ดวงใจนี้ใครครอง

>> สุภาว์ เทวกุลฯ

ดวงใจนี้ใครครอง

บทที่ 26

กิติมา พงษ์ศรี   ถูกเรียกตัวมาพบท่านบิดาในวันรุ่งขึ้น   พอได้รับแจ้งข่าวว่าน้องชายของหล่อนตกลงใจที่จะแต่งงานกับ ชลา ญาติผู้น้อง   กิติมาก็ถึงกับนิ่งอั้นไปทันที   ไม่มีผู้ใดล่วงรู้ว่าในขณะนั้นความอับอายและความคั่งแค้นได้เกิดประดังกันขึ้นมาเพียงไรในทรวงอกของหล่อน   ดูทีรึน้องชายคนเดียวของหล่อนช่างมาเป็นไปได้ถึงเพียงนี้   ขัดขวางแผนการอันเป็นทางปูลาดสู่ความมั่งคั่งรุ่งโรจน์ของหล่อน   เหยียบย่ำทำลายมันเสียอย่างไม่มีชิ้นดี   มิหนำซ้ำยังจะมายกย่องแต่งงานกับผู้หญิงคนนั้นอีกเล่า     กิติมาถือว่ากวีทำงานครั้งนี้อย่างไม่ไว้หน้าหล่อน   ไม่มีเยื่อใจแห่งความเป็นพี่น้องร่วมสายโลหิตเหลืออยู่เลยแม้แต่น้อย

แต่หล่อนก็มิอาจที่จะปริปากระบายความขุ่นใจดังกล่าวนี้ออกมาได้   เจตนาอันไม่บริสุทธิ์ที่หล่อนมีต่อญาติสาวผู้นั้นเป็นประหนึ่งน้ำที่ท่วมปาก   กิติมาจึงอึดอัดใจนัก   มองดูดวงหน้าของผู้บังเกิดเกล้า ก็รู้สึกว่าท่านกำลังเต็มไปด้วยความปลาบปลื้มเป็นสุขเต็มที่   เมื่อท่านพร่ำพูดถึงชีวิตที่กำลังจะย่างสู่ความเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวของบุตรชายคนเดียว

“หนูชลาก็เป็นเด็กดี”   คุณวินิจกล่าวด้วยเสียงแจ่มใจ   “เห็นกันมาแต่เล็กแต่น้อย   พ่อเห็นว่าเหมาะกว่าที่กวีจะไปคว้าเอาคนอื่นที่เราไม่รู้จักหัวนอนปลายตีนมา   แล้วก็ดูท่าทางเด็กทั้งสองคนนี้เออออถ้อยทีถ้อยเอาอกเอาใจกันดี”

“คุณพ่อดูท่าจะอยากได้หลานปู่เต็มที”

กิติมาอดมิได้ที่จะพูดออกไปด้วนเสียงขุ่นคล้ายประชด   แต่คุณวินิจกำลังมีความสุขใจเสียจนมิได้สังเกตน้ำเสียงของธิดาคนโต   ท่านจึงรับออกมาว่า

“ฮือ... พ่ออยากเห็นหลานปู่ก่อนที่พ่อจะตายไป   จะได้ตายตาหลับเพราะสบายใจว่า น้องชายแกมันเป็นหลักเป็นฐาน   มีหลักประกันว่าจะไม่มีทางเหลวไหลไปได้ภายหน้า   เพราะว่าลูกนี่แหละที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวอย่างวิเศษสุดไม่ให้คนเราเตลิดไปตามใจชอบ”

“แล้วอาเวชว่ายังไงมั่งคะ”

กิติมาถามเรื่อย ๆ   ตอบเองในใจเสร็จว่า   จะว่าอะไร้   ก็คงจะดีใจตัวสั่นไปน่ะซิ   ลูกสาวจะได้แต่งงานกับลูกชายเศรษฐีทั้งทีนี่

“พ่อเวชกับแม่ละเมียรเขาขอถามความสมัครใจของหนูชลาก่อน   ถ้าลูกสาวเขาเต็มใจเขาก็ไม่มีอะไรขัดข้อง   เขาบอกว่าเขาถือภาษิตปลูกรือนต้องตามใจผู้อยู่”

“อุ๊ย... แม่ชลาน่ะคงจะไม่ขัดข้องอะไรหรอกค่ะ   คงจะดีใจไปเสียอีกน่ะซี   พ่อกวีเขาเป็นหนุ่มเนื้อทองนี่คะ   ได้แต่งงานกับลูกชายนายธนาคาร   แล้วก็ยังไปเรียนเมืองนอกเมืองนามาเสียอีก   โก้หยอกไปเมื่อไหร่   เมื่อไรจะมีโอกาสงามๆ อย่างนี้สักที”

คราวนี้สุ้มเสียงที่ผิดปกติของหล่อนสะดุดหูท่านบิดาเข้า   คุณวินิจหยุดพูด   มองดูหน้าธิดาด้วยสายตาที่เพ่งพิศอย่างจะหยั่งให้รู้ถึงความคิดในใจของหล่อน   กิติมารู้สึกตัว   ขยับร่างเล็กน้อยเหมือนจะจูงความคิดของท่านบิดาให้หันเหมาเสียจากสิ่งที่ท่านกำลังคิดอยู่นั้น   หล่อนกล่าวคล้ายจะฟ้องว่า

“แต่ที่แม่ชลาเขาไปทำงานอยู่นี่น่ะ   ลูกได้ยินมา   รู้สึกว่า....   มันไม่ค่อยจะดีนักนะคะ คุณพ่อ”

“เป็นยังไงหรือ”

ท่านบิดาถามสั้นๆ   ดวงตายังคงจับจ้องอยู่ที่ธิดาไม่วาง   กิติมารู้สึกอึดอัดใจไม่น้อย   แต่เมื่อหลุดปากออกไปแล้วก็จำเป็นที่จะต้องพูดให้ตลอด

“เขาว่ากันว่า แม่ชลาแก... เอ้อ... ชอบออกไปรับประทานอาหารกลางวันกับใครต่อใครเสมอ”

“เขาว่าน่ะใครว่า ”

คุณวินิจถามต่อไปด้วยเสียงเช่นเดิม   ซึ่งเพิ่มความอึดอัดใจแก่กิติมาอีกเป็นทวีคูณ   หล่อนอึกอักอยู่ครู่หนึ่งจึงพูดว่า

“หลายคนค่ะ   ลูกก็ยังเคยพบกับตัวเองครั้งหนึ่ง   ยายกรก็ไปกับลูกด้วยวันนั้น   คุณพ่อลองถามยายกรดูซีคะ   สายธารก็อยู่ด้วย”

“ยายชลาไปกับใคร”

“ไปกับผู้จัดการค่ะ   แล้วก็มีประธานกรรมการของบริษัทไปด้วย”   กิติมาเล่า   “ประธานบริษัทน่ะลูกได้ยินกิติศัพท์มาว่า มีชื่อเสียงไม่ค่อยดีนักในเรื่องผู้หญิง   ผู้หญิงคนไหนสนิทสนมกับแกละก็ น้อยรายนักที่จะรอดมือมาได้”

“อ้อ...ยังงั้นรึ”   คุณวินิจพยักหน้าช้าๆ เสียงของท่านแปลกไปเมื่อถามต่อไปว่า   “ก็เมื่อรู้อย่างนี้แล้วทำไมเราถึงได้ฝากชลาให้เข้าทำงานที่บริษัทนั้นล่ะ”

กิติมานิ่งอึ้งไปอย่างคาดไม่ถึงว่าจะถูกย้อนถามกลับมาด้วยคำถามเช่นนั้น   ยิ่งท่านบิดามองดูอย่างไม่วางตาเช่นนั้น กิติมาก็ยิ่งเพิ่มความอึดอึดมากขึ้นอีกไม่น้อย

“ได้ยินว่า พ่อสำราญของเราน่ะ คุ้นเคยสนิทสนมกับเขาไม่ใช่หรือ”   คุณวินิจกล่าวต่อไป   เมื่อคุ้นกันดีก็น่าจะรู้จักนิสัยใจคอกันดีอยู่แล้ว   ทำไมถึงยังฝากเนื้อไปทำงานกับเสืออย่างนั้น”

กิติมารู้สึกร้อนวูบวาบในใจ   อึกอักอยู่เป็นนานกว่าจะหลุดปากพูดออกมาว่า

“คุณ... คุณสำราญคงจะไม่คิดว่าคนของเราจะพลอย   เอ้อ...ไปกับเขาด้วย   ก็ผู้หญิงที่ทำงานในบริษัทนั้นมีอยู่ตั้งเยอะแยะนี่คะ   ทำไมคนอื่นเขาถึงไม่มีเรื่องวุ่นวายล่ะ   ถ้าคนของเราวางตัวดีก็คงจะไม่มีเรื่องอะไรทำนองนี้”

คุณวินิจนิ่งฟังคำพูดของธิดาอยู่เงียบๆ   การนิ่งเงียบของท่านบิดาเช่นนี้ ทำให้กิติมารู้สึกหายใจไม่สะดวกนัก   หล่อนฝืนใจทนนั่งอยู่หนึ่งก็ลุกขึ้นบอกว่า

“แต่ถ้าหากว่ากวีเขาจะแต่งให้ได้ และคุณพ่อไม่ขัดข้องละก็   ลูกก็ไม่มีความเห็นอะไรหรอกค่ะ   ลูกจะขึ้นไปหายายกรสักหน่อย   แกอยู่ไม่ใช่หรือคะ ?”

และก่อนที่จะได้รับคำตอบ   กิติมาก็เดินออกมาจากห้องนั้น ตรงขึ้นไปหาน้องสาวข้างบน


กรวิภานิ่งพิงเหยียดยาวอย่างสบายอยู่บนเก้าอี้ยาวในห้อง   บนโต๊ะเล็กข้างกายเกะกะไปด้วยอุปกรณ์ในการแต่งเล็บและขวดยาทาเล็บมากมายหลายสี   เมื่อเห็นพี่สาวเปิดประตูเข้ามา   กรวิภาก็ลืมตาโต   ร้องว่า

“โอ๊....คุณกิติมา มาตั้งแต่เมื่อไรคะ   ทำไมกรถึงไม่ได้ยินเสียงรถล่ะ”

พร้อมกันนั้นหล่อนก็หดเท้าที่เหยียดยาวอยู่นั้นเข้ามาเป็นท่าพับเพียบกรายๆ   ปิดจุกยาทาเล็บขวดที่กำลังทดลองทาลงบนเล็บหนึ่งนั้นเสีย   ยกมือขึ้นเป่าให้เล็บแห้ง

“สีนี้สวยไหมคะ”   กรวิภามองดูเล็บที่ป้ายสีส้มอ่อนเหลือบมุกของหล่อนโดยมิได้สังเกตสีหน้าของพี่สาว   “กรเพิ่งซื้อมาเมื่อวานนี้เอง   เขาว่าเป็นสีที่เพิ่งคิดผสมขึ้นใหม่กรก็เลยลองซื้อมาทาดู”

กิติมามิได้สนใจต่อคำพูดของน้องสาวเลยแม้แต่น้อย   หย่อนกายลงนั่งบนปลายเก้าอี้ตัวเดียวกันกับกรวิภานั่งอยู่แล้วก็เอ่ยขึ้นทันทีว่า

“นี่ ยายกร   รู้หรือเปล่าว่าพี่ชายของเธอ เขาจะแต่งงานกับแม่ลูกสาวอาเวช”

“หรือคะ”   กรวิภาเลิกคิ้ว   “ใครบอกคุณกิติมา”

“คุณพ่อบอกพี่เดี๋ยวนี้เอง”

“อ้อ...นี่คุณพ่อคงจะเรียกตัวคุณกิติมามาเรื่องนี้เอง”   กรวิภาว่า   “ก็ดีแล้วนี่คะ แต่งเสียก็ดี คุณพ่อจะได้สบายใจ   เห็นท่านอยากจะได้หลานปู่นักนี่   แต่ว่าแต่งงานกับคนไหนล่ะคะ   อาเวชมีลูกสาวอยู่สองคนนี่”

“แต่งกับแม่ชลา”

กิติมาพูดด้วยเสียงขุ่นมัว   แต่กรวิภาก็ยังไม่สนใจตามเคย   หล่อนใช้สำลีชุบน้ำยาล้างเล็บบรรจงเช็ดยาที่เพิ่งทาไว้นั้นออก   บ่นว่า

“ไม่เห็นสวยเลย หลงเชื่อเจ้าคนขาย   ให้สายธารไปเสียดีกว่า”

แล้วจึงพูดกับพี่สาวต่อไปว่า

“ก็ดีนี่คะ   คนกันเอง ดีกว่าไปคว้าเอาคนที่เราไม่รู้จักมา   ชลาเป็นคนไม่มีปากเสียงอะไร   แต่ว่า น่ากลัวสายธารคงคลั่งแน่   กรเห็นเขาเครซี่พี่กวีเหลือเกิน   นี่คงยังไม่รู้เรื่องไม่อย่างนั้นก็คงจะแล่นมาที่นี่แล้ว”

“แต่งกับสายธารเสียยังดีกว่า”   กิติมาพูดด้วยเสียงขุ่นๆ   คราวนี้กรวิภาจึงเงยหน้าขึ้นมองอย่างแปลกใจ

“ทำไมล่ะคะ ” หล่อนถาม   “แต่งกับใครก็เหมือนกันนั่นแหละ   กรไม่เห็นแปลกอะไรเลย”

“สายธารแกยังเข้ากับเราได้บ้าง”   กิติมาบอก   “แต่แม่ชลานี้เป็นยังไงก็ไม่รู้ท่าทางพิกล   แล้วก็ยังมีแม่คอยสอนอยู่อีกทั้งคน”

หล่อนฝืนหัวเราะเมื่อเห็นว่ารอยพิศวงยังไม่หายไปจากทางดวงตาของน้องสาว

“สำหรับพี่น่ะไม่เป็นไรหรอกราะ อยู่กันคนละบ้าน   แต่เธอซิจะลำบาก ถ้าพี่สะใภ้เข้ากันไม่ได้ละก็   อยู่บ้านเดียวกัน ถึงยังไง ๆ ก็ต้องพบต้องเห็นกันทุกวัน”

กรวิภายักไหล่   “กรไม่แคร์หรอกค่ะ   ต่างคนต่างอยู่อย่ามาก้าวก่ายกันก็เป็นใช้ได้   ถ้ากรแต่งงาน ก็จะต้องแยกไปอยู่บ้านใหม่เหมือนกัน   ไม่อยู่ที่นี่หรอก”   แล้วก็พูดต่อไปอย่างนึกขึ้นได้ว่า   “เออ...จะต้องเขียนให้กรันต์รู้สักหน่อย   คุณกิติมาทราบหรือเปล่าคะว่า กรันต์กำลังจะกลับมาแล้ว ”

กิติมาสั่นหน้า   ไม่สู้จะสนใจในชายที่น้องสาวกล่าวถึง   หล่อนรู้แต่ว่ากรันต์เป็นชายหนุ่มหน้าตาดีไปเรียนวิชาวิศวกรรมศาสตร์ต่อต่างประเทศด้วยความสามารถของเขาเอง   และน้องสาวของหล่อนมีความสนใจในตัวชายหนุ่มผู้นั้นมิใช่น้อย

“เธอตกลงที่จะแต่งงานกับพ่อคนนั้นแน่หรือ”   กิติมาถาม

กรวิภายิ้ม   “เรายังไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้กันเลย   แต่กรเชื่อว่ากรันต์คงต้องขอกรแต่งงานด้วยแน่ๆ เมื่อเขากลับมาค่ะ”

“เห็นจะจริง”   กิติมาคล้อยตาม   “ถ้าเขาไม่ขอเธอแต่งงานด้วยก็นับว่าโง่เต็มทีละ   หาที่ไหนได้ ผู้หญิงที่ทั้งสวยทั้งรวยอย่างเธอนี่   เออ... ถ้าเธอแต่งงานแล้วแยกไปอยู่บ้านใหม่นี่   ใครจะเป็นคนปลูกบ้าน”

“กรจะขอเงินคุณพ่อปลูกเอง”   กรวิภาตอบทันทีโดยไม่ต้องพักตรึกตรอง   “คุณกิตก็ทราบอยู่แล้วนี่คะว่า กรันต์น่ะจน   พ่อของเขามีลูกหลายคน   ที่ไปเรียนเมืองนอกได้นี่ก็เพราะว่าเขาสอบชิงทุนได้หรอก   ไม่อย่างนั้นก็คงไม่มีปัญญา”

“เป็นบุญของนายคนนั้น”   กิติมาว่า   แล้วก็หวนกลับมาพูดถึงเรื่องที่หล่อนยังมีความขุ่นข้องใจอยู่อีกว่า   “พูดถึงกวี   งานการก็ยังไม่เห็นจับทำอะไร แล้วยังอยากจะแต่งงาน   นี่มิแปลว่าแต่งแล้วจะต้องเกาะคุณพ่ออยู่ตลอดไปยังงั้นหรือ”

“อะไรคะ”   กรวิภาร้อง ทำตาโตมองหน้าพี่สาว   “นี่คุณกิตไม่ทราบหรอกหรือคะ ว่าพี่กวีกำลังจะเปิดสำนักงานที่ตึกใหม่ใกล้ธนาคาร   รับจ้างออกแบบแปลนและแบบโฆษณา   แหม... เขาแต่งสำนักงานเสียสวยหรูเทียวค่ะ   กรแอบไปเห็นเขาเขียนไว้”

“อ้อ...ยังงั้นรึ”   กิติมาทวนคำถาม   “แหม ท่าคุณพ่อคงจะต้องเสียเงินอีกหลายซีนะ   ไหนจะเปิดสำนักงาน ไหนจะแต่งงาน   คงจะหมดหลายแสน”

“กี่แสนก็ไม่เห็นจะแปลกอะไร”   กรวิภาว่า   กิติมาจับไม่ได้ถนัดว่าน้องสาวของหล่อนมีความรู้สึกอย่างไร   “คุณพ่อท่านรวยพอที่จะเนรมิตให้ลูกชายคนเดียวได้ทุกอย่างไม่ว่าอะไร”

“เป็นบุญของแม่ชลา”   กิติมาสรุป

“และเป็นกรรมของสายธาร   ถ้าหากว่าเขารักพี่กวีจริง ๆ”   กรวิภาค่อนในที่สุด


สายธารไม่มีทีท่าว่ารู้เรื่องนี้เลย เมื่อหล่อนมาหากรวิภาหลังจากที่กลับจากที่ทำงานในตอนเย็นวันนั้น   สายธารยังแต่งกายด้วยชุดเดียวกันกับที่แต่งไปทำงานอยู่   แต่มีดวงหน้านวลผ่องด้วยแป้งที่เพิ่งลูบไล้มาใหม่ ๆ   คิ้วเรียบและริมฝีปากสดใส   ความรู้สึกอันเร้นลับในใจที่มีอยู่นั้นสายธารรู้อยู่แต่เพียงคนเดียวว่า เหตุใดหล่อนจึงต้องพิถีพิถันระมัดระวังในเรื่องความสวยงามนักหนาทุกครั้งที่มาที่บ้านนี้   เมื่อหล่อนเห็นญาติสาวนอนอ่านหนังสืออยู่ในห้อง   สายธารก็ร้องว่า

“อ้อ...วันนี้อยู่บ้านหรือ   ไอ้เราก็ค้อย...คอยโทรศัพท์   นึกว่าเขาจะนัดเราไปดูหนังที่ไหนบ้าง   แต่จนเลิกก็ไม่เห็นโทร ไปสักที   เราก็เลยตัดสินใจกลับบ้าน”

หล่อนทรุดกายลงนั่งบนที่นอนหนานุ่มปลายเตียง   กรวิภาเบี่ยงขาไปทางหนึ่งแล้วพลิกกายเป็นนอนพังพาบ   ใช้ริบบิ้นคั่นหนังสือตรงที่อ่านค้างไว้   บอกว่า

“ก็ไม่เห็นหนังมันเปลี่ยนโปรแกรมเลยสักโรงหนึ่งนี่   ไอ้โรงที่ยังไม่ได้ดูก็ไม่เห็นจะน่าสนุก ก็เลยขี้เกียจไป”

“อยู่บ้านเสียบ้างก็ดีเหมือนกัน   คุณพ่อจะได้ชื่นใจ”

“ความชื่นใจของคุณพ่อไม่จำเป็นต้องเป็นฉันหรอก”   กรวิภาว่า   “เวลานี้ท่านมีเรื่องชื่นใจพอแล้ว   คงไม่ได้สังเกตเสียด้วยซ้ำไปว่า วันนี้เราอยู่บ้านหรือเปล่า”

แล้วหล่อนก็หัวเราะ   สายธารขมวดคิ้ว มองดูญาติสาวอย่างไม่เข้าใจ

“เอ๊ะ   แปลว่าอะไร ที่เธอบอกว่าคุณลุงมีเรื่องชื่นใจอยู่มากพอแล้ว   เรื่องอะไรกันหรือ”

“อ้าว”   กรวิภาทำเสียงพิศวง   พร้อมกันนั้นจับตาสังเกตอากัปกิริยาของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งจะบังเกิดขึ้นจากคำพูดต่อไปของหล่อน   “นี่เธอไม่รู้เรื่องอะไรหรอกหรือจ๊ะ สายธาร”

“เรื่องอะไร”   สีหน้าสายธารแสดงความจริงใจว่าเป็นเช่นนั้นจริง   “ฉันไม่รู้เรื่องเลยสักนิดนี่กร”

กรวิภาลุกขึ้นนึ่งขัดสมาธิตามสบายอยู่บนเตียง   หล่อนสะบัดศีรษะซึ่งปกคลุมด้วยเส้นผมที่ยุ่งเหยิง หัวเราะพร้อมกับกล่าวเสียงสนุกว่า

“อะไรกัน   เออแน่ะ แปลกเหลือเกิน   เรื่องในบ้านของตัวเองแท้ๆ ต้องให้คนอื่นเขาบอก”

“เรื่องในบ้านของฉัน”   สายธารยิ่งงงหนักขึ้น   “เอ๊ะ....เรื่องอะไรกันนะ   ฉันไม่เห็นมีเรื่องอะไรนี่   มันก็ ซ้ำๆ ซากๆ กันทุกวัน น่าเบื่อเหมือนจะตาย”

“เออ....นี่เธอไม่รู้จริง ๆ แหละนะ”

กรวิภาหัวเราะ   นึกสนุกที่จะได้เห็นความงุนงงของเพื่อน จึงมิได้เล่าเรื่องทั้งหมดเสียในทันที   คงแย้มออกมาเพียงเล็กน้อยว่า

“ถ้ายังงั้น ฉันจะบอกให้ว่า เมื่อวานนี่ที่คุณพ่อของฉันไปหาอาเวชกับอาละเมียรน่ะ   ท่านมีเหตุ   ไม่ใช่ไปคุยเล่นเฉยๆ”

“เอ๊ะ” สายธารทวนคำอย่างไม่เข้าใจ   “มีเหตุ เหตุอะไรกันจ๊ะ   มีเรื่องอะไรหรือ”

“จะเรื่องอะไร   ก็เรื่องชื่นใจของท่านอย่างที่ฉันว่าน่ะซี   เธอไม่เห็นว่ามันเป็นเรื่องแปลกประหลาดหรือ สายธาร   เธอก็เห็นอยู่แล้วว่า คุณพ่อฉันน่ะ ร้อยวันพันปีไม่เคยก้าวออกไปไกลเกินห้องนอนกับห้องสมุด   แต่เมื่อวานนี้ท่านไปหาอาเวชถึงที่บ้านเทียวนะ   แสดงว่ามันต้องเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งเทียวละ”

“โธ่.....ก็เรื่องอะไรล่ะ”   สายธารมีท่าหงุดหงิดอย่างเห็นได้ชัด   “จะบอกก็ไม่บอก ล่อให้เราอยากรู้อยู่ได้”

“ใจเย็นๆ น่า”   กรวิภาหัวเราะ   “จะบอกอยู่เดี๋ยวนี้แล้วละ   นี่แน่ะ สายธาร   ฉันจะบอกให้ว่าคุณพ่อไปหาอาเวชทำไม   ท่านไปขอลูกสาวอาเวชให้พี่ชายฉันจ๊ะ”

สายธารนิ่งอึ้งไปทันใด   อึดใจต่อมาดวงหน้าของหล่อนก็แดงเรื่อขึ้น   ดวงตาเป็นประกายวาวขึ้นมาแวบหนึ่ง   แต่แล้วก็กลับจางหายไป เปลี่ยนเป็นความสงสัยไม่แน่ใจ   และแล้วในที่สุด ดวงหน้าของหล่อนก็กลับซีดเผือดลง   ดวงตาเต็มไปด้วยความวิตกหวั่นกลัว   หล่อนมองดูเพื่อนสาวอย่างจะถาม แต่ก็ไม่กล้าเอ่ยออกมาเป็นคำพูด   กรวิภาเข้าใจดีว่าสายธารมีความหวาดกลัวต่อคำตอบที่ได้ยินยิ่งนักหล่อนจึงบอกเสียเองว่า

“คุณพ่อไปขอชลาให้พี่กวี   เขาจะแต่งงานกันเร็วๆ นี้แหละ   วันนี้ชลาก็ไม่ได้ไปทำงาน   เขายังมากินข้าวกลางวันกันที่นี่เลย   คุณพ่อยังงี้ปลื้มใจจนหน้าบาน   พูดพลางยิ้มพลางอยู่ตลอดเวลา   ดูเหมือนท่านจะไม่ได้สังเกตเห็นเสียด้วยซ้ำไปว่า ฉันก็นั่งอยู่ที่โต๊ะด้วย”

กรวิภาเล่าแจ้วๆ เรื่อยไปโดยมิได้คำนึงว่าถ้อยคำของหล่อนนั้นจะก่อความรู้สึกประการใดแก่ผู้ฟังบ้าง   สายธารนิ่งอั้น   คำบอกเล่าของกรวิภาเป็นประดุจของมีคมที่ทิ่มแทงดวงใจของหล่อนอย่างไม่ปราณี   กวีจะแต่งงานกับชลา น้องสาวต่างมารดาของหล่อน     สายธารเคยนึกหวั่นอยู่ตลอดเวลา ว่าสักวันหนึ่งอาจจะต้องเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น ซึ่งหล่อนจะยอมให้เกิดไม่ได้   หล่อนจะต้องชักจูงใจให้กวีหันเหมาทางหล่อนให้ได้   แต่ อนิจจา... สายธารไม่คิดเลยว่าเรื่องมันจะรวดเร็วถึงขนาดนี้   รวดเร็วเกินไปจนกระทั่งหล่อนไม่มีโอกาสที่จะได้กระทำตามที่คิดไว้นั้นเลย แม้แต่จะทดลอง

“อ้าว....นั่นจะไปไหนล่ะเธอ”   กรวิภาร้องขึ้นเมื่อเห็นญาติสาวผุดลุกขึ้นยืน   “อะไร มานั่งประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง   คุยกันก่อนซี   เล่าให้ฟังซิว่าวันนี้มีอะไรแปลกๆ เกิดขึ้นที่ที่ทำงานบ้าง   อยู่กินข้าวเย็นด้วยกันก่อนก็ได้นี่นา”

“วันหลังค่อยคุยกันดีกว่า   วันนี้ฉันชักไม่สบายเสียแล้ว”

สายธารตอบแล้วผลุนผลันออกจากห้องไป   กรวิภามองตามอย่างขันๆ   หล่อนยักไหล่เล็กน้อย แล้วจึงทอดตัวลงนอนเหยียดยาวอย่างสบายตามเคย   หยิบหนังสือที่อ่านค้างไว้ขึ้นมาอ่านต่อไป


สายธารก้าวเดินกลับบ้านอย่างรวดเร็ว   มีความรู้สึกอย่างที่เรียกว่าหูอื้อ มีดหน้าและนัยน์ตาลาย     เมื่อเดินผ่านช่องรั้วเข้ามา จะตรงขึ้นเรือน   สายธารก็ได้ยินเสียงหัวเราะสองเสียง   เสียงหนึ่งทุ้มและอีกเสียงหนึ่งสดใสดังประสานกัน มาจากที่หนึ่งซึ่งไม่ไกลนัก   หล่อนหยุดชะงักเหมือนถูกจับกระชากให้หยุด   หันกลับไปทางเสียงนั้นแล้วสายธารก็ได้เห็นภาพที่แสนจะบาดใจเป็นที่สุด

กวีและชลา นั่งอยู่คู่กันที่หน้ากรงไก่งวง     ทั้งสองกำลังช่วยกันป้อนผักสีเขียวสดให้แก่เจ้าลูกไก่งวงตัวน้อยๆ ซึ่งพากันมารุมจิกอาหารอันโอชะ ที่ถูกส่งลอดรั้วตาข่าย   และเจ้าบางตัวคงจะตะกละตะกลามผลีผลามมากเกินไปจนจิกถูกเอานิ้วมือของมนุษย์ที่กำลังป้อนอาหารให้มันนั้นเข้า   จึงเกิดเสียงอุทานอย่างตกใจ และตามด้วยเสียงหัวเราะอย่างขบขันและเอ็นดู   ดูท่าทางคนทั้งสองช่างมีความเพลิดเพลินเสียเหลือเกิน   จนกระทั่งมิได้สังเกตเห็นสายธารผู้กำลังยืนตัวแข็ง   ตะลึงมองดูอยู่ด้วยดวงใจที่กำลังเร่าร้อนและปวดร้าวไปด้วยความริษยาและความหมดหวังเผาผลาญอยู่นั้นเลย

จบบทที่ 26