นบุคคลที่ไม่ชอบพูดมากอยู่แล้ว   นางมักจะพูดแต่ในสิ่งที่เห็นว่าจำเป็นจะต้องพูด   และก่อนพูดสิ่งใดออกมา ก็มักจะไตร่ตรองและใคร่ครวญดีแล้ว   ชลาผู้ซึ่งรู้จักนิสัยใจคอของมารดาดี หลังจากที่ได้ชี้แจงเหตุผลและความคิดของตนเองแก่มารดาแล้ว ก็นิ่งคอยฟังอยู่   นางละเมียรนิ่งไปเป็นครู่ใหญ่ แล้วจึงเอ่ยถามขึ้นลอยๆว่า

“นี่เมื่อไหร่พ่อกวีเขาจะกลับมาจากเมืองนอกจ๊ะ เขาบอกหนูหรือเปล่า?”

“อีกในราวสองเดือนค่ะ”   ชลาตอบ   เงยหน้าขึ้นมองมารดาด้วยความสงสัย ไม่เข้าใจว่าเหตุใด ท่านจึงได้เปลี่ยนหัวข้อสนทนาไปเช่นนั้น

“เขาบอกมาในจดหมายหรือจ๊ะ?”

“ค่ะ”

“เขาเขียนจดหมายมาถึงหนูบ่อยๆไม่ใช่หรือ”

“บ่อยค่ะ”   ชลาตอบ นึกขันแกมพิศวงอยู่ในใจว่า วันนี้มารดาช่างกลายเป็นคนช่างซักถามไปได้อย่างประหลาด   แต่เธอก็มิได้ระบายความคิดนั้นออกมาเป็นคำพูด   ยังคงนิ่งฟังท่านต่อไป   นางละเมียรถามต่อไปว่า

“เขาพูดมาว่ายังไงบ้างหรือเปล่าจ๊ะ ในจดหมายนั่นน่ะ?”

“พูดว่ายังไงคะ?”   ชลามองดูหน้าท่านอย่างสงสัยและร้องอ๋อออกมา เมื่อได้รับคำตอบว่า

“ก็พูดเป็นทำนองว่ารักชอบหนู   อยากจะแต่งงานด้วย หรืออะไรทำนองนั้น”

“ไม่เคยหรอกค่ะ”   ชลาตอบ หลังจากได้พยายามทบทวนความจำอันเกี่ยวกับจดหมายที่เธอได้รับจากกวี   “พี่กวีเคยเขียนมาแต่ว่า อยากรู้ว่าหนูเปลี่ยนไปจากเดิมหรือเปล่า   แล้วก็ดีใจที่จะได้กลับมาพบ   อะไรทำนองนี้แหละค่ะ”

“แล้วก็แม่สายธารล่ะจ๊ะ   พ่อกวีเคยเขียนอะไรมาถึงเขาบ้างหรือเปล่า?”

“เอ เรื่องนี้หนูไม่ทราบหรอกค่ะ”   ชลาตอบไปตามความจริง   “ไม่เคยเห็นพี่สายธารเล่าอะไรให้ฟังสักที   แต่ถ้าแม่อยากทราบ หนูจะลองถามพี่สายธารดูเอาไหมคะ?”

“อย่าจ้ะ อย่าไปถามเขาเลย”   นางละเมียรรีบยกมือขึ้นโบกห้ามโดยเร็ว   นิ่งคิดไปอีกอึดใจใหญ่ แล้วจึงบอกว่า   “ตามใจเถอะ ถ้าหนูอยากจะลองทำงานดูสักพักหนึ่ง   แต่ก็ควรจะเรียนและปรึกษาคุณพ่อดูเสียก่อนที่จะไปตกลงรับปากรับคำกับเขา”

“แม่คิดว่า คุณพ่อจะอนุญาตไหมคะ?”

“ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ท่านจะไม่อนุญาตนี่จ๊ะ”   มารดาว่า   “ว่าแต่คุณสำราญกับ แม่กิติมาเขารับปากรับคำเป็นมั่นเหมาะแล้วหรือจ๊ะ ว่าจะหางานให้หนูได้แน่?”

“ค่ะ   คุณสำราญว่าจะช่วยฝากให้ แล้วยังสั่งให้หนูไปงานวันเกิดของคุณกิติมาด้วยเลยค่ะ   บอกว่าจะได้แนะนำให้รู้จักกับใครๆบ้าง”

“สำหรับที่จะได้ช่วยฝากงานให้อย่างนั้นรึ?”

นางละเมียรถามด้วยคำถามประโยคนี้เอง ที่ทำให้ชลารู้สึกถึงความจริงที่ว่า มารดาของหล่อนนั้นช่างมีอุปนิสัยคล้ายคลึงกับบิดาเสียนี่กระไร   ทั้งสองท่านเป็นคนพูดน้อยประหยัดปากประหยัดคำด้วยกันทั้งคู่ และไม่นิยมที่จะกล่าวขวัญถึงผู้อื่นในแง่ที่ต้องแสดงความคิดเห็นโดยไม่จำเป็น   แต่คราวใดที่กล่าวออกมาแล้ว ท่านมักจะชี้ได้ตรงจุดไม่ผิดพลาดเสมอ   เห็นจะเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง ที่ทำให้ท่านครองชีวิตร่วมกันมาได้อย่างสงบเรียบอย่างน่าอัศจรรย์ใจ   กวีเองยังถามชลาด้วยความพิศวงว่า

“นี่ชลา   วันหนึ่งๆ เธอเคยได้ยินคุณพ่อกับคุณแม่ของเธอคุยกันสักสองประโยคถึงไหม?”

และชลาก็ตอบออกไปตามตรงว่า   “ไม่รู้ซี ชลาไม่ค่อยจะได้พบท่านพร้อมๆ หน้ากันสักที   ถึงท่านอยู่ด้วยกัน ท่านก็ไม่คุยกัน   คุณพ่ออ่านหนังสือ แล้วแม่ก็อบผ้าบ้างทำบุหงาบ้าง จัดผักดองใส่ขวดบ้างอะไรพวกนี้แหละ”

เมื่อมารดาตั้งคำถามออกมาเช่นนั้น ชลาจึงนิ่งคิดอยู่   ความจริงพี่เขยของกรวิภาก็ได้บ่งบอกความตั้งใจของเขาออกมาจริงตามที่มารดาของเธอเข้าใจ   แต่ชลายังคิดไม่ตกว่า เธอควรจะรับรองให้หนักแน่นยิ่งขึ้นหรือไม่   เธอเป็นคนที่ไม่เฉียบขาดในการตัดสินใจ   ช่างไม่รับช่วงเอาคุณสมบัติอันนี้ ซึ่งทั้งบิดาและมารดาของเธอมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมถ่ายทอดมาไว้เสียบ้างเลย

“ก็แม่คิดว่าหนูควรจะไปไหมล่ะคะ?”   ชลาย้อนถามด้วยเสียงอ่อยๆ   “ถ้าแม่เห็นว่าไม่ควร หนูก็จะไม่ไปละค่ะ”

“แม่สายธารเขาก็ไปเหมือนกันไม่ใช่หรือจ๊ะ?”

“คงไปค่ะ   หนูได้ยินพี่สายธารปรึกษากับกรวิภาเรื่องเสื้อผ้าอยู่นี่คะ”

“ถ้าหนูไป   หนูคิดว่าจะแต่งตัวยังไงเล่าจ๊ะ?”

“ยังไม่ทราบเลยค่ะ”   ชลาบอก   “แต่แม่คิดว่าหนูควรจะไปหรือคะ?”

“เมื่อคุณสำราญกับแม่กิติมาเขาออกปากชวนแล้ว หนูก็ควรจะไป   ยังไงๆ ก็คิดเสียว่า เขาเป็นผู้ใหญ่กว่าเรา   เราเป็นเด็กกว่าเขา   เมื่อผู้ใหญ่มีแก่ใจออกปากชวน ก็ควรจะไม่ปฏิเสธ   เขาจะคิดไปว่าเราหัวแข็ง เล่นตัวไม่เข้าเรื่อง”

“หนูกลัวอยู่อย่างเดียวแหละค่ะ   กลัวว่าจะไม่รู้จักใครที่ในงาน แล้วก็จะต้องคอยตามเกาะพี่สายธารแจ   เดี๋ยวพี่สายธารจะรำคาญแย่เท่านั้น”

“ของพรรค์นี้เรารู้ล่วงหน้าไม่ได้ดอกจ้ะ”   มารดากล่าวช้าๆเป็นการสั่งสอนไปในที   “ความจริงได้ไปออกงานออกการเสียบ้างก็ดี   ถึงเวลาแล้วที่หนูควรจะหัดดูคน ว่าคนไหนควรคบ และคนไหนไม่ควรคบ”

“แหม ชักใจไม่ดีเสียแล้วซีคะ”   ชลาร้องเสียงอ่อยๆ “  เขาจะเห็นว่าเราเปิ่นหรือเปล่าก็ไม่รู้”

“เรื่องนี้มันอยู่ที่ตัวเราจ้ะ”   มารดาสอนต่อไป   “ข้อสำคัญเราต้องมั่นใจว่า เราวางตัวถูกต้องไม่น่าเกลียด แล้วคนอื่นเขาก็จะเห็นเอง   แต่อะไรก็ตาม หนูต้องไปขออนุญาตคุณพ่อเสียก่อนนะจ๊ะ แล้วค่อยไปบอกแม่กิติมาเขาเสียอีกครั้งหนึ่งว่าจะไปหรือไม่ไป”


บิดาของชลาไม่มีอะไรขัดข้อง เมื่อเธอเข้าไปเรียนขออนุญาต   ท่านเพียงแต่พยักหน้าแล้วบอกว่า

“ไปบอกแม่ให้เขาจัดแจงเรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวให้ซี”

ท่านพูดราวกับว่าชลามีอายุเพียงสิบขวบ มิใช่หญิงสาวอายุยี่สิบ และยังสำเร็จวิชาการเรือนแล้วด้วยเช่นนี้   นางละเมียรฟังด้วยสีหน้ายิ้มๆ เมื่อบุตรีมาเล่าถึงถ้อยคำของบิดาให้ฟัง   นางลุกไปที่มุมห้อง ซึ่งเป็นที่วางหีบไม้การบูนขนาดใหญ่เรียงกันอยู่สองใบ   ปลดพวงกุญแจออกจากเข็มขัดเงินที่คาดอยู่   เลือกได้ลูกกุญแจดอกหนึ่งขึ้นมาไขหีบใบหนึ่งเปิดฝาออก แล้วก็พยักหน้าเรียกธิดาให้เข้ามาใกล้

“โอ้โฮ แม่มีผ้าสวยๆแยะจัง”   ชลาร้องเมื่อคลานเข้าไปใกล้และมองเห็นสิ่งของที่บรรจุอยู่ในหีบนั้นแล้ว   “หนูยังไม่ทราบว่าแม่สะสมผ้าไหมไว้มากมายอย่างนี้”

“ของเก่าของแก่ทั้งนั้นแหละจ้ะ”   มารดาบอก   “แม่สะสมมาเรื่อยๆ ตั้งแต่แม่ยังสาวๆ อยู่   บางผืนก็ยังไม่ได้ตัดเย็บ   เลือกเอาไปซี ลูก ชอบผืนไหนก็....”

ชลาสอดปลายมือเข้าไปจับต้องผ้าไหมที่พับซ้อนกันอยู่เป็นตั้งๆ ในหีบนั้นทีละผืนกลับไปกลับมาอย่างตัดสินใจไม่ถูก เป็นครู่จึงร้องว่า

“แหม เลือกไม่ถูกเลยค่ะ   มันสวยไปหมดทุกผืน   จะเอาผืนนี้ก็เสียดายผืนโน้น จะเอาผืนโน้นก็เสียดายผืนนั้น   โอ๊ย เลือกไม่ถูกจริงๆ”

“เด็กโลภมาก”   มารดาว่าอย่างเอ็นดู   “จะต้องไปเสียดายทำไม   ผืนอื่นก็เก็บเอาไว้ตัดไปงานอื่นซีจ๊ะ   ต่อไปนี้หนูก็คงจะต้องอออกงานออกการบ่อยๆ ละ   จะไปงานไหนก็มาเลือกไปเถอะ แม่ให้หนูหมดแหละ   แม่เก็บไว้ก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร   แก่แล้วไม่ค่อยจะมีธุระได้ไปไหนมาไหนเหมือนเมื่อก่อน”

“โอย.. แหมดีใจจริง” แขนขาวๆ เรียวๆ ทั้งคู่กางออกรวบรัดร่างอันเริ่มชราแล้วของผู้เป็นมารดาไว้แน่น   ดวงหน้ารูปหัวใจซบแนบลงกับต้นแขนของท่าน   และดวงตาที่ใสซึ้งนั้นก็เป็นประกายวับวาวด้วยความปิติเต็มตื้นอย่างเหลือจะประมาณ

“พี่สายธารคงจะอิจฉาแย่ที่หนูมีผ้าสวยๆ ตั้งมากมายก่ายกองอย่างนี้”

“เขาไม่ควรจะอิจฉาหนูหรอก”   นางละเมียรพูดด้วยเสียงเรียบๆ   “เพราะคุณป้าก็มีมากเหมือนกัน   คุณป้าน่ะชอบเล่นของฝรั่ง   ไม่ชอบของไทยๆ อย่างแม่”

“แล้วอีกอย่างหนึ่งที่พี่สายธารต้องแพ้หนู ก็คือคุณป้าอายุสั้นกว่าแม่ยังไงล่ะคะ   เลยไม่มีโอกาสได้สะสมอะไรต่ออะไรมากมายอย่างแม่   แหมหนูโชคดีจังที่เกิดทีหลัง   ก็เลยได้เป็นลูกของแม่   ถ้าหนูเกิดก่อนก็แย่ซีนะคะ”

“ชลาพูดเรื่อยเจื้อยไปโดยหาได้ทันคิดไม่ว่าคำพูดของตนนั้น จะเป็นการสมควรหรือไม่เพียงไร   ต่อเมื่อร่างของมารดาที่ยังอยู่ในวงแขนของเธอบังเกิดมีอาการแข็งขึ้นมาในฉับพลัน   พร้อมกันนั้น ท่านก็เอื้อมมือมาปลดมือที่ประสานโอบอยู่รอบตัวท่านนั้นออกและพูดด้วยเสียงแข็งๆว่า

“ชลา รู้ตัวหรือเปล่าว่าพูดอะไรออกมา?”

นั่นแล้ว ชลาจึงตกใจเป็นกำลัง

“หนูไม่ควรจะพูดอย่างนั้น”   ท่านกล่าวต่อไปด้วยเสียงที่ขรึมและค่อนข้างชาเย็น   “ใครที่ไม่รู้ความจริงมาได้ยินเข้า จะกลายเป็นว่าแม่กีดกันลูกเลี้ยง   รักใคร่เอาอกเอาใจแต่ลูกของตัว   แล้วแม่สายธารเขาก็เป็นหลานแท้ๆ ของแม่ ไม่ใช่ใครอื่น”

“แต่ แม่คะ”   ชลาร้องเสียงหลง   “ชลาไม่ได้หมายความไปถึงอย่างนั้นนี่คะ   หนูหมายความแต่เพียงว่า..”

“รู้แล้วละจ้ะ   แม่เข้าใจดีว่า ชลาตั้งใจจะหมายความว่าอย่างไร   แต่หนูก็ไม่ควรจะพูดอย่างนั้น   คนอื่นมาได้ยินเข้าจะไม่ดี   จะมีสักกี่คนกันที่รู้ความจริงว่าที่แม่ไม่ค่อยจะได้ยุ่งเกี่ยวดูแลแม่สายธารนั้นก็เพราะเป็นความประสงค์ของเขาเอง   เขาอยากจะปกครองตัวเอง   และคุณพ่อก็อนุญาตแล้ว   สมบัติทุกชิ้นของคุณป้า คุณพ่อก็มอบให้พี่สาวของหนูไปจนหมด   ทุกสิ่งทุกอย่างที่แม่ใช้อยู่ทุกวันนี้น่ะเป็นของแม่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรงของแม่เองทั้งนั้น   เพราะฉะนั้นถ้าใครจะมาพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้   ถ้าจำเป็นที่หนูจะต้องพูดแล้ว หนูก็พูดออกไปอย่างที่แม่พูดมานี่เถอะจ้ะ”

ชลานิ่งอึ้ง   ยังแยกแยะไม่ถูกว่าความรู้สึกและความประสงค์ของมารดาในขณะนั้นเป็นอย่างไร   สิ่งเดียวที่เธอแน่ใจก็คือเธอทำผิด เท่านั้นเอง   นางละเมียรนิ่งไปครู่หนึ่ง แล้วจึงบอกต่อไปว่า

“หนูโตมากแล้ว   จะพูดอะไรออกมาต้องรู้จักยั้งคิดตริตรองให้รอบคอบเสียก่อน   จะทำอะไรลงไปก็เหมือนกัน   ต้องคิดให้ดี   อย่าวิ่งตามอารมณ์จะลำบาก   เราเป็นผู้หญิงนะจ๊ะ ต้องระวังตัวให้มาก”

ชลานิ่งฟังโดยดุษณี   ตาจับอยู่ที่ตั้งผ้าไหม   ขณะที่ใจคอห่อเหี่ยวลงเช่นนี้ ความสวยงามของผ้าไหมก็กลับดูสลดถดถอยลงถนัดใจทีเดียว   ดังนั้น เธอจึงไม่เกี่ยงงอนหรือขัดแย้งอะไรต่อไป เมื่อมารดาหยิบผ้าสองชิ้นแยกออกมาจากตั้งสูงนั้นส่งให้ แล้วบอกว่า

“หนูเอาสองชิ้นนี้ไปเลือกดูก็แล้วกัน   ถ้าตกลงชิ้นไหนละก็มาบอกแม่นะจ๊ะ   แม่จะเลือกเครื่องแต่งตัวไว้ให้”

ชลาพนมมือกราบลงบนต้นแขนของมารดา   หยิบผ้าทั้งสองผืนแล้วคลานถอยออกมาเงียบๆโดยไม่พูดว่ากระไร   หญิงสาวหารู้ไม่ว่า ดวงตาของผู้เป็นมารดาได้มองตามหลังมาด้วยความรู้สึกที่เต็มไปด้วยความห่วงใยอย่างลึกซึ้ง   หญิงสาวกลับมาที่ห้องของหล่อน   ทรุดกายลงนั่งบนเตียงนิ่งๆ ครู่หนึ่งโดยมีผ้าไหมทั้งสองผืนวางพาดอยู่เหนือตัก แล้วก็ผุดลุกขึ้นสลัดศีรษะแรงๆ   บอกว่า

“ไม่เห็นเข้าใจว่าแม่ต้องการจะให้เราทำอะไรแน่   คิดมากก็ปวดหัว   ตัดเสื้อดีกว่า”

เธอหยิบผ้าไหมผืนหนึ่งคลี่ออก   เดินไปหยุดยืนอยู่หน้ากระจกเงาบานยาว   ลองใช้ผ้าไหมผืนนั้นพาดพันร่างดูหันไปทางนั้นบิดไปทางนี้   แล้วก็เปลื้องออก หยิบผืนใหม่มาลองทำอย่างเดียวกันนั้น   ความสวยงามสูงค่าของผืนผ้าและความอิ่มเอมใจที่ได้เป็นเจ้าของมีกรรมสิทธิ์ในมัน ได้ก่อให้เกิดภาพสะท้อนที่สวยงามน่าดู ออกมาจากกระจกเงาบานนั้น   ภาพของดรุณีงดงามน่ารัก พาดพันร่างไว้ด้วยผืนผ้าอันสดสวย   สอดแทรกด้วยไหมเงินและทองอย่างประณีต   ลวดลายอันวิจิตร   ดรุณีนั้นมีดวงหน้าอันอิ่มเอมเปล่งปลั่งและดวงตาที่ทอประกายใสซึ้งเป็นประกายวาววับน่าดูยิ่ง

อยากเห็นเหลือเกินว่าชลาจะเปลี่ยนแปลงไปมากสักเพียงไหน   กวีเคยเขียนจดหมายมาเช่นนี้   อา ชลาก็อยากที่จะให้เขามาเห็นนักว่า เธอเปลี่ยนแปลงไปมากสักเพียงไหน

จบบทที่ 6