สุภาว์ ราชินีเรื่องสั้น | |
7 | ทายาทของยายพลอย |
15 | พรานติดแร้ว |
16 | วจีกรรม |
22 | กรรม |
28 | ในฝัน |
29 | แท้กซี่ |
30 | ยายบัว |
31 | ระหว่างกากับหงส์ |
34 | กรรมของสัตว์ |
35 | ชบาแดง |
36 | แดงเพลิง |
38 | เรื่องรักๆ |
39 | เคียงขวัญ |
40 | ผู้พิทักษ์ |
41 | ห้องดำ |
42 | เมืองคนโม้ |
43 | พระเอกของธารี |
44 | เพราะฉันรักเธอ |
45 | กำไล |
50 | กรรมใดใครก่อ |
หน้าที่
1/3 |
ดิฉัน....
พอเริ่มต้นด้วยคำนี้ละก็ เป็นเย็นใจเชื่อแน่ได้เลย ว่าเรื่องที่คุณๆ จะได้อ่านต่อไปนี้ต้องเป็นเรื่องที่ดิฉันเที่ยวไปเก็บตกเอามาจากที่อื่น แล้วเอามาเล่าให้คุณฟังอีกต่อหนึ่ง หรือมิฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่คนอื่นเขาเล่าให้ดิฉันฟัง หรืออีกทีหนึ่ง คนอื่นเขาเล่าให้คนอื่นฟัง แล้วคนอื่นก็เก็บเอามาเล่าให้ดิฉันฟัง หรืออีกทีหนึ่ง... เอาละค่ะ ขืนเขียนไปอีกจะยิ่งยุ่งกันใหญ่ สรุปแล้วรวมความว่า ถ้าดิฉันขึ้นต้นเรื่องด้วยคำว่าดิฉัน ละก็ เป็นอันว่าเรื่องนั้นดิฉันมิได้คิดเขียนขึ้นเอง แต่จำคนอื่นเขามาคุยให้คุณฟังอีกต่อหนึ่ง การคุยแบบนี้น่ะดิฉันชอบนักละ เพราะดิฉันคุยได้คุยเอาฝ่ายเดียว ถึงคุณจะจับได้ว่าดิฉันคุยผิดๆ ถูกๆ จริงบ้างไม่จริงบ้าง คุณก็ขัดคอดิฉันไม่ได้ จริงไหมเล่าคะ? แต่สำหรับเรื่องที่ดิฉันจะคุยหรือเล่าให้ฟังต่อไปนี้นั้น ผู้ที่เขาเล่าให้ดิฉันฟัง เขารับรองว่าผู้ที่เล่าให้เขาฟัง รับรองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความจริงทุกประการ เรื่องมันถูกเล่ากันต่อๆ มาอย่างงี้แหละค่ะ จนกระทั่งคนคุ้นเคยชอบพอกันคนหนึ่งเย้าว่า เรื่องที่ดิฉันเขียนน่ะ ไหงดูช่างเต็มไปด้วยคนช่างพูดช่างเล่าเสียจริง จริง พอเจอหน้าคนไหนเข้า คนนั้นก็ตั้งหน้าตั้งตาเล่าไปเสียอย่างละเอียดลออทีเดียว ดิฉันไม่รู้จะตอบว่ายังไง เพราะคุณคนนั้นเธอเองก็ยังเคยเล่าเรื่องให้ดิฉันฟังเมื่อดิฉันบ่นว่าไม่มีเรื่องจะเขียน และเธอเองก็เล่าได้อย่างละเอียดลออราวกับอ่านบทพากษ์นั่นเทียว แต่เรื่องที่เธอเล่านั้นมันหวาดเสียวสยดสยองเกินไปจนดิฉันเสียวไส้ไม่กล้านำมาเขียนเล่าให้คุณคนอื่นฟังอีกต่อหนึ่ง กลัวคุณจะไม่เชื่อ!
เอาล่ะค่ะ ดิฉันจะเริ่มเล่าเรื่องที่พอจะทำให้คุณเชื่อได้เสียทีละ มันประเดิมเริ่มเรื่องด้วยการพบปะระหว่างดิฉันกับนักเขียนรุ่นน้องคนหนึ่ง พอพบหน้ากัน เขาผู้นั้นก็เริ่มการทักทายด้วยประโยคที่ว่า
“พี่ครับ ผมมีเรื่องจะเล่าให้พี่ฟังเรื่องหนึ่ง”
ดิฉันกำลังเคว้งคว้างควานหาพล็อตอยู่แล้ว พอโอกาสลอยมาหาเช่นนี้ก็รีบตะครุบหมับทันที
“ดีซี ไหน เรื่องอะไรล่ะ ลองเล่าไปทีรึ” ดิฉันพูดแต่ต้องวางท่าเรื่อยๆ ไว้ก่อนตามยุทธวิธีที่ใครก็ไม่รู้เคยสอนเอาไว้ ว่าถ้าอยากจะได้อะไรใจแทบขาดละก็จงอย่าแสดงกิริยาอาการกระตือรือร้นอยากได้ให้ออกมานอกหน้า ให้แกล้งทำเป็นไม่สู้จะแยแสนักเข้าไว้เป็นการวางเชิง อย่าให้เขาจับได้ว่าที่แท้นั้นเราอยากได้จนน้ำลายแทบหยด เพราะคนบางคนชอบทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความประสงค์ของคนอื่นเสมอ
“เรื่องที่ผมจะเล่าให้พี่ฟังนี่น่ะเป็นเรื่องจริงนะฮะ”
“เอาเถอะน่า พี่เชื่อ เล่ามาก็แล้วกัน”
“เขาจึงเริ่มเล่า ดิฉันจึงต้องขอทำความเข้าใจกับคุณๆ เสียก่อนว่า ข้อความที่คุณจะได้อ่านต่อไปนี้นั้น ดิฉันเขียนขึ้นตามที่เขาเล่าให้ดิฉัน (เกือบ) ทั้งสิ้น”
“เมื่อวานนี้ตอนเย็น” เขาเล่า “ผมแวะที่ร้านเจ็กเว้ง ร้านเจ็กเว้งนี่คือร้านกาแฟเล็กๆ ที่ปากซอยจะเข้าบ้านของผม นอกจากขายกาแฟแล้วยังขายเหล้าอีกด้วย มีทั้งเหล้าโรงและแม่โขง ถ้าใครซื้อเหล้ากินถึงสองก๊ง เจ็กเว้งมีแกล้ม เช่นส้มโอบ้าง มะยมดองบ้าง แถมให้ฟรีหนึ่งจานขนาดจิ๋ว หรือถ้าพี่เกิดเสื้อขาด ต้องการด้ายกับเข็ม เจ็กเว้งก็มีขายให้ ถ้าอยากจะปักเสื้อไหมสีต่างๆ ก็ยังมีขาย หรือเกิดไฟดับ หลอดขาด หัวจุ๊บเสีย เจ็กเว้งก็มีอุปกรณ์ในการไฟฟ้าไว้บริการขายให้ครบถ้วนทุกชนิด...”
“เดี๋ยว เดี๋ยว” ดิฉันขัด “นี่เธอรับเป็นโฆษก โฆษณาให้เจ็กเว้งนั่นด้วยรึ หรือว่านี่เป็นเรื่องที่เธอจะเล่าให้พี่ฟัง”
“เปล่าครับ ไอ้เรื่องที่จะเล่านะมันไม่เกี่ยวกับเจ็กเว้งเลย มันเกี่ยวกับคนที่เข้าไปนั่งกินเหล้าในร้านเจ็กเว้งต่างหาก โธ่! พี่ ไม่ใส่ฝอยเสียบ้าง เล่าตรงไปตรงมาเหมือนเอาไม้บรรทัดขีดเส้นมันจะออกรสออกชาดเรอะครับ”
“เอาๆ เล่าต่อไปเถอะ”
“ผมเข้าไปในร้านเจ็กเว้งแล้วก็นั่งลงที่โต๊ะตัวหนึ่ง...”
“อะไร เป็นเด็กเป็นเล็กหัดกินเหล้าแล้วหรือ”
“เปล่าฮะ กินกาแฟ” พอนั่งลงผมก็สั่งโอเลี้ยงมาแก้วหนึ่งแล้วถือโอกาสหยิบถั่วลิสงคั่วในขวดโหลเล็กๆ ที่เขาวางไว้ให้เป็นของแกล้มเหล้าขึ้นมาเคี้ยวเล่นเพลินๆ ขณะนั้น อีตาอะไรคนหนึ่งก็เดินโซเซมาที่โต๊ะผม แล้วเอามือล้วงพรวดเข้ามาในขวดโหลใบเดียวกัน เคราะห์ดีที่ผมเพิ่งชักมือออก ไม่เช่นนั้นอาจเกิดการเสียหาย คือมือผมอาจเจ็บ หรือขวดโหลอาจแตกก็ได้ ตาคนนั้นควานหยิบถั่วลิสงขึ้นมากำหนึ่ง แล้วยัดใส่ปากเข้าไปหมดนั่นทั้งที่ยังไม่ได้ล่อนเปลือกออก เคี้ยวกร้วมๆ แล้วพูดว่า
“ขอแบ่งถั่วกินมั่งนะ ไอ้หลานชาย” แกพูดทั้งๆ ที่ถั่วยังอยู่เต็มปาก กลิ่นเหล้าฟุ้งออกมา “ไอ้เว้งนี่มันยิวฉิบหาย ล่อเหล้ามันเข้าไปตั้งเกือบครึ่งขวด หนอยแน่ะ มันแถมกุ้งแห้งให้แกล้มหน่อยเดียวเท่านั้น แมวกินยังไม่อิ่ม ประเดี๋ยวต้องออกไปกินร้านอื่นต่อ ฉลองกันให้เต็มคราบเลยวันนี้ ตู” (เวลาอ่าน ควรจะอ่านออกเสียงลากๆ ลิ้นไก่สั้นตามแบบที่คนเมาเขาพูดกัน แล้วจะออกรสเห็นจริงเห็นจังมากขึ้น)
ตานั่นแกพร่ำพลางก็โบกมือไปมา แต่แกโบกอีท่าไหนก็ไม่รู้ เสียจังหวะ น้ำหนักไม่สมดุลย์กัน เลยพาเอาตัวแกหมุนกลับ หัวทิ่มหลุนๆ จะล้มลง ถ้าผมไม่รีบลุกขึ้นกะโดดเข้าไปจับเอาไว้
“อุบ๊ะ ไอ้นี่ตูทำอีท่าไหนกันนี่ เมื่อก่อนนี้รำมวยเป็นชั่วโมงๆ ยังไม่มีล้ม ขอบใจนะหลานชาย ขอบใจ ไปก่อนละ ไปหาเหล้ากินฉลองที่ร้านอื่นก่อน ไอ้เว้งมันงกฉิบ...ไปกินที่อื่นดีกว่า”
“กินอีกจะไหวเรอะลุง” ผมถาม “เดี๋ยวหาทางกลับบ้านไม่ถูกนา บ้านอยู่บางซื่อ เผ่นเดินไปถนนตกละแย่เชียว นั่งลงก่อนเถอะน่า คุยกันก่อนประเดี๋ยวค่อยไป”
“เฮ่ย ม่ายด๊าย” แกว่า “ลุงจะต้องฉลอง ต้องฉลองในโชคของลุง รู้ไม้ไอ้หลานชาย”
“งั้นก็ฉลองเสียที่นี่อีกก็แล้วกัน ฉันเลี้ยงลุงเอง” ผมบอกอย่างใจป้ำ เพราะเพิ่งเบิกค่าเรื่องมาหยกๆ แกจะกินสักเท่าไรเชียวสะเงาะสะแงะขนาดนี้แล้ว ล่อแม่โขงหรือรวงทองเข้าไปอีกสักกั๊กหนึ่งก็ขี้คร้านหมอบ
“เอาแม่โขงหรือรวงทองล่ะลุง” ผมถาม
แกเซแซ่ดๆ ทิ้งตัวแปะลงบนเก้าอี้โดยแรงจนเก้าอี้โยก “อ๊าย ม่ายเป็นเรื่อง แม่โขงหรือรวงทองมันอ่อนไป คออย่างนี้มันต้องเหล้าโรง เฮ้ย อ้ายเว้ง เอาเหล้ามาอีก หลานชายเขาจะเลี้ยง ขอกุ้งแห้งมากินมากๆ หน่อยนะโว้ย อย่ายิวให้มันมากนัก”
เจ็กเว้งเดินหน้าบอกบุญไม่รับ เอาเหล้าโรงมาวางไว้ให้อีกครึ่งขวดพร้อมด้วยถ้วยแก้วและจานใส่กุ้งแห้ง
“เลี้ยงมันทำอะลายให้เสียเงิน” เจ็กเว้งว่ากับผม
“เออน่า” ผมว่า “ว่าแต่ลุงคนนี้บ้านแกอยู่ไหนก็ไม่รู้ เผื่อแกหมอบไปจะได้เอาแกไปส่งบ้านถูก”
“ส่งมันทำละอาย” เจ็กเว้งบอก “ประเดี๋ยวมันเมาหมอบไป เมียมันก็มาลากหูมันกลับไปเอง มันมาเมาอยู่ที่นี่เสมอๆ แหละ บ้านมันอยู่ในซอยถัดไปนี่แหละ”
“เฮ่ย อย่าพูดมาก” ตานั่นเอ็ด “กลับไปที่ที่ของเอ็งเถอะโว้ย พูดมากชิบ...” แล้วแกก็ยกเท้าป่ายเปะปะไปที่ก้นของเจ็กเว้ง ทำให้เจ้าของร้านรีบถอยหนี เดินทำปากหมุบหมิบบ่นพึมพำกลับไปนั่งที่เคาน์เต้อตามเดิม
“ต้องฉลอง ต้องฉลอง” ตานั่นว่าพลางรินเหล้าใส่แก้ว ลงแก้วบ้างหกบ้างจนผมต้องช่วย “ต้องฉลองให้โชคเสียหน่อย”
“ลุงมีโชคดีอะไร เล่าสู่กันฟังบ้างซี”
“เฮ่ย โชคดีมหาศาล หลานชายรู้มั้ย ลุงได้รับมรดกจากญาติผู้ใหญ่ ฮ่า ฮ่า โชคดีชิบ..เลย”
“ดีซีลุง ฉันดีใจด้วยนา ได้รับเมื่อไหร่ล่ะ มรดกนั่นน่ะ มากไหมลุง”
“ได้รับมาซักสี่เดือนได้แล้ว”
“อ้าว แล้วไงเพิ่งมาฉลองเอาเดี๋ยวนี้ล่ะ”
“เฮ่ย เอ็งไม่รู้อะไร ลุงฉลองมันเรื่อยมาทุกวันนั่นแหละ” แกว่าพลางรินเหล้าดวดเข้าไปอีกกรุ๊บหนึ่ง คว้ากุ้งแห้งใส่ปากตามเข้าไปอีกสามสี่ตัว เคี้ยวตุ้ยๆ อย่างเอร็ดอร่อย “แต่วันนี้ต้องฉลองเป็นการใหญ่ ฮ่า ฮ่า เป็นลุงของลุงเอง ที่ยกมรดกให้ลุงน่ะ แกขี้เหนียวชิบ-เลย ลุงต้องเลี้ยงฉลอง”
“ฉลองที่ลุงของลุงขี้เหนียวน่ะเรอะ” ผมถามด้วยความสงสัย
“งั้นซี พุธโธ่ หลานชายไม่รู้อะไร”
“ฉันจะไปรู้ได้ยังไงกันล่ะ ลุงของลุงไม่ใช่ลุงของฉันนี่ ลุงเล่าให้ฉันฟังซี ฉันจะได้รู้เรื่องบ้าง”
“เออ เออ เล่าก็ได้ ลุงเป็นคนมีความกตัญญูตารู้ไม้ หลานชายเลี้ยงเหล้าลุง ลุงก็ต้องเล่าเรื่องให้ฟัง ว่าแต่จะฟังเอาไปทำไม”
“เอาน่า ลุงเล่าไปเถอะ ฉันอยากฟังก็แล้วกัน” ผมตัดบท ในใจน่ะนึกว่าถ้าเรื่องของแกแปลก มีอะไรดีๆ ก็จะเก็บมาเขียนหาทรัพย์เข้ากระเป๋าเสีย
“เอาๆ อยากฟังก็เอา เอาเรื่องลุงกับป้าจอมขี้เหนียวที่แกทิ้งมรดกไว้ให้ลุงนี่แหละนะ”
สองคนตายายนี่ แกไม่ได้อยู่ที่กรุงเทพฯ นี่หรอก แกอยู่ที่ปากน้ำโพ เมืองนครสวรรค์นั่นแน่ะ ขึ้นชื่อว่าตาโป๋กับยายปริกละก็ ที่จะไม่มีใครรู้จักละเป็นไม่มี ตาโป๋คนนี้ แกมีแพเล็กๆ ยื่นลอยออกไปในแม่น้ำ ขายของชำ คล้ายเจ็กเว้งนี่แหละ แต่แกมีของขายมากกว่าเจ้าเว้งหลายเท่านัก มีตั้งแต่พริก หอม กะเทียม กะปิ น้ำปลา ไปจนกระทั่ง เสื่อ มุ้ง และของสำหรับถวายพระก็ยังมี ข้างหลังแพเป็นเรือนเล็กๆ เตี้ยตะเหมะแขะเกือบติดดิน ซึ่งแกอาศัยเป็นที่อยู่ เรือนหลังนี้มีห้องอยู่ห้องเดียว ห้องที่มีไม้ตีรอบมิดชิดหน่อย คือห้องที่แกนอนกันสองคนตายาย ส่วนห้องนอกที่หันออกสู่ถนนซึ่งแกใช้เป็นที่เอนหลัง เหยียดแข้งเหยียดขา กินข้าวกินปลา ตลอดจนเก็บสินค้าบางชนิดนั้น แกใช้ไม้ไผ่ผ่าซีก ตีขัดกันเป็นตารางโปร่งๆ ไว้ทั้งสิ้น ทั้งนี้มันก็เนื่องจากความขี้เหนียวของแกนั่นเอง นอกจากเรือนหลังนี้แล้ว แกยังมีโอ่งดินเผาเต็มไปหมด ไม่รู้ว่ากี่สิบใบวางเรียงกันแน่นอยู่บนดินหลังบ้านนั่นเอง
แกอยู่ด้วยกันเพียงสองคนเท่านั้น ไม่มีลูกหลานอยู่ด้วย เพราะตาโป๋แกมีหลานอยู่คนเดียว คือลุงนี่แหละ แม่ของลุงเป็นน้องสาวของแก ส่วนยายปริกนั้นแกตัวคนเดียว พ่อแม่ของแกถูกโจรมันเข้าปล้นฆ่าตายหมด ส่วนตัวแกหนีโจรลงไปแอบอยู่ใต้กอบัวในสระเลยรอดมาได้ แต่ก็หมดตัวน่ะแหละ เพราะพอมันฆ่าเสียเรียบ มันก็เลยเอาน้ำมันราด จุดไฟเผาช่วยฌาปนกิจเสียให้เรียบร้อยไปเลย ป้าปริกแกเลยต้องเร่ร่อนเซซังเข้ามาหาอาชีพเป็นลูกจ้างเขาที่ในเมือง ก็เลยมาพบลุงโป๋และเกิดชอบพอกันเข้า ก็เลยตกร่องปล่องชิ้น ร่วมหอลงโรงอยู่ด้วยกัน
ถ้าหากว่าป้าปริกเป็นผู้หญิงอื่นก็คงจะอยู่กับลุงโป๋ไม่ได้ หรือถ้าลุงโป๋เป็นคนอื่นก็คงจะอยู่กับป้าปริกไม่ตลอด ค่าที่แกทั้งสองมีความตระหนี่เหนียวแน่นเป็นอย่างเลอเลิศด้วยกัน ทั้งคู่เผอิญโชคดีที่มาจับคู่กันได้อย่าง พอเหมาะพอเจาะไม่มีคู่ใดเหมือน ทีนี้แกเลยช่วยกันขี้เหนียวกันยกใหญ่ จนขึ้นชื่อลือชาไปทั้งเมือง ไอ้ลุงเองก็เคยลิ้มรสมาแล้วละ หลานเอ๊ย ไอ้เรื่องความเหนียวแน่นของแกนี่ ตอนนั้นลุงว่างงาน ไอ้ลูกเต้าลุงหรือก็มากมายหลายคนทำท่าว่าจะอดตายไปตามๆ กันหมด ลุงไม่รู้จะหันหน้าไปหาใครนึกได้ว่ายังมีลุงโป๋ ซึ่งเป็นลุงแท้ๆ อยู่อีกคนหนึ่งที่ปากน้ำโพ ก็เลยรวบรวมหาสตางค์ค่ารถ เที่ยวเรี่ยรายขอทานจากเพื่อนฝูงเขาบ้างคนละบาทสองบาท รับจ้างเขาทำงานเล็กๆ น้อยๆ บ้าง พอเก็บเงินไว้ได้พอเป็นค่ารถ ลุงก็ขึ้นรถไฟไปหาแกที่ปากน้ำโพ คิดว่าจะขอเงินมาทำทุนค้าขายบ้างสักนิดหน่อย
เห็นหน้าลุงเข้า แต่แรกแกก็ดีอกดีใจทักทายอยู่หรอก แต่พอลุงบอกแกว่าจะมาขอพักอยู่ด้วยสักสองสามวันเท่านั้น แกก็หยุดยิ้มทันที บอกว่า
“ไอ้เวร นี่จะมาทำให้กูหมดเปลืองไม่เป็นเรื่องละซี ข้าวปลาอาหารสมัยนี้น่ะมันแพงลิบลิ่วไม่เหมือนสมัยก่อนนะโว้ย ข้าจะเอาที่ไหนมาเลี้ยงดูเอ็งตั้งสองสามวัน รูปร่างอย่างเอ็งยังงี้กินข้าวมื้อหนึ่งคงตั้งครึ่งลิตร แล้ววันนึงเอ็งก็คงต้องกินตั้งสามมื้อ เอ็งอยู่สามวันกินข้าวตกเข้าไปตั้งห้าลิตร แล้วยังกับข้าวอีกล่ะ”
“ฉันกินกับไม่เปลืองหรอกลุง” ลุงบอกกับแก “กับข้าวไม่ต้องหลายอย่างก็ได้ มื้อหนึ่งปลาทูตัวหนึ่งก็พอ”
“ไอ้ระยำ” แกค่าโขมง “เอ็งแดกปลามื้อละตัวเทียวเรอะ แต่กูกินกันสองคนผัวเมียยังวันละตัวเดียวเท่านั้น เอ็งกินล้างกินผลาญยังงี้กูจะเอาอะไรมาเลี้ยงเอ็งหวาดไหว”
“โธ่ ลุง ฉันขอพักอยู่กับลุงเพียงสองสามวันเท่านั้นแหละน่าแล้วก็จะกลับ ที่ฉันยอมเสียค่ารถขึ้นมานี่น่ะ เพราะคิดว่าจะมายืมเงินลุงกะป้าไปลงทุนทำมาค้าขายสักร้อยสองร้อยเทียวนา”
“ร้อยสองร้อย! ฉิบหายแล้ว เองจะมาทำให้ข้าฉิบหายแล้ว ข้าจะเอาเงินที่ไหนมาให้ตั้งร้อยสองร้อย แต่ข้านั่งหลังขดหลังแข็งขายของทั้งวันตั้งครึ่งค่อนเดือนยังไม่ได้ร้อยหนึ่งเลย แล้วเอ็งมาทำอะไรให้ข้ามั่ง หน่อยแน่ร้อยวันพันปีไม่เคยมาทำอะไรให้ พอโผล่หัวมาเท่านั้นแหละจะมาเอาเงินกูไปถลุงเสียตั้งร้อยสองร้อย กลับไปเถอะไป๊ กูไม่ให้ของกูหรอกสักสตางค์แดงเดียว”
“ฉันไม่กลับหรอก” หมดท่าเข้าลุงเลยต้องเล่นไม้ดื้อ “เงินฉันไม่มีพอขึ้นรถกลับ ถ้าลุงอยากให้ฉันกลับลุงก็ต้องออกค่ารถให้ฉัน”
“ข้าไม่ให้” แกตวาดแว้ด “ข้าไม่ได้เชื้อเชิญให้เอ็งมา เอ็งมาเองได้เอ็งก็ต้องกลับไปเองได้”
“ถ้างั้นฉันก็ไม่กลับ ฉันอยู่ที่นี่ให้ลุงเลี้ยงฉันดีกว่า”
“ข้าไม่เลี้ยง” แกร้องเอ็ด “เอ็งขืนอยู่เอ็งก็อดตายเปล่า ข้าไม่เลี้ยงเอ็งให้เปลืองข้าวสุกข้าหรอก”
“ถ้าลุงไม่เลี้ยงฉันๆ จะเที่ยวบอกให้ใครๆ เขารู้ให้หมดเมืองทีเดียว” ลุงสิ้นท่าเลยต้องยอมตกนรกใช้ไม้ขู่กับแก “ปลัดอำเภอกะฉันก็รู้จักกันดี คิดดูซิว่าใครเขาจะนึกอย่างไรที่หลานแท้ๆ อุตส่าก์บากหน้ามาหา แล้วลุงกลับขับไล่ไสส่งทั้งๆ ที่ฉันเองก็บอกกับลุงตามตรงว่าฉันกับลูกๆ ซึ่งเป็นหลานของลุงกำลังจะอดตายอยู่แล้ว ลองคิดดูให้ดีนะลุงว่าคนอื่นเขาจะคิดกันยังไง”
“เอ็งไม่ต้องมาขู่ข้า”
“ไม่รู้ละ ลุงควรจะคิดดูให้ดี ถ้าอยากจะทำมาค้าขายที่นี่ต่อไป คิดดูว่าเมื่อใครๆ เขารู้จักนิสัยของลุงว่าโหดร้ายใจไม้ไส้ระกำแม้กับหลานในไส้แท้ๆ อย่างฉันนี่แล้ว เขายังจะซื้อของของลุงอยู่อีกหรือ ถ้าไม่มีใครซื้อของลุงแล้วลุงจะทำยังไง”
“ข้าก็ไม่ง้อ” แกว่า แต่เสียงอ่อนลงถนัดใจ ลุงเลยรู้ว่าไม้ขู่ของลุงได้ผล สองคนตายายหันหน้าเข้าปรึกษากันงุบงิบ แต่ไม่วายหันมาชำเลืองค้อนลุงเป็นหลายครั้ง แล้วในที่สุดแกก็หันมาบอกกับลุงว่า
“เอาเถอะ ข้อจะยอมออกค่ารถให้เอ็งกลับบางกอก...”
“ค่ากินกลางทางด้วย” ลุงได้ท่าเลยล้มทับแกเสียเลย “นั่งรถไปตั้งวันถ้าไม่ได้กินอะไรฉันก็หิวตายน่ะซี”
“ไอ้นี่จะทำให้ข้าล่มจมให้ได้” แกบ่นแล้วพูดอย่างตัดใจว่า “เอาวะ ค่ากินด้วยก็ได้ แต่เอ็งต้องสาบานต่อหน้าพระดังๆ ให้ข้าได้ยินก่อน ว่าต่อไปเอ็งจะไม่มากวนข้าอีก เออ แล้วก็ ถ้าเอ็งมีเงินมีทองต่อไปละก็เอ็งต้องส่งเงินที่ข้าจะให้เอ็งไปนี่มาใช้ให้ข้า”
ลุงเห็นว่าถ้าจะอิดเอื้อนโยกโย้ต่อไปละก็จะพาล อดเอาเลย จึงได้ยอมตกลงทำสัญญากับแกตามนั้น แกบ่นตะปอดตะแปดไปอีกนานกว่าจะงุบงิบไปหยิบเงินมาส่งให้ลุง ตั้งแต่คราวนั้นแล้ว ลุงก็ไม่ได้ขึ้นไปหาแกอีกเลยจนกระทั่งแกตาย
ลุงโป๋กับยายปริกนี้ ใครๆ ในปากน้ำโพย่อมรู้ดีว่าแกร่ำรวยมหาศาล ถึงแม้แกจะบอกเสมอๆ ว่าแกจน แต่เขาก็รู้กันอยู่ว่าแกพูดไม่จริง เพราะนอกจากแพขายของชำของแกแล้ว แกยังมีเรือกลไฟหรือที่เขาเรียกกันว่าเรือโยงอีกสองลำ รับจ้างเขาลากเรือข้าวหรือแพอีกด้วย นี่แน่ะ หลานชาย ด้วยความขี้เหนียวของแกนั่นแหละ แม้แต่ธงเรือแกก็ไม่ยอมซื้อผ้ามาเย็บ แกบอกว่าใช้ผ้ามันแพงนัก แล้วยังขาดได้ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ อีกด้วย แกเลยใช้แผ่นสังกะสีทำเป็นผืนธง แล้วทาสีเอา บอกว่ามันทนดี นานเท่าไรๆ ก็ไม่มีขาด เป็นไง เห็นแล้วยังล่ะว่าแกขี้ตืดขนาดไหน
“แล้วทำไมแกถึงได้ตายล่ะลุง” ผมชักออกรู้สึกสนุกในเรื่องที่แกเล่า
“แกก็ตายเพราะถึงที่ตายน่ะซี” ตาดูตอบเล่นลิ้น เติมเหล้าลงไปในกะเพาะ ส่งกุ้ง???ตามก่อนจะเล่าต่อไปว่า
“ลุงโป๋กับป้าปริกนี่แกเป็นเนื้อคู่กันแท้???ที่เขาเรียกว่าบุพเพสันนิวาสเทียวนา ความคิดความเห็นของแกดูช่างสอดคล้องกันไปหมด แม้กระทั่งจะตายก็ยังตายพร้อมๆ กัน ปลัดอำเภอ???รู้จักกันกับลุงเล่าให้ฟังว่า วันที่แกจะตาย??? แกปิดแพขายของของแกเรียบร้อยแล้วก็อาบน้ำอาบท่ามานั่งเตรียมตัวจะกินข้าว ตามธรรมดาแกมักจะกินข้าวเย็นเอาเกือบยามหนึ่ง??? เพราะจะต้องปิดแพขายของให้เรียบร้อยเสียก่อน”
คืนนั้น ขณะที่แกกำลังนั่งเปิบข้าวอยู่นั้น ก็มีเสียงคนไปยื่นร้องเรียกแกอยู่ที่ประตูบ้านว่า
“ลุงโป๋ ลุงโป๋ เปิดประตูให้หน่อยซี”
“ใครนั่นน่ะ” แกร้องถามพลางมองออกไป แต่มองไม่เห็นเพราะแกอยู่ในที่สว่างข้างนอกมืดมาก แต่คนข้างนอกเห็นแกได้ชัดเพราะฝาบ้านของแกตีขัดเป็นตาโปร่งๆ อย่างที่บอกแล้ว แกจึงเลื่อนตะเกียงมาใกล้มองดู “ใคร.. จะเอาอะไรกลางค่ำกลางคืน”
“ฉันเองจ้ะลุง” เสียงนั้นร้องตอบ “นายอำเภอท่านให้มาซื้อเหล้ากับบุหรี่จะเอาไปรับแขก”
เมื่ออ้างชื่อนายอำเภอแกก็จำเป็นต้องร้องบอกไปว่า “งั้นเรอะ เข้ามาซี” แล้วก็ลุกเดินไปเปิดประตูเรือน พอประตูเปิดออกเท่านั้น เ สียง ปัง! ก็ดังสนั่นขึ้น ลุงโป๋ “โอ๊ย” ออกมาได้คำเดียวก็ซวนกายล้มคว่ำลงจมจานข้าวที่แกยังกินค้างอยู่นั้น ข้าวหกกระจาย เมื่อเสียงปืนลั่นขึ้นอีกเปรี้ยงหนึ่งป้าปริก ซึ่งยังคงนั่งตะลึงจังงังตัวสั่นงันงกอยู่กับเหตุการณ์ที่อุบัติขึ้นอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวก็คว่ำเข้าเม่าลงอีกคนหนึ่ง กับข้าวมื้อนั้น คือน้ำพริกถ้วยหนึ่งหกคว่ำ ปลาทูที่มีอยู่เพียงตัวเดียวกระเด็นตกออกไปจากชาม
ผู้ร้ายสามคนที่ขึ้นปล้นสองตายายบุกเข้าค้นกันยกใหญ่ มันพยายามค้นหาที่เก็บเงินของแกด้วยความหวังที่จะได้พบเงินทองเป็นหีบๆ แต่หลังจากที่มันค้นแล้วค้นเล่า ค้นเสียจนกระทั่งเข้าของกระจุยกระจายไปทั่วทั้งที่แพและในห้องนอนของแก ทั้งหมดที่มันค้นพบก็คือเงินสดซึ่งมีเพียงสิบเจ็ดบาทกับอีกเศษสตางค์อีกไม่กี่สตางค์ พอดีชาวบ้านใกล้เคียงเขาเอะอะกันขึ้น มันเลยต้องกระโจนน้ำหนีไป
“แล้วเขารู้วิธีการที่มันจะปล้นได้ยังไงล่ะลุง” ผมซัก “คนร้ายมันหนีไปหมดแล้วอย่างนี้”
ตาลุงหัวเราะเอิ้กอย่างชอบใจ “มันหนีไปไม่หมดน่ะซี เจ้าคนหนึ่ง คงจะเจ็บใจมากที่ลงมือปล้นทั้งทีแล้วไม่ได้อะไร มันเลยไม่ยอมหนี เที่ยวรื้อเข้ารื้อของอยู่เหมือนคนบ้า แล้วมันก็เอาหัวชนฝาโครมๆ อยู่จนกระทั่งคนเขาขึ้นไปจับมันได้ มันเลยรับสารภาพแล้วเล่าเรื่องราวและวิธีปล้นตลอดจนแผนการให้ฟังจนหมดไส้หมดพุง ไอ้เจ้าอีกสองคนที่หนีไปได้น่ะ เขากำลังออกตามจับกันวุ่นอยู่ เวลานี้ได้ข่าวว่ามันหนีขึ้นไปอยู่ในพวกแม้วเงี้ยวอะไรนั่นแน่ะ”
“ลุงเป็นญาติคนเดียวลุงก็เลยรับมรดกเปรมไปเลยซินะ” ผมว่า แกพยักหน้า
“เปรมไปเลย ลุงขายมันเกลี้ยงไปตั้งแต่วันแรกที่จะขายได้แล้วละ เรือแพขายหมดเอามันไว้ทำไม”
“แล้วเงินสดเล่าลุง ได้มาเท่าไหร่ กี่ล้าน?” ผมกระเซ้าแก ตาลุงร้องว่า
“ได้กะผีอะไร” แกพยักหน้าหงึกหงักหัวเราะหึๆ อยู่ประเดี๋ยวหนึ่งแล้วก็ทำหน้าเฉย แล้วทันใดนั้น แกก็กลับฟุบหน้าลงกับท่อนแขนที่พาดอยู่บนโต๊ะ ร้องไห้สะอึกสะอื้นเป็นการใหญ่เล่นเอาผมงงไป
“อ้าว เป็นอะไรไปเล่าลุง กินเหล้าฉลองโชคอยู่ดีๆ แล้วไงเกิดร้องไห้ร้องห่มเสียอกเสียใจอะไรขึ้นมา”
“ไอ้บ้านเวรหลังนั้นน่ะซี ฮือ ฮือ ไอ้เราค้นหาจนทั่ว แน่ใจว่าไม่มีเงินซ่อนอยู่ที่ไหนแล้วก็เลยขายเขาไป ที่นี้เมื่อสองสามวันมานี้เขาจะปลูกบ้านใหม่ เขารื้อบ้านเก่าออก ฮือ ฮือ พวกเขาขุดดินเลยรู้กันว่าที่แท้ ไอ้ขุมทรัพย์ที่หากันเป็นวักเป็นเวรนั้นมันซ่อนอยู่ในดินใต้อ่างที่แกตั้งเรียงไว้นั่นเอง ลุงโป๋แกใส่ตุ่มฝังดินไว้เป็นแถวๆ แบ๊งค์งี้แกซ้อนกันไว้เป็นปึกๆ เต็มตุ่ม เงินเหรียญสมัยเก่าแกก็มัดไว้เป็นตั้งๆ อีกตั้งตุ่ม แล้วยังเครื่องเงินเครื่องทองที่แกรับจำนำเขาไว้อีกล่า ไม่รู้จักกี่ตุ่มต่อกี่ตุ่มกัน ฮือ ฮือ”
“อ้าว เขามาพบเข้าทีหลังยังงี้สมบัตินั้นก็ต้องตกเป็นของเขาซีนะ ลุง”
ตาลุงแกไม่ตอบว่ากระไร นอกจากก้มหน้าลงร้องไห้สะอึกสะอื้นต่อไป ผมจึงค่อยๆ ลุกขึ้นยืน มองดูแกพลางส่ายหัวอย่างปลงอนิจจัง กรรมของสัตว์! ผมนึกในใจ ย่องมาจ่ายเงินให้เจ็กเว้ง แล้วก็เลี่ยงออกมาจากร้าน ปล่อยให้ตาลุงแกนั่งร้องไห้ฉลองโชคของแกต่อไปคนเดียว
เขาหยุดเล่า แล้วบอกกับดิฉันว่า “นี่ไงครับเรื่องมันมีอยู่เท่านี้แหละ พี่เอาไปเขียนซี”
“เรื่องก็ดีนี่ แล้วทำไมเธอไม่เขียนเอง?”
เขาสั่นศีรษะ “ผมเขียนไม่เป็นหรอก เรื่องทำนองนี้พี่เขียนก็แล้วกัน”
เขาว่าแล้วก็ลุกขึ้นเดินไปทางอื่น
กรรมของสัตว์! ดิฉันนึกขณะที่มองตามหลังเขาไป
........เคยลงพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์