สุภาว์ ราชินีเรื่องสั้น | |
7 | ทายาทของยายพลอย |
15 | พรานติดแร้ว |
16 | วจีกรรม |
22 | กรรม |
28 | ในฝัน |
29 | แท้กซี่ |
30 | ยายบัว |
31 | ระหว่างกากับหงส์ |
34 | กรรมของสัตว์ |
35 | ชบาแดง |
36 | แดงเพลิง |
38 | เรื่องรักๆ |
39 | เคียงขวัญ |
40 | ผู้พิทักษ์ |
41 | ห้องดำ |
42 | เมืองคนโม้ |
43 | พระเอกของธารี |
44 | เพราะฉันรักเธอ |
45 | กำไล |
50 | กรรมใดใครก่อ |
หน้าที่
1/3 |
ข้าพเจ้า ยืนอยู่ที่หน้าต่างบนเรือนไม้กระดานหลังย่อมซึ่งเป็นสมบัติเก่าแก่ที่คุณพ่อได้รับเป็นมรดกตกทอดมาจากคุณย่า เป็นสถานที่ที่เราเรียกกันว่า บ้านสวน เพราะข้างหลังบ้านออกไปนั้น เป็นสวนผลไม้นานาชนิดซึ่งล้วนแล้วแต่ออกดอกออกผลงอกงาม ตามฤดูกาลทั้งสิ้น เมื่อคุณปู่เสียแล้วนั้น คุณย่าได้ย้ายจากบ้านใหญ่ในพระนครมาอยู่ที่บ้านสวนนี้จนกระทั้งสิ้นชีวิต เมื่อข้าพเจ้ายังเล็กอยู่นั้น คุณพ่อมักจะต้องถูกโยกย้ายไปต่างจังหวัดเสมอ และคุณแม่ก็ต้องติดตามไปด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นการสะดวกต่อการเล่าเรียนของ ข้าพเจ้าซึ่งเป็นลูกคนเดียว ท่านก็เลยฝากข้าพเจ้าให้เป็นนักเรียนประจำเสียเลย โดยที่วันเสาร์อาทิตย์และทุกครั้งที่โรงเรียนปิดเทอม คุณย่าจะรับข้าพเจ้าจากโรงเรียนมาค้างกับท่าน ที่บ้านสวนนี้ โดยมีนายม้วน ลูกชายป้าแม้น ต้นห้องของคุณย่า เป็นผู้จัดการไปรับและส่งเป็นประจำ จนกระทั่งคุณพ่อและคุณแม่ยุติการโยกย้ายมาตั้งหลักมั่นอยู่ในกรุงเทพฯ แล้วนั่นแหละ ข้าพเจ้าจึงได้ออกจากสภาพนักเรียนประจำมาอยู่กับท่านที่บ้าน จึงเลยทำให้การไปมาหาสู่คุณย่าของข้าพเจ้าลดลงไปโดยปริยาย คุณย่าท่านก็ยังคงมีแต่ป้าแม้น และนายม้วนเท่านั้น ที่ดูแลรับใช้ด้วยความซื่อสัตย์ตลอดมาจนสิ้น แต่คุณพ่อก็มอบหมายให้ป้าแย้มและนายม้วนลูกชายยังคงอยู่ดูแลบ้านและสวนอยู่ต่อไป นานๆ เราจึงจะมาดูและค้างคืนกันเสียสักครั้งหนึ่ง
บ้านสวนนี้ตั้งอยู่ริมคลองเล็ก ซึ่งตัดซอยออกมาจากคลองใหญ่อีกที่หนึ่ง หน้าต่างบานที่ข้าพเจ้ายืนอยู่นั้นหันออกสู่คลอง ซึ่งขณะนั้นยังไม่สู้จะมีเรือผ่านไปมานัก เพราะยังเป็นเวลาเช้าตรู่ มีแต่หมอกบางๆ เป็นสายลอยพาดเป็นทางยาวอยู่เหนือพื้นน้ำ ตรงข้ามกับบ้านสวนนั้นเป็นลานดินโล่งๆ แคบๆ ติดกับเรือนหลังใหญ่หลังหนึ่ง มีคูเล็กๆ ขุดผ่านลานนี้เข้าไปในสวนข้างหลัง เมื่อข้าพเจ้ามาบ้านสวนครั้งหลังสุด ยังจำได้ว่าตรงลานดินนั้น ยังคงมีเพิงเล็กๆ ที่จวนจะพังมิพังแหล่หลังหนึ่งตั้งอยู่ เพิงหลังนั้นประกอบเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ด้วยเศษไม้เก่าๆ กับสังกะสีผุๆ ไม่กี่แผ่น มองดูแทบจะไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นที่อยู่ที่อาศัยของมนุษย์คนใดได้ แต่อย่างไรก็ตาม มันก็ได้เป็นที่ที่มนุษย์คนหนึ่งได้ใช้เป็นที่พักอาศัยซุกหัวนอนหลบแดดและหนีฝนมาเป็นเวลานานนับสิบปี มนุษย์คนนั้นเป็นบุคคลผู้น่าสงสารยิ่งซึ่งข้าพเจ้ารู้จักแกว่าชื่อ ยายบัว
แต่บัดนี้ เพิงปุปะของยายบัวได้ปลาสนาการไปข้างไหนเสียแล้ว คงเหลือแต่เพียงเศษสังกะสีเก่าๆ แผ่นหนึ่งหรือสองแผ่นกองอยู่เท่านั้น หายไปแม้แต่สะพานเล็กๆ ที่ทอดยื่นออกมาริมน้ำ อันเป็นที่ที่ ข้าพเจ้าเคยเห็น ยายบัวแกนั่งอยู่ตรงนั้นเป็นประจำ
ยายบัว ตามประวัติของแกที่ข้าพเจ้ารู้จักเป็นบุคคลที่น่าสงสารยิ่งนัก ป้าแม้นและนายม้วนซึ่งได้อยู่ที่บ้านสวนนี้มานานก่อนข้าพเจ้าได้เล่าให้ฟัง ว่า เมื่อก่อนนี้ บนลานดินนั้นแทนที่จะเป็นเพิงปุปะอย่างที่เห็น กลับเป็นเรือนฝากกระดานย่อมๆ หลังหนึ่งซึ่งยายบัวแกอาศัยที่ของญาติเขาปลูกอยู่กับลูกสาว ชื่อแม่มะลิ ยายบัวแกทั้งรักทั้งหลงแม่มะลิลูกสาวคนเดียวของแกคนนี้เป็นนักหนา ไม่ว่าแม่มะลิจะทำอะไร แกต้องเห็นว่าถูกน่ารักน่าเอ็นดูไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง
“ยายบัวแกหลงลูกสาว เสียอย่างจะเป็นบ้า” ป้าแม้นเล่า “แกเที่ยวคุยอวดใครต่อใครเขาว่าในกระบวนสาวๆ ในคลองนี่แล้ว ลูกสาวของแกเป็นคนหน้าตาดี สวยสมคมขำกว่าเพื่อนทีเดียว แกจะต้องหาผัวขุนนางให้ลูกสาวแกให้จงได้”
ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นแม่มะลิเมื่อสาวๆ แต่ได้เคยเห็นเมื่อหล่อนมีอายุมากแล้ว เป็นหญิงร่างใหญ่ หน้าดุและมีผิวสีเนื้อเป็นสีเกือบเหมือนกาแฟที่ยังมิได้ใส่นม ยังเคยคิดพิศวงอยู่ในใจว่าแกช่างชื่อมะลิเข้าไปได้ยังไงลงคอ เป็นมะลิชนิดไหนก็ไม่รู้กันซี
“พอลูกสาวของแกเติบโตเป็นสาวขึ้นมา ยายบัวแกก็จัดการส่งตัวเข้าไปอยู่ที่กรุงเทพฯ” ป้าแม้นเล่า “แกเที่ยวมาคุยให้ใครๆ เขาฟังว่าลูกสาวแกได้ไปอยู่ที่บ้านขุนนางเก่าผู้หนึ่งซึ่งเขาเลี้ยงดูลูกสาวแกราวกับลูกของเขาเองทีเดียว แต่ไม่มีใครเขาเชื่อแกสักคน เพราะมีคนไปแอบรู้มาว่าที่แท้เขาเอาลูกสาวแกไปเป็นคนรับใช้ ติดสอยห้อยตามลูกสาวของเขาเท่านั้นเอง”
ลูกสาวแกหายหน้าไปจากคลองนี้นานนักหนา นานๆ จึงจะนั่งเรือเข้ามาเยี่ยมแม่สักครั้งหนึ่ง เมื่อมีคนถามว่าเดี๋ยวนี้ลูกสาวแกเป็นอย่างไรบ้าง ยายบัวก็จะร้องออกมาว่า
“โอ๊ย เดี๋ยวนี้เขาสบายมั่งมีศรีสุขไปแล้วละย่ะ ผัวเขามีรถยนต์คันออกจะโตขับตั้งสองคันสามคัน”
แต่ก็อีกนั่นแหละ กำแพงมีหูประตูมีช่อง ยังอุตส่าห์มีคนไปแอบรู้มาจนได้ว่าที่แท้นั้น ลูกเขยของแกก็เป็นเพียงคนขับรถบรรทุกคนหนึ่งเท่านั้น นอกจากนั้นยังเป็นนักเลงใหญ่ซึ่งถ้าเป็นในสมัยนี้แล้ว เป็นมีหวังถูกรวบในข้อหาอันธพาลอีกด้วย ยิ่งกว่านั้น แม้แต่การที่แกแอบงุบงิบเอาเงินที่แกเก็บหอมรอมริบไว้ จากการที่พายเรือเที่ยวเร่ขายผลไม้และขายของสดแห้งเล็กๆ น้อยๆ ให้ลูกสาวไป ก็ยังมีคนไปแอบเห็นเขาจนได้อีกเช่นกัน
พอแก่ตัวเข้า ดวงตาของยายบัวก็เริ่มฝ้าฟางลง แกไปให้หมอตรวจดูเขาก็บอกว่าแกเป็นต้อ ต้องลอกจึงจะหาย และแน่ล่ะ การที่จะให้หมอทำการลอกตานี้ต้องใช้เงินจำนวนไม่ใช่น้อย ยายบัวแกจึงกลุ้มอกกลุ้มใจเป็นหนักหนา แต่แกสู้ทนเก็บไว้ไม่บอกให้ใครรู้เพราะมีบางคนบอกกับแกว่า
“ยายก็ ลูกสาวเขามั่งมีเงินทองก็ขอให้เขาช่วยออกเงินค่ารักษาให้ซี แม่ทั้งคนนี่นา”
“ถ้าฉันจะทำตาจริงๆ เขาก็คงออกให้ละจ้ะ” ยายบัวแกว่า “แต่เขาน่ะเขาไม่เชื่อว่ามันจะลอกได้ เขากลัวว่าหมอจะทำตาฉันบอดเสียเปล่าๆ ไอ้ฉันก็เลยเกิดกลัวขึ้นมาบ้าง”
แต่พอมีใครบอกว่าที่ไหนมีหมอดีๆ สามารถรักษาตาได้โดยไม่เรียกร้องค่ารักษาแพงๆ แล้ว ยายบัวแกก็จะซมซานไปเที่ยวกราบไหว้ขอให้เขารักษาตาให้แก แต่การรักษานั้นๆ ก็มิได้เป็นผล ตาของยายบัวมืดมัวลงทุกวันจนกระทั่งแกไม่อาจที่จะพายเรือขายของไปอีกต่อไป ความกลัดกลุ้มทำให้แกหงุดหงิด จนเกือบจะเข้าขีดคลุ้มคลั่ง หนักๆ เข้าแกก็ถึงกับนั่งบ่นเพ้อเจ้ออยู่คนเดียว จนกระทั่งใครๆ เขาหาว่าแกเป็นบ้า จึงมีคนรู้จักกันนำข่าวนี้ไปบอกกับลูกสาวแก
“เมื่อวันที่นังมะลินั่งเรือมารับแม่เขาน่ะนะครับ เอ้อเฮอทองแดงงี้ครื่ดเต็มตัวไปเลย” นายม้วนบอก
“เขาพาแม่เขาลงเรือไปด้วยกัน บอกว่าจะพาแม่ไปรักษาตัวที่กรุงเทพฯ ชาวบ้านเขาก็โมทนาสาธุด้วย พอยายบัวไปแล้วไม่กี่วันแม่มะลิเขาก็พาคนมารื้อบ้าน บอกว่ารื้อขายมันไปเสียเลย เพราะแม่เขาจะไม่กลับมาอยู่อีกแล้ว ใครๆ เขาก็พลอยดีใจไปด้วยกับยายบัว คิดว่าคราวนี้แกจะได้พ้นความลำบากไปมีความสุขสบายเสียที แล้วต่อมาก็ไม่มีใครนึกถึงแกกันอีก
แต่แล้ว จู่ๆ โดยที่ไม่มีใครคาดฝัน อีกสองปีต่อมา วันหนึ่งยายบัวแกก็กลับมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อแกก้าวขึ้นจากเรือนั้นไม่มีใครจำแกได้ เพราะยายบัวเมื่อตอนจากไปยังไม่ชราจนดูสง่อม ผมเผ้าขาวโพลนตาลึกตากลวงถึงขนาดนี้ เสื้อผ้าที่สวมใส่มานั้นเล่าก็ดูเก่าปอนมีรอยขาดวิ่น ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นยายบัวจนกระทั่งได้ยินเสียงแกร้องตะโกนขึ้นว่า
“นี่บ้านช่องเรือนชานของข้ามันปาฏิหาริย์หายไปข้างไหนกันหมดล่ะเว้ย ไอ้คนไหนมันมาข่มเหงน้ำใจรื้อบ้านของข้าไป”
แกตะโกนซ้ำๆ ซากๆ พลางเต้นอยู่ผางๆ จนกระทั่งเพื่อนบ้านใกล้เคียงพากันแตกตื่นออกมาดู รวมทั้งญาติของแกเองซึ่งเป็นเจ้าของที่ที่แกอาศัยปลูกบ้านอยู่นั้นด้วย พอเขาเห็นแกถนัดตา เขาก็ร้องออกมาด้วยความประหลาดใจว่า
“อ้าว นึกว่าใคร ที่แท้ก็ป้านั่นเองแหละ กลับมาที่นี่อีกทำไมล่ะ นึกว่าไปอยู่ที่กรุงเทพฯ กับแม่มะลิเขาเป็นสุขสบายไปแล้วเสียอีก”
“อ้อ แล้วเอ็งก็เลยรื้อเรือนกูขายเสียเลยงั้นซี ถุย กูไม่ยอมหรอก ต้องมาปลูกใช้กูเทียวนะ”
“อ๊ะ อ๊ะ ไม่ใช่ฉันหรอกที่รื้อเรือนของป้าขายไปน่ะ ลูกสาวของป้าเองแหละ พอเขารับตัวป้าไปได้สักสองสามวัน เขากับผัวเขาก็พาคนมารื้อ เขาว่าป้าจะไม่กลับมาอยู่แล้วก็เลยรื้อขายไปเสีย”
พอได้ยินเช่นนั้น อย่าบัวก็นั่งแผละลงที่โคนต้นไม้ นิ่งอึ้งไปทันที ไม่พูดไม่จาว่ากระไร น้ำใสๆ ไหลออกมาจากดวงตาที่ขาวขุ่นจนเกือบจะไม่เห็นตาดำแล้วทั้งสองข้าง แต่แกก็หยุดตะโกนหยุดด่าไปเป็นปลิดทิ้ง
ในที่สุด เมื่อเห็นว่าแกทำท่าจะไม่ไปจากที่นั่นจริงๆ แล้ว เพื่อนบ้านเขาก็เลยช่วยกันเอาเศษไม้ที่เหลือๆ อยู่นั้นมาปะติด ปะต่อ ตอกเข้าเป็นเพิง พอมีฝามีหลังคากันแดดกันฝนให้แกได้อาศัยหลับนอนไปวันๆ
“แล้วลูกสาวแกไม่มา เยี่ยมเยียนบ้างเลยเทียวหรือ” ข้าพเจ้าซักนายม้วน ก็ได้รับคำตอบว่า
“ก็มาเหมือนกันแหละครับ ปีหนึ่งมันจะมาสักสองหนละมั้ง มาทีก็เอาข้าวสารมาทิ้งไว้ให้สักถัง แล้วก็หายหัวไปเสียนาน มาอีกทีก็เอาเงินมาหยอดไว้ให้อีกสักยี่สิบสามสิบบาท ทั้งๆ ที่ตัวมันเองแต่งทองแดงครื่ดไปหมด แล้วก็หายเงียบไปอีก ดูเถอะคุณ แม่มันคนเดียวมันยังทำได้ถึงเพียงนี้ เชื่อผมเถอะ คนอย่างนี้ไม่มีวันเจริญไปได้ตลอดรอดฝั่งหรอก”
“แล้วยายบัวแกว่ายังไงบ้างล่ะ นายม้วน”
“โอ๊ย แกจะว่าอะไรกันครับ แกรักลูกสาวของแกทูนหัวทูนเกล้า ใครไปว่าลูกสาวของแกให้ได้ยิน แกก็จะแก้แทนเป็นครอกไปทีเดียว ลูกสาวเอาอะไรมาให้ทีหนึ่งก็คุยอวดเขาสามบ้านแปดบ้าน”
ข้อนี้เป็นความจริง เพราะข้าพเจ้าเองก็เคยเห็นได้ยิน เมื่อข้าพเจ้าพอจะจำความได้และมาอยู่กับคุณย่านั้นก็เห็นยายบัวแกเข้าพำนักพักพิงอยู่ในเพิงเล็กนั้น แล้วก็หาเลี้ยงชีพไปวันหนึ่งๆ ด้วยการไปรับจ้างนวดเขาตามบ้าน ซึ่งเขาก็ตอบแทนค่าแรงงานของแกด้วยเงินบ้าง ด้วยอาหารบ้าง บางทีก็เครื่องนุ่งห่ม คุณย่าก็ยังเคยรับแกมาให้นวดให้ท่านบ่อยๆ คราวหนึ่งข้าพเจ้าได้ยินท่านถามแกว่า
“แม่บัว ลูกสาวเขาก็มั่งมีเงินทอง เขาไม่ช่วยเหลือจุนเจือ หยิบยื่นให้เราใช้บ้างหรอกเรอะ เราถึงต้องหาเลี้ยงตัวเองงกๆ ทั้งแก่ๆ อย่างนี้”
“อุ๊ย ทำไมเขาจะไม่ให้เจ้าคะ แต่ดิฉันน่ะมันคนไม่ชอบอยู่เฉยๆ เจ้าค่ะ อยู่ว่างๆ เฉยๆ ไม่มีอะไรจะทำแล้วมันกลุ้มใจ เมื่อเร็วๆ นี้เขามาก็ยังให้ได้เก็บเข้าพกเข้าห่อไว้เลยเจ้าค่ะ”
เมื่อเร็วๆ นี้ของแกนั้น คุณย่าบอกกับป้าแม้นว่าที่ท่านเห็นแม่มาลิมาครั้งสุดท้ายนั้น ประมาณครึ่งปีเห็นจะได้แล้ว ข้าพเจ้าปรารภกับนายม้วนว่า “ก็ลูกสาวเขารับไปอยู่ด้วยแล้ว แกไม่ควรจะหนีเขากลับมาเสียนี่นา ถึงยังไงๆ ก็คงจะสบายกว่าต้องมาอยู่คนเดียวอย่างนี้ นี่เวลาเจ็บไข้ใครจะดูแลแก”
นายม้วนหัวเราะก้ากบอกว่า “นางมะลิมันรับแกไปอยู่กับมันเมื่อไหร่ล่ะครับ คุณ ก็ที่มารับไปนั่นน่ะ มันว่าแม่มันเป็นบ้านะครับ มันเลยหลอกเอาไปส่งโรงพยาบาลบ้าเสียเลย ไปรู้มาทีหลังทั้งนั้น เขาว่ายายบัวแกคลั่งใหญ่ทีเดียวเมื่อรู้ตัวว่าถูกหลอก เลยถูกจับนัตถุ์ยาเสียสบายไป ข้างนังลูกสาว พอส่งแม่เข้าโรงพยาบาลไปแล้วก็มาทางนี้ จัดแจงรื้อบ้านรื้อช่องขายเอาเงินไปเล่นไพ่เสียเลย”
ด้วยเหตุนี้ ยายบัวจึงได้เป็นบุคคลที่น่าสงสารที่สุดที่ข้าพเจ้าเคยพบ ทุกครั้งที่ข้าพเจ้ามองเห็นแกงกๆ เงิ่นๆ ก้าวลงเรือที่เขาพายมารับแกไปเที่ยวนวดให้เขาตามบ้านนั้น ข้าพเจ้าอดรู้สึกสลดใจมิได้ คราวหนึ่งคุณแม่กับคุณพ่อย้ายกลับมาจากต่างจังหวัด และนำของฝากมากราบเท้าคุณย่า มีทั้งผ้าพื้นเมืองและอาหารของแห้งมากมาย ด้วยความสงสาร คุณย่าจึงแบ่งของเหล่านี้ให้ยายบัวไปบ้างอย่างละเล็กละน้อย ด้วยความหวังจะให้แกได้กินได้เก็บไว้ใช้ แต่อยู่ไปนานๆ เข้าเมื่อไม่เห็นแกเอาออกมาใช้ ท่านคิดว่าแกคงเก็บไว้เพราะมีความเสียดาย ท่านจึงกระตุ้นแกว่า
“แม่บัว ผ้านุ่งที่ฉันให้ไปน่ะ ทำไมไม่เอาออกมานุ่งล่ะ อย่าเอาเก็บไว้เลยประเดี๋ยวตัวขึ้นจะเสียหมด อย่าเสียดายเลย เอาออกมานุ่งเถิด ถ้าขาดแล้วฉันจะให้อีก”
ยายบัวแกเงยหน้าขึ้นตอบท่าน อย่างยิ้มแย้มแจ่มใสว่า “ขออภัยเถิดเจ้าค่ะ คุณนาย อิฉันให้นังหนูไปเสียแล้ว มันเห็นเข้าเกิดชอบใจว่าแปลกดี อิฉันก็เลยให้มันไป ของสวยของงามสมควรแก่คนอายุน้อยๆ อย่างมันเจ้าค่ะ อิฉันแก่แล้ว ผ้าเก่าๆ ขาดๆ อะไรก็นุ่งได้”
“อ้อ แล้วก็ปลาแห้งปลาเค็มอะไรนั่นด้วยเล่า ขนให้เขาไปเสียด้วยอีกล่ะซี” คุณย่าว่า ซึ่งแกก็รับว่า
“เจ้าค่ะ ก็ท่านให้มาออกมากมายก่ายกอง อีฉันปากเดียวท้องเดียว รับประทานเข้าไปก็วันละนิดๆ เท่านั้น จะเก็บไว้ทำไมเจ้าคะให้ราขึ้นหนอนขึ้นเปล่าๆ สำหรับตัวอิฉันเองน่ะแก่แล้ว เที่ยวขอทานเขากินวันละมื้อก็พอเหลือแหล่แล้วเจ้าค่ะ นังหนูมันก็มีลูกมีเต้า อิฉันเลยให้มันไปหมด”
คุณย่าท่านเลยต้องถอนใจ ต่อมาท่านเลยต้องใช้วิธีใหม่ เมื่อท่านจะให้ผ้านุ่งแก่ยายบัว ท่านก็สั่งให้ป้าแม้นเอาเศษผ้าปะลงไปบนเนื้อผ้าดีๆ นั้นเสียก่อนแล้วจึงให้แก บอกว่าเป็นผ้าปะ หูตายายบัวแกไม่ดี แกนึกเอาว่าเป็นผ้าปะจริงๆ นั่นแหละแกจึงได้ใช้ผ้าผืนนั้น เรื่องอาหารการกินก็เช่นเดียวกัน ถ้าท่านอยากจะให้แกได้ลิ้มรสอาหารอร่อย ท่านก็จะสั่งนายม้วนให้พายเรือข้ามไปรับแกมา แล้วจัดการให้แกกินเสียให้เสร็จสิ้นเรื่องไปเลยทีเดียว
เมื่อก่อนนี้ ถ้าข้าพเจ้ายืนอยู่ที่หน้าต่างบานนั้น ภาพที่ข้าพเจ้าได้เห็นเสียจนชินตา ก็คือภาพของสังขารอันล่วงชราของยายบัวนั่งก้มๆ เงยๆ อยู่บนสะพานน้ำ ผมสีขาวโพลนของแกมองเห็นได้ถนัดแม้ในระยะไกล เมื่อแกไม่มีงานนวด สิ่งที่แกทำเป็นประจำก็คือออกมานั่งที่สะพานน้ำนั้น พลางก้มลงเอามือไปควานในน้ำ เมื่อพบอะไรเข้า เป็นต้นว่ามะพร้าว กิ่งไม้ หรือแม้แต่สวะ แกก็จะดึงเอาขึ้นมาตากแดดไว้ เก็บเอาไว้เป็นเชื้อไฟสำหรับหุงหาอาหาร แต่เพราะเหตุที่ตาแกไม่สู้ดีนี่เอง บางทีแกก็ไปคว้าเอาสิ่งที่ไม่น่าจะคว้าขึ้นมาบ่อยๆ และมีอยู่คราวหนึ่ง ขณะที่แกผ่ามะพร้าวเพื่อจะเกรียกให้เป็นเศษเล็กเศษน้อยทำฟืนหุงข้าวนั้น แกฟันผิดไพล่ไปฟันเอามือตัวเองเข้า ปังใหญ่จนนิ้วแทบขาด ร้อนถึงเพื่อนบ้านต้องช่วยกันพาตัวไปส่งโรงพยาบาลเป็นเจ้าละหวั่น
ยายบัวมีเชื้อไฟสำหรับหุงหาอาหารอย่างเหลือเฟือ เพราะชาวสวนในคลองนั้นทำสวนมะพร้าวเสียโดยมาก จึงมักจะมีเปลือกมะพร้าวที่เขาปลูกแล้วบ้าง มะพร้าวเหลือคัดบ้าง ลอยเข้ามาให้แกคว้าได้บ่อยๆ บางทีก็เป็นมะพร้าวอ่อนที่เขาสอยร่วงตกน้ำบ้าง เหนือที่อยู่ของแกไปหน่อยนั้นมีโรงเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าว เมื่อเวลาที่เขาจะราไฟ คนงานจะชักฟืนทั้งดุ้นๆ ที่ลุกโพลงอยู่ในเตาออกโยนลงคลอง และฟืนเหล่านี้แหละ น้อยดุ้นนักที่จะรอดพ้นจากมือยายบัวไปได้ เพราะเหตุที่ขนาดของมันใหญ่พอจะเห็นได้หน่อย แม้ว่าจะลอยห่างออกไปจนสุดเอื้อม แกก็จะพยายามตะเกียกตะกายหาไม้ต่อมือเขี่ยมันเข้ามาหาจนได้ คราวหนึ่งข้าพเจ้าเห็นแกพยายามขะเย้อแขย่ง จะเก็บฟืนท่อนหนึ่งจนกระทั่งเสียหลักหัวปักตูมลงไปในน้ำ พอโผล่ขึ้นมาได้แกก็ตะโกนด่าเสียงขรม หาว่าใครคนหนึ่งแอบมาผลักแกลงไป เพราะต้องการจะแย่งฟืนท่อนนั้น
นี่คือยายบัวที่ข้าพเจ้าเคยรู้จัก ยายบัวที่ตาบอดตาใส ยายบัวที่งกๆ เงิ่นๆ เที่ยวรับจ้างเขานวดเพื่อหาเลี้ยงชีพไปวันหนึ่งๆ ยายบัวที่มีสติไม่สู้จะดีนัก นั่งเพ้อพล่ามพูดจ้ออยู่คนเดียว และยายบัว ที่ถึงจะเป็นอะไร และอย่างไรก็มีความรักลูกของแกอย่างสุดหัวใจ
แม้ว่าจะได้จากบ้านสวนไปนาน ชีวิตที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน อึกทึกครึกโครมในกรุงเทพฯ และการตั้งหน้าตั้งตาขะมักเขม้นดูตำราเรียนในมหาวิทยาลัย จะทำให้ข้าพเจ้าลืมยายบัวไปอย่างสนิท แต่เมื่อกลับมาอยู่บ้านสวนอีกวาระหนึ่ง แม้จะชั่วระยะเดียวสำหรับการพักผ่อน แต่เมื่อได้ยืนอยู่ที่หน้าต่างบานนี้ ซึ่งเคยมองออกไปเห็นเพิงปุปะของยายบัว และตัวแกซึ่งนั่งก้มๆ เงยๆ อยู่ที่สะพานน้ำ แต่มาบัดนี้ สิ่งที่ข้าพเจ้าเคยมองเห็นจนชินตาและจำได้นั้น ได้ปลาสนาการไปสิ้นแล้ว ก็เป็นเพราะธรรมดาอยู่เองที่ข้าพเจ้าจะอดนึกไม่ได้ว่า บ้านสวนซึ่งเคยอบอุ่น สงบและร่มเย็นนั้นดูเหมือนจะมีอะไรขาดๆ ไปไม่เหมือนเมื่อก่อน
“กาแฟครับ” เสียงดังขึ้นทางเบื้องหลังข้าพเจ้า เมื่อหันกลับไปก็เห็นนายม้วนยกถาดใส่ถ้วยกาแฟร้อนควันขึ้นฉุยมาวางไว้ให้บนโต๊ะเขียนหนังสือ นายม้วนผู้ซึ่งเมื่อก่อนนี้ ในสายตาข้าพเจ้า เป็นเพียงชายหนุ่มร่างบางๆ คนหนึ่ง แต่มาเดี๋ยวนี้กลับเป็นชายกลางคนที่มีผิวกร้านเกรียม ข้อลำล่ำสัน ท่าทางสมเป็นชาวสวนโดยแท้ อดไม่ได้ที่จะเย้าเขาว่า
“แหม นายม้วน นุ่งกางเกงแล้วคาดผ้ายี่โป้แบบนี้ ดูท่าทางทะมัดทะแมงสมเป็นชาวสวนจริงนะ แล้วยังเดาะกินหมากเสียอีกเล่า”
“พุทโธ่ คุณ” นายม้วนหัวเราะชอบใจ “อยู่กับสวนก็ต้องเป็นชาวสวนซีครับ หมากพลูเราปลูกเองกลัวอะไร ก็คุณเล่า” เขามองดูข้าพเจ้าตลอดร่างอย่างชื่นชม “เมื่อก่อนนี้นะ คุณย่ายอมให้รับกาแฟเมื่อไหร่ เดี๋ยวนี้เป็นหนุ่มแล้ว นี่คิดจะมีคุณผู้หญิงกับเขาบ้างหรือยังเล่าครับ”
“ยังหรอก นายม้วน เอาไว้ให้เรียนจบได้รับปริญญาเสียก่อนค่อยคิด นายม้วนล่ะอยู่ทำไมตัวคนเดียวจนป่านนี้”
“เนื้อคู่ผมยังไม่เกิดนี่ครับ ฮ่า ฮ่า เป็นยังไงครับ เมื่อคืนนอนรู้สึกแปลกที่ไหม”
“แปลกอะไรหลับเป็นตายเสียด้วยซ้ำ บ้านเคยอยู่มาตั้งแต่เล็กแต่น้อยนี่นา บางทีเผลอไปคิดว่าคุณย่าท่านยังอยู่ห้องข้างๆ นี้ด้วย เออ นายม้วน มาบ้านสวนคราวนี้รู้สึกอะไรผิดตาไปอย่างหนึ่ง”
“ไม่ใช่ที่นี่ ที่โน่นน่ะ เพิงยายบัวแกหายไปไหนเสียล่ะ มาเมื่อคราวก่อนนี้ยังอยู่นี่นะ
”“อ๋อ ยายบัวน่ะรึครับ แกไม่ได้อยู่ที่นี่นานแล้วละครับ”
“ทำไมล่ะ ลูกสาวเขารับไปอยู่ด้วยหรือ”
“รับกะห... อะไรกับมัน พระยายมน่ะซีครับ มารับแกไป”
“อ้าว แกตายแล้วหรือ ยายบัวน่ะ”
“ตายแล้วครับ เผาจี่ไปเรียบร้อยแล้ว”
“แกเป็นอะไรตาย”
“เรื่องมันเป็นยังงี้ครับ คุณก็เคยรู้เคยเห็นอยู่แล้วว่ายายบัว แกชอบคอยดักเก็บฟืนที่พวกคนงานโรงน้ำตาลเขาโยนลงน้ำมา ทีนี้วันหนึ่งเขาโยนดุ้นใหญ่ลงมา แต่ไฟมันยังไม่ดับสนิท มันดับแต่ตรงด้านล่างที่ถูกน้ำเท่านั้น ด้านบนยังติดไฟอยู่ แต่ยายบัวหูตาแกไม่เห็น ตะปูมตะปามคว้ามันเข้าให้ ไฟมันเลยนาบเอาทั้งมือทั้งแขนเป็นแผลแหวอะหวะไป ชาวบ้านเขารู้กันว่าแกถูกไฟลวกแต่ไม่รู้ว่าแกเป็นอะไรมาก ต่อเมื่อเห็นแกเงียบหายไปอยู่สองสามวันจึงได้เปิดประตูเข้าไปดู ที่ไหนล่ะครับ คุณ แผลแกอักเสบลามขึ้นมาจนเน่าไปทั้งแขนแล้ว ไข้กำลังขึ้นสูงแกกำลังปะแหง็บๆ จะตายมิตายแหล่อยู่ทีเดียว เขาก็เอะอะกันขึ้น จะให้ไปตามนางมะลิมา แหม คุณครับ ตั้งแต่เกิดมา เรื่องรักลูกล่ะก็ต้องยกไว้ให้ยายบัว ทั้งๆ ที่จะตายอยู่รอมร่ออย่างนั้นเถอะ ยังมีแรงสั่งห้ามเขาไม่ให้ไปบอกให้ลูกรู้ “ประเดี๋ยวนังหนูมันจะตกอก ตกใจ”
“ตกลงลูกสาวแกก็เลยไม่ได้เห็นใจแม่ล่ะซี นายม้วน”
นายม้วนหัวเราะหึๆ ไม่รู้ว่าหัวเราะเพราะอะไร
“ผู้ใหญ่บ้านยืนอยู่ด้วยตอนยายบัวกำลังจะตาย” นายม้วน เล่าต่อ “ผู้ใหญ่สวดนังมะลิเสียงขรมจนยายบัวแกได้ยิน แกเรียกผู้ใหญ่เข้าไปใกล้ บอกว่า “ผู้ใหญ่อย่าว่านังหนูมันเลยค้า ถ้ามันรู้มันคงมา อิฉันห้ามไว้ไม่ให้บอกมันเอง”
แล้วแกก็ตายไปพร้อมความรักลูกที่ยังคงมีอยู่เต็มเปี่ยมหัวใจเช่นเคย พวกชาวบ้านก็เลยรื้อเอาเพิงของแกนั่นแหละครับ ออกมาต่อเป็นโลงใส่ศพยกไปวัด จัดการเผาจี่กันเรียบร้อยไปเลยในวันนั้น”
“อ้าว ทำไมไม่เก็บศพเอาไว้ให้ลูกเขาทำล่ะ”
“พุทโธ่” นายม้วนร้องอย่างดูถูก “เก็บเอาไว้ให้นังมาลิน่ะเรอะครับ เสียเวลา ก็แค่คนเขาไปตามให้มาดูใจแม่มัน มันยังไม่มา เขาไปตามนะครับ แต่เขาไม่ได้บอกให้ยายบัวรู้เท่านั้น กลัวว่าถ้าแกรู้ว่าไปตามแล้วลูกไม่ยอมมาแกจะเสียใจ ผมก็ไปตามกับเขาด้วย ยังได้ยินมันพูดมากะหูเลย ว่า จะเป็นจะตาย จะจัดการยังไงก็จัดการกันเข้าเถอะ อย่าให้คนตายมายุ่งกะคนเป็นเลย มันยังติดธุระเกี่ยวกับเรื่องเงินเรื่องทองไปไม่ได้หรอก”
นี่คือยายบัว ที่ข้าพเจ้าเคยรู้จัก แม้ว่าแกจะเป็นเพียงคนเล็กๆ กระจอกงอกง่อย ไร้ความหมาย แม้แต่สำหรับลูกของแกเอง แต่สำหรับตัวข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกว่าไม่เป็นการเสียหลายเลยที่ได้รู้จักแก รู้เรื่องราวความเป็นมาของแก
และเชื่อแน่ว่าข้าพเจ้าจะไม่มีวันลืมแกเลยตลอดชีวิตของข้าพเจ้า
จากนิตยสาร ศรีสัปดาห์ ฉบับที่ 388 พ.ศ.2502