ในที่สุด... ราวกับความฝัน เธอได้นั่งอยู่ตรงกันข้ามกับกวีภายในร้านอาหารที่ค่อนข้างแคบ แต่หรูหราและสะอาดสะอ้านแห่งหนึ่ง เสียงเพลงที่ดังแผ่วๆ ในท่วงทำนองที่ไม่โลดโผน หากแต่ซาบซึ้งกล่อมอารมณ์ และคนเดินโต๊ะที่แต่งกายเรียบร้อยมีกิริยาท่าทางสุภาพสำรวม ค่อยทำให้ความว้าวุ่นอึดอัดในใจของชลาคลายลงได้อย่างอัศจรรย์ ไม่นึกเลยว่าตัวเธอจะรอดพ้นจากความคับขันมาได้อย่างง่ายดายเช่นนี้
“ต้องการอะไรก็เชิญสั่งซีครับ คุณผู้หญิง” ชายหนุ่มชะโงกกายเข้ามาหา พูดอย่างล้อๆ “เออแน่ะ ทำท่าราวกับกำลังฝันอยู่อย่างนั้นแหละ”
“ก็เหมือนกับฝันจริงๆ นั่นแหละค่ะ” ชลาตอบ พร้อมกับยิ้มให้เขาอย่างจริงใจ “พอเห็นพี่กวีโผล่เข้าไปบอกว่ามารับไปทานข้าวเท่านั้น ชลาก็งงไปหมด แล้วก็ยังไม่หายงงอยู่จนเดี๋ยวนี้”
“ทำไมต้องงง?” กวีซักยิ้มๆ ดวงตาของเขาที่มองดูเธอนั้นบอกว่ากำลังอยู่ในอารมณ์สนุก
“ก็จะไม่ให้งงได้ยังไง” ชลาว่า “ชลาไม่เคยนัดให้พี่กวีมารับไปทานข้าวสักหน่อย แล้วก็ไม่คิดว่าพี่กวีจะรู้จักที่ทำงานของขลาเสียด้วยซ้ำ แล้วจู่ๆ พี่กวีก็โผล่พรวดพราดเข้าไปพูดอย่างหน้าตาเฉยว่า มารับไปทานข้าวตามที่นัดกันไว้”
กวีหัวเราะ ยื่นแผ่นกระดาษแข็งที่พิมพ์รายชื่ออาหารมาให้ตรงหน้า บอกว่า “เอ้า จะรับอะไรก็สั่งเสียซีจ๊ะ คนเดินโต๊ะเขาคอยอยู่”
ชลารับรายชื่ออาหารมาอ่านผ่านๆ ดูแล้วส่งก็คืนไปให้เขา บอกว่า
“พี่กวีทานอะไรก็สั่งอย่างนั้นเผื่อชลาด้วยก็แล้วกันค่ะ ชลากำลังตื่นเต้นเสียจนเลือกไม่ถูกว่าจะทานอะไรดี”
กวีเลิกคิ้วอย่างขัน เขาอ่านรายการอาหารดูอีกครั้งหนึ่งแล้วหันไปสั่งสิ่งที่ต้องการกับคนเดินโต๊ะ แล้วก็หันกลับมาทางหญิงสาว ชวนคุยต่อไปว่า
“อะไร เพียงแค่เห็นหน้าพี่โดยไม่ได้คาดฝันเท่านั้นก็ถึงกับตื่นเต้นเอามากๆ เทียวหรือ?”
“โธ่ มันไม่ใช่แต่เพราะเห็นหน้าพี่กวีเท่านั้นน่ะซีคะ” ชลาบอกแก่เขาไปตามจริง “แต่พี่กวีน่ะ เท่ากับเป็นทูตสวรรค์มาโปรดชลาแท้ๆ ทีเดียว ท่านนายของชลาน่ะค่ะ กำลังจะชวนชลาออกไปทานข้าว ชลากำลังอึดอัดใจไม่ทราบว่าจะขอตัวอย่างไรดี ก็พอดี...”
“พี่พรวดพราดเข้าไปช่วยไว้” เขาต่อ
“เท่ากับช่วยชีวิตเอาไว้ทีเดียวค่ะ” ชลารับ กวีหัวเราะเบาๆ แล้วก็หยุด เขาใช้นิ้วเคาะโต๊ะเล่น มองดูหน้าเธออย่างใช้ความคิด
“อะไร” เขาว่า “เพียงแต่จะหาคำพูดปฏิเสธไม่ออกไปกินข้าวกับเขา แต่นี้เธอก็ไม่กล้าทีเดียวหรือ?”
“ไม่กล้าจริงๆ ค่ะ” ชลารับตามตรง “ไม่ทราบว่าจะพูดว่าอย่างไร มัน-แหม มันอึกอัดแล้วก็ลำบากใจยังไงไม่รู้ บอกไม่ถูก”
“อือ” เขาอุทานอยู่ในคอ มองดูเธออย่างครุ่นคิด “ลำบากอยู่ตรงที่เธอมีใจไม่แข็งหรือไม่กล้าพอนี่เอง เธอช่วยตัวเองไม่ได้เลยนะ ชลา”
มันเป็นความจริงดังที่เขาว่า เธอช่วยตัวเองไม่ได้เลย เพียงแต่การพูดปฏิเสธไม่ออกมารับประทานกลางวันนั้น เธอคิดว่าเธอพอจะทำได้ แต่เมื่อปฏิเสธออกไปแล้วนี้สิจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง จะกระทบกระเทือนไปถึงสำราญและกิติมาหรือไม่ ถ้าหากว่า ‘ท่าน’ บังเกิดความไม่พอใจขึ้นมา ชลารู้ดีว่า ‘ท่าน’ จะต้องไม่พอใจแน่นอนถ้าถูกปฏิเสธติดๆ กันหลายครั้ง
กวีขับรถมาส่งที่ที่ทำงาน เขาเอื้อมมือมาเปิดประตูให้เธอลงแล้วบอกว่า
“พรุ่งนี้กลางวัน ถ้ามีใครชวนออกไปกินอาหาร เธอก็บอกเขาได้เลยว่า นัดกับพี่ไว้แล้ว”
เห็นจะเป็นด้วยคำพูดประโยคนั้นนั่นเอง ที่เมื่อขึ้นไปถึงห้องทำงานทำให้สันทัดซึ่งกลับเข้ามาแล้วออกปากทักว่า
“อาหารกลางวันมื้อนี้คงอร่อยถูกใจไม่น้อย คุณชลาจึงได้ดูหน้าตาแจ่มใสนัก”
ชลายิ้มกับเขาแทนคำตอบ สันทัดมองดูด้วยสีหน้าเคร่งขรึมตามเคยของเขา ถามต่อไปอีกว่า “คนนี้เองหรือพี่ชายที่คุณเคยพูดถึง?”
“ใช่ค่ะ” ชลารับ “น้องชายคุณกิติมาที่ดิฉันเคยพูดถึงไงล่ะคะ เธอเป็นคนดีเหลือเกิน แหม วันนี้พอเห็นพี่กวีโผล่เข้ามาเท่านั้น ดิฉันใจมาขึ้นเป็นกอง”
สันทัดทำท่าคล้ายจะพูดอะไรออกมา แต่แล้วก็ไม่พูด เอื้อมมือหยิบแฟ้มเอกสารออกมาเปิด ทำท่าเหมือนกับว่าหมดความสนใจ ในเรื่องอื่นใดทั้งสิ้น นอกจากงานตรงหน้าเท่านั้น
นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา กวีก็ทำหน้าที่ขับรถมารับชลา ออกไปกินอาหารกลางวันแทบทุกวันจนกระทั่ง ‘ท่าน’ ค่อยหายไป ชลารู้สึกว่าอารีย์เริ่มมีทีท่าไม่สู้พอใจนัก อาการกุลีกุจอเอาอกเอาใจที่เขามีต่อหล่อนนั้นเริ่มลดลง สันทัดยังคงเงียบขรึมอย่างสงวนทีท่าตามเคย แต่วันใดที่กวีไม่มา สันทัดก็ยังมีแก่ใจออกปากชวนเธอออกไปกินอาหารกลางวันกับเขาด้วย เหตุการณ์เหล่านี้ช่วยให้ชลาค่อยมีใจสบายขึ้นเป็นอันมาก
แต่แล้ววันหนึ่ง ผู้จัดการซึ่งแสดงทีท่าว่าไม่ค่อยสนใจในชลามาหลายวันแล้วนั้น ก็กลับมีทีท่ายิ้มย่องผ่องใสกับเธออีกครั้งหนึ่ง เขามาถึงสำนักงานในตอนบ่าย และเดินยิ้มแย้มตรงเข้ามายังโต๊ะของชลาทันที
“วันนี้ออกไปรับข้าวที่ไหนมา คุณชลา?”
เขาถามอย่างอารมณ์ดี ซึ่งทำให้ชลาอดที่จะรู้สึกแปลกใจมิได้ เมื่อเธอบอกชื่อภัตตาคารที่เธอไปในตอนกลางวันแก่เขา อารีย์ก็พยักหน้ากล่าวว่า
“ไปกับน้องชายคุณกิติมาล่ะซี ใช่ไหม?”
“เธอเป็นพี่ชายของดิฉันด้วย”
ชลาชี้แจงด้วยเสียงเย็นชา เพราะรู้สึกขัดหูในคำพูดที่เขาใช้ อารีย์ยกมือข้างหนึ่งขึ้นโบก พูดด้วยเสียงหัวเราะว่า
“ผมรู้แล้วละน่าว่าคุณกับเขาเป็นญาติกัน” เขาลดเสียงลง เมื่อพูดต่อไปเรื่อยๆ เหมือนคุยให้ฟังว่า “วันนี้ผมไปรับอาหารกลางวันกับท่านมา ท่านยังบ่นถึงคุณเลย ออกจากร้านอาหารแล้วท่านชวนผมไปเลือกซื้อของที่ระลึกจะให้พวกชาวต่างประเทศ ไปพบไอ้นี่เข้า”
เขาล้วงมือลงไปในกระเป๋าเสื้อหยิบเอาห่อกระดาษสี่เหลี่ยมเป็นแบนๆ ที่ผูกริบบิ้นเรียบร้อยห่อหนึ่งออกมาวางบนโต๊ะตรงหน้าชลา
“ท่านบอกว่ามันน่ารักดี ก็เลยซื้อฝากผมมาให้คุณ”
ชลามองดูห่อของที่อารีย์วางให้นั้นโดยมิได้แตะต้อง แล้วจึงเงยหน้าขึ้นมองดูอารีย์อย่างสงสัย
“ซื้อมาฝากดิฉัน เนื่องในโอกาสอะไรกันคะ”
“ทำไมต้องเนื่องในโอกาสอะไรด้วยเล่า” อารีย์หัวเราะอย่างเห็นขัน “ผมจะเล่าให้ฟังนะ คือท่านเดินๆ ดูของรอบๆ ร้าน เผอิญไปพบไอ้นี่เข้า ท่านก็บอกกับผมว่าไว้นี่มันสวยดีนะ น่าซื้อ มันน่ารัก กระจุ๋มกระจิ๋มเหมาะที่เด็กสาวๆ จะใช้ พูดไปพูดมาท่านก็เลยสั่งให้เขาห่อให้แล้วส่งให้ผมบอกว่า ‘ฝากไปให้หนูชลาด้วยก็แล้วกัน ผมซื้อแล้วก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปให้ใคร เห็นมีแต่หนูชลานั่นแหละที่เหมาะจะใช้มัน’ แล้วผมก็รับมา เท่านั้นเอง”
ชลามองไปยังสันทัด ก็เห็นเขากำลังฟังอยู่เหมือนกัน แต่ใบหน้าเขาเฉยเป็นปกติ หญิงสาวถอนใจยาวกล่าวแก่ผู้จัดการว่า
“ดิฉันรู้สึกว่าดิฉันไม่ควรรับของสิ่งนี้กระมังคะ ผู้จัดการ”
“อ้าว ทำไมเล่า?” อารีย์ร้องอย่างฉงน “มันเป็นของที่ท่านตั้งใจซื้อให้คุณนี่นะ คุณชลา”
“แต่ดิฉันรู้สึกตะขิดตะขวงใจอย่างไรพิกล” ชลาบอกแก่เขาตรงๆ ตามความรู้สึกของหล่อนในขณะนั้น “ดิฉันรู้ว่าดิฉันไม่ควรรับไว้”
“คิดมากเกินไปเสียแล้วละ” อารีย์ว่า “เดี๋ยวค่อยพูดกันดีกว่า เปิดดูเสียก่อนเถิดว่าเป็นอะไร?”
ชลานิ่งเฉยอยู่ครู่หนึ่ง แล้วจึงหยิบห่อนั้นขึ้น มาใช้ปลายนิ้วแก้ริบบิ้นที่ผูกอยู่ออก แกะกระดาษออกจากกัน สิ่งที่กระดาษห่อหุ้มอยู่นั้นคือกล่องหนังเทียมสีน้ำเงินเข้ม มีปุ่มสปริงสำหรับกดให้เปิดออก เมื่อชลากดลงที่ปุ่มนั้นฝาก็เปิดออก วัตถุที่วางนิ่งอยู่บนกำมะหยี่สีน้ำเงินเข้มนั้น ทำให้ชลานิ่งอึ้งไปในทันที
มันคือเข็มกลัดทองแท้อันถูกประดิษฐ์ขึ้นเป็นรูปดอกไม้ กลีบดอกไม้นั้น ทำด้วยทองขดเป็นเส้นซ้อนกันสองชั้นอ่อนช้อยปลายเรียวแหลมราวกับกลีบดอกไม้จริงๆ ตรงโคนกลีบฝังไข่มุกทุกกลีบ เกสรเป็นเพชรเม็ดเล็กๆ ฝังเรียงกันเป็นแถว เป็นงานที่แสนจะวิจิตรประณีตมีศิลป์อะไรเช่นนั้น
“เป็นยังไง?” อารีย์ถามยิ้มๆ ดวงตาเป็นประกายพึงใจ “ชอบใจไหมครับ?”
ชลาปิดฝากล่องวางลงตรงหน้า กล่าวแก่เขาว่า “มันสวยน่ารักมากจริงๆค่ะ แต่ดิฉันคิดว่า ดิฉันไม่ควรจะรับไว้”
“เอ๊ะ ทำไมเล่า คุณชลา?” อารีย์ขมวดคิ้ว รอยยิ้มเลือนลงไป “ท่านซื้อฝากคุณนะครับนี่”
“ค่ะ ดิฉันทราบแล้ว” ชลาพูดอย่างไม่สบายใจ “เป็นความกรุณาและมีน้ำใจดีอย่างยิ่งที่ท่านมีใจเมตตาต่อดิฉัน แต่ดิฉันก็รับไว้ไม่ได้ดอกค่ะ ดิฉันอธิบายไม่ถูกเหมือนกันว่าทำไมจึงรับไว้ไม่ได้ แต่ดิฉันก็ยังคงรู้สึกว่าไม่สมควรจะรับไว้อยู่นั่นเอง”
อาการที่อารีย์มองดูหญิงสาวซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของเขานั้น เป็นการมองอย่างสงสารแกมสมเพช คล้ายมองดูเด็กโง่ๆ คนหนึ่งที่กำลังตกใจกลัวในสิ่งซึ่งมองไม่เห็นตัวตน เขาหยิบกล่องใบนั้นขึ้นมาถือไว้ กระเดาะมันเล่นค่อยๆ ถามว่า
“แล้วนี่จะให้ผมทำอย่างไรกับมันดีเล่า”
“ผู้จัดการกรุณานำมันกลับ ไปคืนให้ท่านทีสิคะ” ชลาบอก “โปรดเรียนท่านด้วยว่ามันน่ารักเหลือเกิน ดิฉันกราบขอบพระคุณที่ท่านมีใจกรุณานึกถึงดิฉัน แต่ดิฉันรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ไม่สามารถจะรับไว้ได้”
“คุณมีเหตุผลอะไรที่รับไว้ไม่ได้?” อารีย์หรี่ตามองดูเธอ เสียงเขาพูดนั้นเริ่มห้วนและเฉียบขาด “อย่าลืมนะว่าท่านจะรู้สึกอย่างไร ถ้าคุณคืนของนี้ไป ลองคิดดูซิว่าถ้าคุณซื้อของให้ใครสักคนด้วยความเอ็นดู แล้วคนๆ นั้นกลับคืนของที่คุณซื้อให้นั้นกลับมา คุณจะรู้สึกอย่างไร?”
เมื่อเห็นหญิงสาวนั่งนิ่งอยู่ ด้วยใบหน้าบอกความวิตกยุ่งยากใจ อารีย์ยิ้มน้อยๆ พูดด้วยเสียงปลอบใจว่า
“รับไว้เถอะ คุณชลา ไม่น่าเกลียดอะไรหรอก เป็นของที่ผู้ใหญ่ตั้งใจให้เราด้วยความเมตตาเอ็นดู ถ้าคุณคืนไปนั่นสิจะน่าเกลียด ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง”
กล่าวจบแล้วอารีย์ก็เดินไปที่โต๊ะของเขา ปล่อยให้ชลานั่งเฉยจ้องมองดูกล่องกระดาษที่บรรจุเข็มกลัดแสนสวยสูงค่านั้นอยู่อย่างอัดอั้นตันใจ
“มันมีราคาสูงเกินไปที่จะเป็นของฝาก” ชลาปรับทุกข์แก่สันทัดในตอนเย็นวันนั้น ก่อนที่จะเลิกงานและไม่มีอารีย์อยู่ในห้องนั้นแล้ว “คุณสันทัดช่วยให้คำแนะนำหน่อยซีคะ ว่าฉันควรจะทำอย่างไร เก็บไว้ หรือจะคืนมันไป”
“ผมให้คำแนะนำแก่คุณไม่ได้ดอก คุณชลา” สันทัดตอบเรียบๆ “คุณจะต้องตัดสินใจเอาเอง เพราะเรื่องนี้มันจะต้องมีผลสะท้อน กลับไปคิดดูก็แล้วกันว่าคุณจะทำอย่างไร”
เขาหัวเราะด้วยเสียงขื่นๆ มองดูหน้าเธอแล้วพูดว่า
“เห็นจะเป็นเพราะโลกมันกลมกระมัง ถึงได้เกิดเหตุการณ์อย่างเดียวกันนี้ขึ้นได้หลายๆ ครั้งซ้ำซาก” เขาหัวเราะขื่นๆ “สนุกดีเหมือนกัน ผมจะคอยดูซิว่าเหตุการณ์อย่างเดียวกันนี้ มันจะเกิดขึ้นได้ซ้ำซากกี่ครั้งกัน”
เสียงที่เต็มไปด้วยความข่มขื่นและเยาะหยันของเขาสะดุดความรู้สึกของชลาอยู่ครามครัน เธอมองดูเขาด้วยความสงสัยลังเลเล็กน้อย ก่อนที่จะถามออกไปว่า
“คุณสันทัดหมายความว่าอย่างไรคะ ที่บอกว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นซ้ำซากกัน มีใครคนอื่นที่เคยได้รับของกำนัลแบบนี้ก่อนดิฉันหรือคะ?”
สันทัดนิ่งอึ้งไป ไม่ตอบว่ากระไร ชลาจึงลุกจากโต๊ะของเธอ เดินไปหยุดยืนหน้าโต๊ะของเขา สองมือเท้าโต๊ะชะโงกกายเข้าไปใกล้ จ้องตาเขา แล้วถามด้วยเสียงคาดคั้นว่า
“ใช่ไหมคะ คุณสันทัด เคยมีใครคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ที่นี่เคยได้รับของกำนัลเช่นนี้มาก่อนแล้ว”
สันทัดเหลือบตาสีเข้มของเขาขึ้น มองสบตาเธอครู่หนึ่งแล้วจึงละไปมองที่อื่น พูดเรื่อยๆ ว่า “มันเป็นเรื่องสามัญมิใช่หรือสำหรับสมัยนี้ ที่ใครคนหนึ่งจะซื้อของขวัญให้แก่คนที่เขาพอใจ ถ้าเขามีเงินพอจะซื้อให้ได้”
“แต่เสียงที่คุณสันทัดพูด ดิฉันรู้สึกว่ามีเรื่องอะไรรุนแรงยิ่งกว่านั้น มันไม่เพียงแต่เป็นการซื้อของขวัญให้กันเท่านั้นจริงไหมคะ?”
“ทำไมคุณถึงคิดว่า มันจะมีเรื่องรุนแรงอะไรซ่อนอยู่เล่า?” เขาย้อนถาม
ชลาจ้องมองลงไปในดวงตาเขาอย่างเงียบๆ แล้วจึงบอกว่า “เพราะเมื่อกี้นี้เองคุณสันทัดได้บอกกับดิฉันว่า ถ้าดิฉันคืนของสิ่งนี้ไปหรือแม้จะไม่คืนก็ตาม มันอาจจะเกิดผลสะท้อนแก่ดิฉันเองทั้งสองประการ ดิฉันจึงอยากได้อยากจะทราบว่าใครคนนั้น ที่ได้รับของกำนัล ได้คืนมันกลับไปหรือเปล่า”
สันทัดนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วจึงตอบด้วยเสียงต่ำๆ ว่า “เปล่า” ดวงตาของเขามองผ่านเธอไปอย่างเคร่งขรึม และเจ็บปวดระคนกับความเครียดแค้น
“เขาไม่ได้คืนไป เขาเก็บมันไว้ทั้งๆ ที่เขารับปากกับผมแล้วว่าเขาจะคืนมันไป”
“อา!” ชลาร้องอยู่ในใจ “แล้วผลสะท้อนที่เกิดขึ้นจากการเก็บของกำนัลชิ้นนั้นไว้เล่าคะ เป็นอย่างไร?” เธอถามเขาด้วยเสียงเกือบเป็นกระซิบ
สันทัดละสายตาจากที่เขาจับอยู่นั้นกลับมาที่เธอตามเดิม รอยยิ้มพรายอยู่ที่มุมปากคล้ายจะเยาะใครสักคนหนึ่งเมื่อเขาบอกว่า
“ผลสะท้อนหรือ อือ เขาก็ได้อยู่บ้านสวยหรู ค่าเช่าเดือนละหลายพัน มีรถยนต์ขับ มีเงินตัดกระโปรงราตรีได้เดือนละหลายๆ ชุด แต่ว่านั่นมันเป็นผลสะท้อนในระยะแรกเท่านั้น ผมกำลังคอยดูผลสะท้อนที่กำลังเกิดขึ้นในระยะต่อไปอยู่ กำลังคอยดูและเตรียมพร้อมที่จะหัวเราะอยู่แล้ว”
ชลามองดูเขาอย่างตะลึง จริงอยู่ เธอเคยเห็นและรู้สึกว่าสันทัดเป็นคนที่เคร่งขรึมเก็บตัว และมองดูทุกคนในโลกนี้ด้วยสายตาที่เหมือนมีกำแพงกั้นของตัวเองไว้ให้ห่างออกไปจากทุกๆ คนเสมอ แต่ก็ไม่มีครั้งใดเลยที่เขาจะแสดงความขมขื่นชอกช้ำและอาฆาตพยาบาทรุนแรงถึงเพียงนี้
แต่แล้วเพียงชั่วพริบตาเดียวต่อมา อากัปกิริยาของสันทัดก็กลับคืนสู่ความเคร่งขรึมอย่างเดิม เขาเอื้อมมือออกมาตบลงบนหลังมือของเธอเบาๆ บอกว่า
“ถ้าตัดสินใจไม่ได้เอง ก็จงไปปรึกษากับพี่ชายที่น่ารักของคุณเถิดคุณชลา เชื่อผม ปรึกษาเขาแล้วทำตามที่เขาแนะนำ แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเรียบร้อยไปเอง”