สุภาว์ ราชินีเรื่องสั้น | |
7 | ทายาทของยายพลอย |
15 | พรานติดแร้ว |
16 | วจีกรรม |
22 | กรรม |
28 | ในฝัน |
29 | แท้กซี่ |
30 | ยายบัว |
31 | ระหว่างกากับหงส์ |
34 | กรรมของสัตว์ |
35 | ชบาแดง |
36 | แดงเพลิง |
38 | เรื่องรักๆ |
39 | เคียงขวัญ |
40 | ผู้พิทักษ์ |
41 | ห้องดำ |
42 | เมืองคนโม้ |
43 | พระเอกของธารี |
44 | เพราะฉันรักเธอ |
45 | กำไล |
50 | กรรมใดใครก่อ |
หน้าที่
1/3 |
“เฮ้ บรรณาธิการหนุ่มโสด ร่างสมาร์ทอยู่หรือเปล่าวะ”
ชายร่างสันทัด ผิวขาว หน้าตาท่าทางบ่งบอกถึงความรื่นเริง อันมีอยู่เป็นนิจจนเป็นนิสัยร้องถามแกมหัวเราะ ขณะที่ผลักบังตาเข้าไปในห้องสี่เหลี่ยมค่อนข้างแคบ ซึ่งมีชายสองคนกำลังนั่งสนทนากันอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเห็นหน้ากันถนัด ชายผู้มาใหม่ก็ออกอุทานว่า “อ้าว มาอยู่ที่นี่เองแหละหรือ พ่อพวงมาลัยมะริกา”
“ไอ้บ้า” ชายที่นั่งอยู่บนเก้าอี้ข้างโต๊ะกล่าวรับคำทักทาย พร้อมกับลดขาซึ่งมีช่วงค่อนข้างยาวซึ่งเขาพาดไว้กับขอบโต๊ะในท่าสบายนั้นลง ส่วนชายอีกคนหนึ่ง รูปร่างอ้วนเตี้ยผิวเนื้อดำคล้ำศีรษะค่อนข้างเถิก ซึ่งนั่งอยู่หน้าโต๊ะตัวใหญ่ซึ่งรกเลอะเทอะไปด้วยกระดาษต่างๆ กัน ทั้งขนาด และรูปร่างวางสุมกันอยู่เป็นกองๆ จนแทบจะไม่เห็นหน้าคนนั่ง ได้ชี้มือไปยังเก้าอี้อีกตัวหนึ่งแล้วบอกว่า
“นั่งซีแก วันนี้จะเอาสินค้าอะไรมาลงโฆษณาอีกละ นายห้าง”
“อยากจะให้แกช่วยประกาศหาเลขานุการให้สักคนหนึ่ง” ผู้มาใหม่นั่งลง
“อ้าว เลขาเก่าของแกไปไหนเสียล่ะ คุณบุญยงน่ะ เขาเป็นคนเก่าแก่มาตั้งแต่ครั้งพ่อแกไม่ใช่หรือ”
“อยู่ คุณบุญยงยังคงอยู่ แต่แกแก่ งุ่มง่ามทำอะไรไม่ค่อยทันใจ จะพิมพ์หนังสือสักฉบับก็ตั้งชั่วโม ง แล้วอีกอย่างหนึ่ง แกเป็นผู้ใหญ่ อั๊วจะใช้อะไรแกจุกจิกก็เกรงใจ”
“ได้เลขานุการใหม่แล้วแกจะเอาคุณบุญยงไปยัดใส่ลิ้นชักไหนไว้ล่ะ หรือจะให้แกออก”
“เฮ่ย พูดเป็นบ้า ให้ออกได้หรือ แกทำงาน มานานตั้งยี่สิบปี ตั้งแต่เป็นเสมียนมาจนกระทั่งได้เป็นเลขานุการ ความผิดแกก็ไม่มี ; ขืนให้ออกอั๊วก็โดนสวดยับเท่านั้น แล้วก็มีหวังห้างล้มเพราะคนอื่นคงจะเข้าแถวเดินออกจากห้างกันไปเป็นแถวๆ สมัยนี้น่ะ การไล่คนงานออกเป็นปัญหาที่ยุ่งยากไม่ใช่เล่นนาแกนา เกือบเท่าๆ กับศึกหยดน้ำผึ้งกลางเมืองทีเดียว”
“เออ เออ ว่าแต่แกต้องการเลขานุการชนิดไหนล่ะ อายุมากน้อยสักเท่าใด เอาระดับความรู้ความสามารถสักแค่ไหน บอกมาซิ กันจะจดเอาไว้”
“อายุควรไม่เกิน ๓๕ โสด พิมพ์ดีดได้คล่องทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ร่างจดหมายโต้ตอบได้ แล้วก็ พร้อมที่จะรับใช้ดูแลทุกข์สุขของนายจ้างได้ทุกโอกาส”
มือที่กำลังจับดินสอเขียนปราดๆ ไปตามคำบอกนั้นหยุดชะงัก เจ้าของมือเงยหน้าขึ้นมองหน้าคนบอก ท้วงว่า “เฮ้ อันนี้ความหมายคลุมเครือจริงนาย เอาให้มันชัดเจนกว่านี้ไม่ได้หรือ ไอ้การเตรียมพร้อมที่จะรับใช้ดูแลทุกข์สุขของนายจ้างทุกโอกาสนี่ มันกินความหมายไปถึงแค่ไหนกันฮึ”
“แค่ที่ว่าจะรู้จักหาโอเลี้ยงมาให้ดื่มเวลานายจ้างกระหาย หรือรู้จักเปิดพัดลมเวลาเห็นเหงื่อเราออกโดยที่เราไม่ต้องบอก รู้จักเอาที่เขี่ยบุหรี่ไปเทโดยที่เราไม่ต้องเตือน”
“ถุย” ชายอีกคนหนึ่ง ที่นั่งฟังมาตลอดเวลาเอ่ยขึ้นเป็นคำที่สองนับตั้งแต่ เอ่ยคำแรกรับการทักทายแล้ว พร้อมกับหัวเราะ “พูดไปพูดมาที่แท้มันก็อยากเอาผู้หญิงไปไว้คอยดมกลิ่นอยู่ใกล้ๆ เท่านั้นเอง”
คำพูดของเขาทำให้เจ้าของสถานที่ต้องตั้งคำถามใหม่ว่า “นี่ นายห้าง ที่พูดมานี่น่ะแก ต้องการเลขานุการหรือเลขานุการินีกันแน่”
“พุทโธ่ ไม่น่าจะต้องไปถามให้มันกระดากอายไม่เข้าเรื่องเลย” สหายร่างสูงของเขาว่า “คำพูดของมันก็บอกอย่างแจ่มแจ้งชัดแจ๋วอยู่แล้ว ขืนแกส่งผู้ชายไป มันโกรธขึ้นมาซื้อโรงพิมพ์เสีย แล้วไล่แกออกจากตำแหน่งบรรณาธิการเสียแกจะทำยังไงวะ”
“เฮ่ย ไม่ถึงขนาดนั้นหรอกวะ” ผู้ที่ถูกขัดคอพูดขึ้นอย่างฉิว “แต่อั๊วเห็นว่าบางเวลาผู้หญิงก็ดีกว่าผู้ชายในเรื่องการรับใช้ดูแลทุกข์สุขของเรา เพราะผู้หญิงเป็นผู้ที่ชอบเอาใจและช่างปรนนิบัติอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แล้ว...ความสุข ความสะดวก สบาย เล็กๆ น้อยๆ .....มันช่วยเรามากเหมือนกันนา ทำให้หัวคิดปรอดโปร่ง เพราะไม่ต้อง มานั่ง หัวเสีย นิดๆ หน่อยๆ ในเรื่อง จุกจิกร้อยแปดอย่างว่า”
“ทำไม เลขาผู้ชายน่ะทำอย่างที่แกต้องการไม่ได้งั้นหรือ” สหายผู้นั้นยังคงนึกสนุกจะขัดคอต่อไป “ผู้หญิงทำได้แล้วทำไมผู้ชายจะทำไม่ได้ ; ไอ้ที่เขาไม่กล้าทำก็เพราะเขากลัวจะถูกด่า ว่าดัดจริต ออเซาะนายจ้างเท่านั้นเอง ลองแกมอบหน้าที่เสียให้เป็นกิจจะลักษณะซิ คร้านเขาจะพะเน้าพะนอแกยิ่งกว่าคู่รักเสียอีก”
“เฮ่ย อย่าพูดดีกว่า” อีกฝ่ายหนึ่งว่าอย่างอารมณ์ไม่ดี “ไอ้แกมันก็ดีแต่คอยขัดคนอื่นเขา ตัวแกเองน่ะทำอะไรมั่งวะ วันๆ เอาแต่ทำตัวเป็นพ่อหนุ่มเจ้าสำราญ ขับรถฉาย... กินมรดกที่พ่อแม่สะสมไว้ให้ เกิดมาเป็นแกนี่สบายไปชาติหนึ่ง ไม่ต้องทำอะไรก็มีเงินใช้อย่างฟุ่มเฟือย แกไม่เคยเป็นทั้งนายจ้างและลูกจ้าง แล้วจะทะเล้นมาขัดคอคนอื่นในเรื่องที่ไม่มีความรู้ทำไม”
“หนอย โมโหแล้วเว้ย นายห้างโมโห” ; คนชอบยั่วหัวเราะอย่างชอบอกชอบใจ ใจน้อยไปได้น่า เฮียก็ กันเพียงแต่จะค้านไอ้ที่ว่า ผู้หญิงทำหน้าที่เลขานุการดีกว่าผู้ชายต่างหากล่ะ ; ดูมันไม่ยุติธรรมเลยนี่นาที่ประมาทหน้าผู้ชายด้วยกันถึงขนาดนั้น คนดีๆ ที่เขาทำงานเก่งๆ ถมไป แกมันไม่เจอเข้าเอง”
“อย่างแกงี้กระมัง” ฝ่ายนั้นเยาะให้ “ถ้าแกไปเป็นเลขานุการใคร นายจ้างคงหลงแย่ คงต้องคอยรินน้ำร้อนน้ำชาให้เลขาวุ่นไปเลย”
“อย่าเพิ่งดูถูกกันเว้ย” ผู้ถูกปรามาสร้อง หน้าคล้ำแดดของเขาแดงขึ้น “ไอ้คนที่ไม่ทำงานน่ะ ไม่ใช่เป็นคนที่ขาดความสามารถเสมอหรอกนะเพื่อน ; ยิ่งงานกล้วยๆ อย่างงานเลขานุการด้วยแล้ว ; ไม่เห็นจะต้องใช้ความคิดสักเท่าไหร่”
“อย่าพูดดีกว่า เหม็นขี้ฟันว่ะ” ฝ่ายนั้นตั้งใจที่จะแก้แค้นการที่ตนถูกขัดคอต่อไป ไอ้เรื่องอวดวิเศษกันด้วยปากน่ะ ใครๆ ก็ทำ คนอย่างแก ฉันประมาทหน้าไว้ด้วย ถ้าทำงานเป็นเลขานุการใครเขาได้ตลอดเดือนฉันให้เตะ”
“หนอย นี่พูดเล่นหรือพูดจริงที่ว่าจะให้เตะ” อีกฝ่ายชักฮึดจะเอาชนะขึ้นมาบ้าง
“พูดจริงซีวะ ถ้ามีการพนันกันละก็ คนแพ้ต้องเป็นแกแหงๆ เพราะไอ้คนอย่างแกตั้งแต่เกิดมานี่มันเคยทำอะไรให้ใครเสียเมื่อไร มีคนคอยพะนอเอาอกเอาใจแกทั้งเมือง จนจะเป็นพ่อคนอยู่รอมร่อแล้ว ถ้าแกไปทำงานเป็นลูกจ้างใครเขาได้ก็หมางอกเขาละวะ”
“เฮ้ย พอ พอ พ่อฉันตายไปแล้ว แกอย่ามาทำเป็นพ่อฉันอีกคนเลยวะ ดีแล้ว แกประมาทหน้าฉัน ฉันจะต้องทำให้แกเห็นว่าแกคิดผิด แล้วฉันจะได้เตะแกเป็นการสั่งสอนเสียป้าบหนึ่ง ว่าที่หน้าทีหลังอย่าเทียวไปประมาทหน้าคนอื่นเขาพร่ำเพรื่อเกินไป”
“เออน่า อย่าพูดมากเลย ทำให้ฉันเห็นก่อนเถอะ แล้วฉันจะยอมให้แกเตะ แล้วยังแถมพาแกไปเลี้ยงอีกมื้อหนึ่งยังได้”
“จริงๆ นะ” ผู้ถูกท้าคาดคั้น แล้วหันไปทางสหายผู้เป็นเจ้าของสถานที่ผู้ซึ่งนั่งอมยิ้มฟังเพื่อนทั้งสองขัดคอและท้าทายกันอยู่อย่างใจเย็น “นายเจนเป็นพยานนะ ว่าไอ้เสี่ยกอบศักดิ์มันท้ากัน”
“เออ ได้ นอกจากจะให้ช่วยเป็นพยานแล้ว จะให้กันช่วยอะไรอีกไหม เป็นต้นว่า ประกาศหนังสือพิมพ์หาตำแหน่งเลขานุการให้สักตำแหน่ง”
“คงต้องประกาศว่า” กอบศักดิ์พูดยิ้มๆ “คุณเธียร ธีรพงษ์ ลูกชายเจ้าพระยาธีรธรรมพิทักษ์ ; ปริญญาพ่วงท้ายจากอเมริกา มีความประสงค์จะได้งานทำแก้กลุ้มในตำแหน่งเลขานุการ ผู้ใดอยากจะได้นักเรียนนอกลูกชายเจ้าพระยาเอาไว้คอยรินน้ำชาให้กิน เชิญติดต่อได้ที่หนังสือพิมพ์ฉบับนี้”
“เฮ้ย อย่าทะเล้น” ชายหนุ่มที่ชื่อเธียรว่า “เจน เอายังงี้ดีกว่า ถ้าใครเขาแจ้งความจำนงมาว่าอยากจะได้เลขานุการละก็ ขอให้แกบอกให้กันรู้ ได้ไหม”
“นี่จะเอาจริงๆ หรือเธียร” ; เจนถามยิ้มๆ “อย่าไปเอาใจใส่กับนายกอบมันเลย มันก็พูดบ้าๆ บอๆ ของมันไปยังงั้นเอง แกคนไม่เคย ถ้าต้องเข้าไปอยู่ในทีที่มีระเบียบ ต้องคอยรับคำสั่งของใครละก็จะคับใจ นาแกนา”
“เอาเถอะน่า ดูซิ เจ้ากอบมันยิ้มเยาะกันแล้วเห็นไหม ช่วยหาให้ทีเถอะ รับรองว่ากันไม่ทำให้แกเสียชื่อหรอกน่า”
“อยากได้เมื่อไหร่”
“ยิ่งเร็วยิ่งดี” เธียรตอบทันที “ไอ้กันมันคนใจร้อน ตอนนี้มีใครมาลงประกาศบางแล้วหรือยังล่ะ”
“เดี๋ยวนี้ก็มี” บรรณาธิการตอบพลางหัวเราะหึๆ “ฟังนะ กันจะอ่านให้ฟัง ต้องการเลขานุการ โสด อายุไม่ควรเกิน 35 ปี สามารถพิมพ์ดีดได้ดีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ร่างจดหมายโต้ตอบได้ และพร้อมที่จะดูแลทุกข์สุขของนายจ้างได้ทุกโอกาส ให้เงินเดือนอย่างงาม ผู้ใดสนใจเชิญติดต่อได้ที่ กอบศักด์........”
“เฮ้ย ไม่เอา” สองคนที่นั่งฟังอยู่ร้องขึ้นพร้อมกัน เธียรเป็นฝ่ายพูดต่อไปโดยเร็วว่า “ขืนต้องไปคอยรินน้ำชาหรือผูกเนคไทให้นายกอบศักดิ์ละก็ อั๊วเป็นต้องอาเจียนแน่ๆ”
อีกสองวันต่อมา ขณะที่เธียรยังคงนอนคุดคู้อยู่บนเตียง ก็ต้องตื่นขึ้นเพราะเสียงโทรศัพท์ที่ดังลั่นอยู่ข้างหู เขางัวเงียเอื้อมมือออกไปควานหา นึกแช่งตัวเองที่อุตริทำโก้ติดโทรศัพท์ไว้ข้างเตียง แล้วก็นึกแช่งคนที่อุตริโทรศัพท์มาปลุกเขาแต่เช้าไก่โห่ด้วย
“เธียร” เสียงที่พูดมาเป็นเสียงของเจน “ฉันอยากรู้ว่าที่แกพูดเมื่อวานซืนน่ะ แกพูดจริงหรือพูดเล่น”
“พูดเรื่องอะไรกันโว้ย บ้าฉิบ &bsp; คนกำลังนอนสบายๆ”
“อุบ๊ะ ก็เรื่องให้ฉันหางานให้ทำยังไงเล่า หรือว่าจะยอมให้เจ้ากอบมันเตะเสียดีๆ เออยอมก็ยอมเถอะว้า ยังไม่ทันไร สว่างแล้วตั้งนานฉันถึงได้เรียกมา แกยังบ่นอุบอิบ”
“เออ เออ อย่าเทศนาแต่เช้าเลยโว้ย มีอะไรก็ว่ามาเถอะ”
“ว่าแต่แกตกลงใจแน่แล้วหรือ ฉันออกหวั่นใจจริงเว้ย ต่อไปแกอาจจะต้องลุกจากที่นอนเร็วกว่านี่ตั้งหลายเท่าก็ได้ถ้านายจ้างของแกสั่ง”
“เออ พอแล้วโว้ย ฉันกำลังคอยฟังอยู่แล้ว มีอะไรจะบอกก็บอกมาเลย แล้วฉันจะได้ซุกหัวนอนต่อไปอีกเป็นการอำลาชีวิตอิสระของฉัน”
“เออ อำลาเสียให้พอ เสร็จแล้วตอนบ่ายแวะมาหาฉันหน่อย ฉันมีงานให้แกทำแล้วละ ขอเตือนว่าอย่าช้านะพ่อเทวดา เพราะฉันเอาลงพิมพ์ในหนังสือฉบับเช้านี้แล้ว”
เมื่อเธียรโผล่เข้ามาในห้องบรรณาธิการบ่ายวันนั้น เจนก็โยนหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งมากางแผ่อยู่บนโต๊ะ; แล้วเอื้อมมือมาใช้ดินสอแดงวงรอบข้อความในคอลัมน์หนึ่ง เธียรก้มลงอ่าน ข้อความในกรอบที่เจนวงไว้นั้นมีความว่า
ต้องการเลขานุการส่วนตัวอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ต้องมีภรรยาแล้ว เขียนจดหมายติดต่อเกี่ยวกับการค้าได้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ เงินเดือนงาม สนใจติดต่อผ่านทางหนังสือพิมพ์นี้เลย
“ฉันไม่เห็นว่ามันจะเกี่ยวกับฉันยังไงเลยนายเจน” เธียรเขี่ยหนังสือไปให้พ้นตรงหน้าแล้วทรุดตัวลงนั่ง ขยับจะยกขาขึ้นพาด ตามเคยด้วยความเคยชิน แต่เจนได้ร้องขึ้นเสียก่อนว่า
“อ๊ะ อ๊ะ ถ้าจะพาดพระบาทละก็เลี่ยงไปให้พ้นหน้าฉันหน่อยจะดีไหมแก ไอ้แกนี่มันติดกริยาทะลึ่งตึงตังมาแก้ไม่หายเลยนะ แล้วอย่างนี้เรอะจะไปเป็นเลขานุการ ประเดี๋ยวเผลอไปยกตีนพาดใส่หน้านายจ้างละก็ แกเอ๋ย นายจ้างเขาคงไล่แกออกไม่ทัน”
“เฮ่ย แกพูดราวกับว่าคนอื่นเขาไม่มีหัวคิดยังงั้นแหละ ว่าแต่ไอ้ที่แกเรียกฉันมาวันนี้น่ะเพราะจะให้มาดูไอ้ข้อ ความเซี้ยวๆ นี่อย่างเดียวเท่านั้นหรือ”
“บ๊ะ หมอนี่มันพูดยังไง ก็แกไม่ได้บอกฉันดอกหรือว่าให้ฉันหางานให้แกทำ ก็แล้วนี่ฉันก็หาให้แกได้แล้ว แล้วไงแกยังจะโยกโย้กวนเมืองอยู่อีกล่ะ”
“พุทโธ่ นายเจนนี่ สตินายยังดีอยู่หรือเปล่านะ ไม่เห็นหรอกหรือว่าเขาระบุมาอย่างชัดแจ้งว่าต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี แล้วก็ต้องมีครอบครัวแล้วด้วย แล้วไงแกถึงจะมาแนะ ให้ฉันเล่า รึแกเห็นว่าหน้าตาอย่างฉันนี่มันแก่คราวสี่สิบแล้ว”
“ทำใจ น้อยไปได้ แกนี่” เจนหัวเราะชอบใจ “ใครๆ เขาก็รู้กันอยู่นี่นาว่าคุณเธียรน่ะ ยังหนุ่มออกฟ้อ รูปหล่อจนผู้หญิงต้องเหลียวหลังมอง อย่าเป็นทุกข์เป็นร้อนไปหน่อยเลยน่า กันเพียงแค่จะบอกว่า ถ้าแกยังไม่ต้องการให้นายกอบมันหยามน้ำหน้าให้ละก็ คราวนี้แกก็มีโอกาสแล้ว”
“โอกาสอะไร แกก็เห็นอยู่แล้วว่าเขาต้องการ...”
“เฮ่ย มันจะยากอะไร” เจนขัดขึ้นก่อนที่เขาจะพูดจบ “ไอ้อายุสามสิบแล้วทำให้เป็นสี่สิบน่ะมันของหมูๆ ; ใส่หนวดเข้าไปเสียหน่อย แกจะเอาหนวดแบบไหนล่ะ เจ้าโป้งลูกชายกันมีสะสมไว้เยอะแยะ ซื้อแว่นตาสนามหลวงใส่เข้าไปอีกอันหนึ่ง ขี้คร้านใครๆ เขาจะเชื่อ ข้อสำคัญแกต้องระมัดระวังสำรวม กิริยาให้มันสมกับอายุสี่สิบหน่อย ประเดี๋ยวนายจ้างเขาเกิดมีลูกสาวหลานสาวสวยๆ แล้วทะลึ่งไปเล่นตากับเขาเข้าละก็ซวยบรรลัย”
“พุทโธ่ พูดคล่องเป็นตุเป็นตะไปเชียวนะแก” เธียรว่า “ฉันยังไม่ได้บอก สักคำว่าตกลงจะรับทำงานกับรายนี้ เอาละ เรื่องอายุน่ะเป็นอันตกไป เพราะพอจะมีทางตบตาเขาได้ แต่ไอ้เรื่องครอบครัวนี่นะซี ฉันจะเอาที่ไหนไปแสดงกับเขากันเล่าพ่อคุณ”
“อพิโธ่ ของแค่นี้ ; ก็ยายเพิ้งของกันยังไงละ ยังเจ้าโป้ง เจ้าป๊อด เจ้าเปี๊ยกอีก เอาเถอะ ยกให้แกหมดนั่นเลยทีเดียว”
“ฮ้า จะดีเรอะเพื่อน” เธียรร้องพลางกลืนน้ำลาย
“เฮ่ย ยกให้หลอกๆ น่ะ ไม่ใช่ยกให้จริงๆ” เจนโบกมือ “อย่างเพิ่งตกอกตกใจไปเลย ที่บ้านกันมีรูปถ่ายเจ้าลิงแสมทั้งสามกับแม่ของเขา ขนาดพอพกใส่กระเป๋าได้กำลังเหมาะ แกเอาไอ้รูปนี่แหละไปแสดงกับนายจ้างเขา”
“ก็ถ้าเผื่อเขาไม่เชื่อ”
“มีเรอะไม่เชื่อ ขอให้แกได้เห็นรูปที่กันว่านี่ก่อนเถอะน่ะ ถ้าใครเกิดสงสัยว่าแกจะเอาไอ้รูปแผ่นนั้นมาพกใส่กระเป๋าสำหรับทำโก้ละ ก็ถ้าคนนั้นไม่ฉลาดจนเกินมนุษย์ ก็จะต้องเซี้ยวเกินมนุษย์เทียวแกเอ๋ย”
“ฮื้อ แต่กัน ใจไม่ค่อยดีเลยผ่าวะ มันเป็นการหลอกลวงคนชัดๆ ถ้าเขาจับได้ละก็มีหวังติดตะราง”
“เฮ่ยไม่ติดหรอก กันรับรอง” เจนบอก
“เอ๊ะ ทำไมแกถึงกล้ามารับรองในเมื่อแกไม่ได้เป็นตัวคนจ้าง”
“เอ้อ กันหมายความว่าเขาคงจับไม่ได้น่ะ ถ้าแกระมัดระวังตัวให้ดีๆ พอคิดว่ากลจะแตกก็ชิงลาออกเสียก่อนซิ แต่ว่า... ตามใจแกเถอะวะถ้านึกปอด ไม่เชื่อฝีมือตัวเองขึ้นมาละก็ ยอมโก้งโค้งให้เจ้ากอบมันเตะเสียดีๆ ก็แล้วกัน”
“หนอย มีรึที่คนอย่างกันจะไม่เชื่อฝีมือตัวเอง” เธียรชักอึดอัดขึ้นมาบ้าง แต่แล้วก็ทำเสียงอ่อยๆ เมื่อพูดต่อไปว่า “แต่เอาไว้รายหลังไม่ดีเรอะ รายนี้ปล่อยให้ผ่านไปก่อน”
“ตามใจซี” เจนพูดเรื่อยๆ เหมือนรำคาญที่จะโต้แย้งต่อปากคำกันต่อไปอีก “แต่กันจะบอกไว้ว่างาน อย่างนี้น่ะไม่ใช่จะมีมาบ่อยๆ ให้แกเลือกหรอกนะ ตำแหน่งเลขานุการไม่ใช่จะว่างง่ายๆ เอางี้ดีกว่า กันจะต่อโทรศัพท์ไปถึงเจ้ากอบ ให้มันรีบมาเตะแกเสียเดี๋ยวนี้ จะได้รู้แล้วรู้รอดไป” แล้วเจนก็เอื้อมมือออกไปยังหูโทรศัพท์ เธียรตะปบมือของเขาลงบนมือของสหาย “เดี๋ยวก่อน” เขาร้อง นิ่งคิดอยู่อึดใจหนึ่งแล้วก็พยักหน้า พูดอ่อยๆ ว่า
“เอาก็เอาวะ”
เจนยิ้ม ปล่อยมือจากโทรศัพท์ ชักลิ้นชักหยิบกระดาษแผ่นหนึ่งออกมาส่งให้สหาย บอกว่า “นี่ตำบลที่อยู่ของนายจ้างของแก ไปพบเขาแล้วบอกว่าหนังสือพิมพ์นี้ส่งแกมา เท่านั้นแหละ ตอบคำถามเขาให้ดีๆ นะแก อ้อ เดี๋ยวเย็นนี้แวะไปที่บ้านฉันด้วยซี จะได้เอารูปที่ว่าให้ กับขอยืมหนวดปลอมเจ้าโป้งมันด้วย”
“ไอ้เรื่องหนวดเรื่องแว่นนะไม่เป็นไรหรอก เมื่อตอนอยู่เมืองนอกฉันเล่นละครบ่อยๆ มีหีบสำหรับแต่งตัวอยู่หีบหนึ่ง หนวดปลอมของฉันน่ะติดแล้วรับรองว่าถูกชกหน้าสักสิบทีก็ไม่มีหลุด แล้วก็แกจะเอาแบบไหนละ ชี้ข้างแก้ม แหลมขึ้นตา...
“เออๆ พอที เตรียมตัวไว้ให้ดีๆ เถอะแก ฉันคอยเอาใจช่วย”
“คอยเอาใจช่วยเจ้ากอบศักดิ์มันก็แล้วกัน” เธียรพยายามทำท่าคึกคัก แต่ก็เป็นไปอย่างแกนๆ “พุทโธ่ เรานี่ ไม่ควรจะไปพนันบ้าๆ กับเจ้ากอบมันเลย รนหาเรื่องใส่ตัวแท้ๆ” เขาคิด
และแล้วในวันรุ่งขึ้น ด้วยอาการคล้ายคนกำลังจะจับไข้ เธียรก็พาตัวเองมานั่งกระสับกระส่ายอยู่ในห้องรับแขกที่ค่อนข้างจะโอ่โถงไม่น้อยด้วยเครื่องประดับสมัยเก่าที่เคร่งขรึมเป็นสง่า ที่ใครเคยพูดไว้ว่า “ถ้าหากจะจับหญิงปลอมตัวเป็นชายแล้วไซร้ ก็จงให้ชายปลอมนั้นเดินผ่านกระจก เพราะชายจริงย่อมมิสนใจต่อเงาของตนในกระจกมากเท่าหญิง” นั้น จะนำเอามาใช้กับเธียรในวันนี้มิได้เลยเป็นอันขาด เธียรเองก็ยังไม่รู้ว่ากี่สิบครั้งแล้วที่เขาสำรวจดูเงาของตัวเองจากกระจกบนตู้เก็บเครื่องลายครามในห้องนั้น เจ้าทรงผมแสกกลางหวีเสียเรียบ กับแว่นตาสีขาวกรอบทอง.. และหนวดกระจุกนี่ทำเอาเขาแปลกไปพิลึก ดูเป็นคนละคนทีเดียว น่าขันก็ขัน น่าทุเรศก็น่าทุเรศ นี่สงสัยว่าถ้ามิตรสหายของเขาคนใดคนหนึ่งเผอิญมาพบเขาเข้าในสภาพเช่นนี้จะสามารถจำเขาได้หรือไม่ สงสัยจะจำไม่ได้ ไม่ต้องดูอื่นดูไกล แต่ตัวเขาเองแท้ๆ พอแต่งหน้าแต่งตาเสร็จส่องกระจกดูแล้วเกือบไม่เชื่อว่าเงาที่สะท้อนออกมาจากกระจกคือตัวของเขาเอง นายเธียร ธีรพงษ์ หนุ่มหล่อสมาร์ทที่พวกผู้หญิงสนใจเป็นนักหนา
เธียรค่อยหายใจโล่งขึ้นเล็กน้อยเมื่อเห็นว่านายจ้างของเขาเป็นชายสูงอายุ และดูท่าทางไม่สู้จะเป็นคนพิถีพิถันกันนัก ท่านซักถามเขาเพียงไม่กี่ประโยคก็ตกลงรับเขาไว้ ดูมันช่างง่ายดายเสียจริง เห็นทีจะได้เตะนายกอบศักดิ์เสียแน่แท้แล้ว
โต๊ะทำงานของเขาตั้งอยู่ในห้องสมุดเฉียงๆ กับโต๊ะตัวใหญ่ซึ่งท่านเจ้าของบ้านใช้ บนโต๊ะมีเครื่องพิมพ์ดีดทั้งไทยและอังกฤษ แฟ้มวางเรียงกันเป็นระเบียบเรียบร้อยทุกๆ สิ่งวางอยู่ในทิศทางที่มันควรจะอยู่ ไม่มีสิ่งใดจะกระเด็นพลัดที่พลัดทางเลยสักชิ้นเดียว
“ฉันไม่เคยจ้างเลขานุการมาก่อนหรอกนะคุณ” นายจ้างของเขาบอก “งานนี้ลูกสาวของฉันเขาทำให้ ; แต่มาตอนหลังนี่ดูท่าเขาจะไม่ค่อยสบาย หมอเขามาตรวจบอกว่าให้พักผ่อนให้มากๆ ไม่ให้ใช้หัวคิดหมกหมุ่น และอย่าออกกำลังให้มากนัก เพราะยังงั้นฉันถึงต้องหาเลขานุการมาแทน”
อ้อ มีลูกสาวด้วย เธียรคิด แล้วก็คงจะมีคนเดียว เพราะถ้ามีหลายคน คนนี้ทำงานไม่ได้ท่านคงจะใช้คนอื่นแทน เขามองดูนายจ้าง อายุอานามคงจะไม่น้อยกว่าหกสิบเป็นแน่ ลูกสาวคงจะปาเข้าไปสักสามสิบเป็นอย่างน้อยที่สุด ชำเลืองมองดูโต๊ะทำงานที่แสนจะสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยตัวนั้น เธียรก็นึกวาดภาพหญิงสาวใหญ่ นุ่งผ้าซิ่นกรอมเท้า สวมเสื้อหลวมๆ ไม่ได้รูปได้ร่าง ผิวขาวซีด เกล้าผมมวย หน้าเคร่งขึ้นในใจ คิ้วของหล่อนคงจะขมวดเข้าหากันอยู่เป็นนิจ ที่ใต้ตาคงจะมีรอยย่นแล้ว มุมปากหล่อนก็คงจะโค้งตกลง และ เออ บางทีหล่อนอาจจะใส่แว่นตาด้วยก็ได้
“มีคนเขาแนะให้จ้างผู้หญิง” นายจ้างของเขาพูดต่อไป “แต่ฉันไม่ชอบ ผู้หญิงสมัยนี้มันเปรี้ยวปรูดปราดกันนัก เดี๋ยวจะมาชักให้ลูกสาวของฉันเสีย ไอ้จะจ้างคนหนุ่มๆ หรือฉันก็ไม่ไว้ใจ เดี๋ยวจะมาเล่นหูเล่นตากับลูกสาวของฉันเข้า”
โธ่เอ๋ย เธียรร้องปลงอยู่ในใจ นี่สมท่านคงจะคิดว่าลูกสาวของท่านนี้งามเสียเต็มทีกระมัง
“ไอ้ฉันน่ะไม่ใช่เป็นคนหวงลูกสาวนักหรอก แต่ว่าอะไรที่มันไม่พอเหมาะพอควรสมน้ำสมเนื้อกัน ฉันก็ไม่ค่อยชอบ เพราะฉะนั้น ฉันถึงอยากได้คนมีอายุสักหน่อย จะได้ไม่มีเรื่องมากังวลใจให้เดือดร้อนภายหลัง”
ถึงตอนนี้เธียรยกมือขึ้นคลำริมฝีปากแล้วยิ้มด้วยความพอใจ เขาได้รับคำสั่งให้เข้านั่งประจำที่โต๊ะทำงานในตอนเช้าวันนั้น และร่างจดหมายภาษาอังกฤษเกี่ยวกับการสั่งซื้อสินค้าประเภทอาภรณ์ภัณฑ์สองฉบับ ก่อนจะลงมือทำงาน เธียรเปิดกระเป๋าเอกสารของเขา... เอารูปแม่ย่านางที่เจน เพื่อนรักมอบให้ พร้อมกับรูปถ่ายของพลพระรามทั้งสามซึ่งเขาใส่กรอบมาเรียบร้อยแล้ว ขึ้นมาตั้งบนโต๊ะ พร้อมมองดูนายจ้างอย่างขอร้องนิดๆ กระดากน้อยๆ ว่า
“ใต้เท้าคงจะไม่ว่า ถ้าผมจะขออนุญาตวางรูปบุตรภรรยาของผมไว้บนโต๊ะทำงาน”
“อ๊าย ไม่ว่า ไม่ว่า คนที่รักลูกรักเมียอย่างนี้ซีฉันชอบ อ้อ นั่นรูป ลูกเมียคุณหรือ ไหนขอฉันดูหน่อยซิ อือ ท่าจะกำลงซนทั้งนั้นละซีนี่”
“ครับ ซนจนผมแทบจะกระอักตาย แถมยังกินจุราวกับว่ามันมีท้องคนละสักสามท้อง” เขาบ่นออกไปตามที่เคยได้ยินเจนบ่นเมื่อพูดถึงลูกชายทโมนทั้งสาม
“เฮ่อๆ เห็นใจๆ” นายจ้างของเขาว่า “ดีแล้ว ถ้าคุณทำงานดีๆ ถูกใจฉันละก็อย่ากลัวเลย ฉันจะขึ้นเงินเดือนให้อีก”
“เป็นพระเดชพระคุณอย่างยิ่งขอรับ” เธียรตอบอย่างนอบน้อม นึกชมตัวเองอยู่ในใจที่สามารถเล่นละครนอกเวทีได้ไม่เลวเลย
ทำงานไปจนถึงเวลา 10.30 น. ประตูห้องสมุดก็เปิดออก แม่สาวคนหนึ่ง คนเดียวกับที่เขาพบเป็นคนแรกเมื่อมาถึงที่นี่ประคองถาดใส่เครื่องดื่มเข้ามา ขณะที่วางถ้วยชาและจานรองที่หนึ่งลงตรงหน้าท่านเจ้าของบ้าน เจ้าหล่อนรายงานว่า
“คุณสั่งให้เรียนท่านเจ้าค่ะ ว่า คุณจะไปที่บ้านสามเสน ; และจะเลยรับประทานอาหารกลางวันที่นั่น จะกลับตอนเย็นๆ”
แล้วหล่อนก็เลยมายังโต๊ะเขา วางถ้วยชาแต่ใส่กาแฟไว้ให้ แล้วก็ถอยออกไปจากห้อง เธียรยกกาแฟขึ้นดื่ม เกือบจะสำลักเพราะรสหวานของมัน
“เป็นไงบ้าง” นายจ้างของเขาถาม “ฝีมือลูกสาวฉันชงนะ ตอนนี้ฉันต้องกินชาชงแก่ๆ ใส่น้ำตาลแล้วก็บีบมะนาวนิดหน่อยทุกวัน ใครทำให้ก็ไม่ถูกใจเท่าลูกทำ”
“ออกจะหวานเกินไปนิดขอรับ แต่ไม่เป็นไร ผมรับได้”
“เขาคงจะนึกว่าคุณชอบหวานๆ อย่างฉันกระมัง” ท่านพูดพลางหัวเราะชอบใจ “เขาคงคิดว่าคนแก่ชอบกินหวานกันทุกคน”
เธียรยกมือขึ้นคลำหนวด ขยับแว่นตา ยิ้มกับรูป แล้วก็หัวเราะหึๆ ตามไปด้วย
งานการในวันนั้นผ่านไปได้ด้วยดี วันต่อมาเธียรก็ยังไม่ได้พบลูกสาวนายจ้าง แต่เขาว่าหล่อนคงจะต้องมาตรวจตราโต๊ะทำงานของเขาแล้ว เพราะรูปที่เขาเอาวางไว้บนโต๊ะนั้นเลื่อนไปจากที่เดิมของมัน นอกจากนั้น ยังมีน้ำหอมขวดหนึ่งและยาดมอีกหลอดหนึ่งมาวางไว้ให้เขาในลิ้นชักเล็กทางซ้ายมืออีกด้วย
วันที่สาม เมื่อประตูห้องสมุดเปิดออกนั้น เธียรกำลังพิมพ์หนังสือง่วนอยู่ ต่อเมื่อได้ยินเสียงนายจ้างของเขาพูดขึ้นว่า
“อ้อ วันนี้อยู่บ้านเรอะลูก”
นั่นแหละ เขาจึงได้เงยหน้าขึ้นมองดูโดยไม่ได้ตั้งใจ แล้วก็นิ่งงันไปด้วยความรู้สึกผิดต่อสิ่งที่เขาเคยคิดเอาไว้ว่าจะได้เห็น
หล่อนผู้นั้น มิได้มีลักษณะอันใดที่จะใกล้เคียงกับที่เขานึกวาดภาพเอาไว้เลย แม้แต่น้อย จริงอยู่ ขณะนั้นหล่อนนุ่งผ้าซิ่นไหมยาวลงไป เกือบถึงตาตุ่ม สวมเสื้อคอจีนแขนสามส่วนตัวหลวมๆ แต่ก็มิได้รุ่มร่ามเปะปะอย่างที่เขาเคยวาดภาพไว้ ตรงกันข้าม สีชมพูอ่อนใสกลมกลืนกันของอาภรณ์ทั้งชุดที่หล่อนสวมอยู่นั้นประกอบด้วยความงามของเนื้อผ้ากลับยิ่งส่งให้ร่างของหล่อนดูระหง อ่อนช้อย จับตายิ่งนักหล่อนรวบผมไว้ตรงท้ายทอย ด้วยริบบิ้นเล็กๆ เปิดให้เห็นพวงแก้มที่ขาวสะอาด และคางเรียวแหลม เธียรรู้สึกว่าห้องสมุดที่แสนจะมืดทึบเหมือนห้องเก็บศพนั้นกลับสว่างไสวขึ้นมาในฉับพลันนั่นเอง
เมื่อหล่อนละจากโต๊ะของบิดาเดินมายังโต๊ะของเขา เธียรก็ได้ยินเสียงนายจ้างของเขาบอกแก่ธิดาตามหลังมาว่า
“นั่นคุณทิม เลขานุการของพ่อไงล่ะ ลูกยังไม่เคยพบเลยไม่ใช่หรือจ๊ะ หทยา”
เธียรรีบลุกขึ้นยืน หญิงสาวยิ้มกับเขาขณะที่หล่อนวางเครื่องดื่มสำหรับเขาลงบนโต๊ะ ยิ้มนั้น แม้ว่าจะค่อนข้างเซียวเพราะสุขภาพอันไม่สู้สมบูรณ์นักของหล่อน แต่ก็สามารถทำให้เขานึกถึงยิ้มของ; “โมนาลิซา” สาวน้อยผู้มียิ้มอันบริสุทธิ์สดใส ตรึงตาตรึงใจที่สุดบนพื้นพิภพ
“ดีใจที่ได้คุณทิมมาช่วยคุณพ่อคะ” หล่อนพูดเสียงอ่อนอย่างที่เด็กจะพึงพูดกับผู้ใหญ่ “คุณพ่อบอกว่าคุณทิมไม่ชอบหวาน ดิฉันคิดว่าคุณทิมคงจะเป็นลมเก่ง จึงเตรียมยาหอมกับยาดมเอาไว้ไว้ในลิ้นชัก”
“เอ้อ ขอบพระคุณครับ” เธียรตอบออกมาอย่างขลุกขลักเต็มที
“ลูกชายคุณทิมดูท่าทางน่ารักดีนะคะ” หล่อนพูด มองดูรูปพลางยิ้มอยู่ในหน้า แล้วบอกก่อนที่จะเดินไปจากโต๊ะเขาว่า “วันหลังพามาเที่ยวที่นี่บ้างซีคะ ดิฉันชอบเด็ก”จะมาเอา” นายจ้างบอกแก่เขา นายยศพงศ์ คนนี้มีศักดิ์เป็นหลานชายของท่าน มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการบริษัทที่ท่านเป็นผู้อำนวยการเพราะเป็นผู้ถือหุ้นมากที่สุด
วันนั้น เธียรต้องอยู่ทำงานเย็นเป็นพิเศษเพราะมีจดหมายติดต่อเกี่ยวกับการค้า ฉบับหนึ่งซึ่งเขาจะต้องร่างและพิมพ์ให้เสร็จในวันนี้เพื่อที่จะได้เอาเข้าสู่ที่ประชุมในเช้าวันรุ่งขึ้น
“ประเดี๋ยวเจ้ายศพงศ์มันจะมาเอา” นายจ้างบอกแก่เขา นายยศพงศ์ คนนี้มีศักดิ์เป็นหลานชายของท่าน มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการบริษัทที่ท่านเป็นผู้อำนวยการเพราะเป็นผู้ถือหุ้นมากที่สุด นายยศพงศ์ เป็นชายหนุ่มที่จัดอยู่ในประเภทรูปหล่อมิใช่น้อย ประโยคแรกที่ยศพงศ์กล่าวเมื่อได้รับคำแนะนำให้รู้จักกับเธียร คือ
“เฮ้อ โล่งอกที่ได้เห็นคุณทิม นึกว่าคุณลงไปจ้างเลขานุการหนุ่มๆ มาละก็” เขาหยุดพูดเพียงแค่นั้นแล้วก็หัวเราะ หัวเราะของเจ้าหนุ่มหลานชายนายจ้างของเขานี่ มันช่างไม่ถูกหูเธียรเสียจริงๆ
เพราะเหตุว่ากว่าจดหมาย; ฉบับนั้นจะเสร็จเรียบร้อยก็เป็นเวลาเย็นนักหนา เธียรจึงได้รับการชักชวนให้อยู่กินอาหารเย็นเสียที่บ้านนายจ้างก่อน ครั้งแรกเขาลังเล แต่เมื่อรู้ว่ายศพงศ์จะอยู่ด้วย เขาจึงตกลงรับคำชวนนั้น
ที่โต๊ะอาหาร เธียรนั่งตรงข้ามกับหทยา ส่วนยศพงศ์นั่งติดกับหล่อน พอเริ่มตักอาหารคำแรกเข้าปาก เธียรก็รู้สึกว่าไม่ควรอยู่ตามคำชวนนั้นเลย เขาต้องพบกับความยุ่งยากลำบากใจหลายประการด้วยกัน คือประการที่หนึ่งนายยศพงศ์ที่นั่ง อยู่ตรงหน้าของเขาก็ช่วงชวนให้หทยาพูดคุย พูดเล่นพูดหัวเราะต่อกระซิกมากเกินไปจนเขาออกรู้สึกรำคาญ และอีกประการหนึ่งนั้นก็คือว่า ช่างเป็นการลำบากยากเย็นเสียเหลือเกินกว่าเขาจะกลืนข้าวลงคอได้แต่ละคำ เพราะขณะที่ตักข้าวส่งเข้าปากนั้น มันให้รู้สึกว่าเจ้าหนวดกระจุกเหนือริมฝีปากนั้นมันคงจะต้องได้ชิมรสเค็ม หวาน เปรี้ยว เผ็ดทั้งหลายเหล่านั้นด้วยเป็นแน่ อาหารค่ำมื้อนั้นของเธียรจึงผ่านไปด้วยความทรมานกาย ทรมานใจด้วยประการดังกล่าวแล้ว
สัปดาห์แรกของการประกอบอาชีพเลขานุการผ่านไปด้วยดี แม้ว่าบางเวลา เธียรรำคาญ กระวนกระวายขึ้นมาบ้างตามวิสัยของคนที่เคยชินต่อความมีอิสระแก่ตัวเองมาตลอดเวลา ต้องมาถูกจำกัดรัดล้อมอยู่ด้วยสถานที่และการงานเช่นนี้ แต่ด้วยทิฐิมานะที่มุ่งชนะคำปรามาสของเพื่อน ทำให้เขาทนอยู่ผ่านพ้นสัปดาห์แรก
กลางสัปดาห์ที่สอง นายจ้างของเขาก็มีงานด่วนกับหลานชายจะต้องไปตรวจกิจการต่างจังหวัดเป็นเวลาสามวัน คนที่บริษัทนำเอกสารมามอบไว้ให้ที่บ้าน ให้เธียรเป็นผู้เขียนจดหมาย ส่งออกไป ตามประเภทโดยให้หทยาคอยแนะนำสิ่งที่เขาไม่เข้าใจ
“คุณทิมเป็นอะไรไปหรือคะ ดิฉันอธิบายตรงนี้ตั้งสามครั้งแล้ว แต่ดูท่าเหมือนกับว่าคุณยังไม่เข้าใจ ดูงงๆ อย่างไรพิกลค่ะ” แล้วหล่อนก็ยิ้มอย่างอ่อนโยนเมื่อถามต่อไปว่า “หรือว่าเด็กๆ เป็นอะไรไป”
“ครับ เอ้อๆ เปล่าครับ ไม่มีใครเป็นอะไรทุกคนสบายดี” เขามองดูรูปแม่ย่านางและสมุนทั้งสามของพ่อสหายเจน เห็นกำลังยิ้มแย้มแจ่มใสกับเขาอย่างเบิกบาน น่าหมั่นไส้เป็นที่สุดก็รีบเบือนหน้าหนีไปทางอื่น พอดีมองไปพบเอาดวงตาอ่อนซื่อบริสุทธิ์ที่กำลังจ้องมองดูเขาอยู่นั้นเข้า เธียรมองสบตาคู่นั้นอย่างลืมตัวครู่หนึ่งแล้วจึงก้มหน้าลง พึมพำแก้เก้อว่า “เอ้อ ผม ผมคิดว่าเมื่อคืนนี้คงจะอดนอนมากเกินไป ผม เอ้อ อายุมากแล้ว ไม่มีกำลังวังชาเหมือนเมื่อหนุ่มๆ พออดนอนเข้าหน่อยเลยชักจะ...เพลีย ๆ”
หทยาลุกจากเก้าอี้ที่นั่งตรงข้ามกับเขา พูดเรียบๆ ว่า “ดิฉันจะไปชงเครื่องดื่มมาให้ค่ะ”
เธียรรีบลุกขึ้นยืนบอกกับหล่อนว่า “อย่าลำบากต้องยกมาให้ผมที่นี่เลยครับ ผมไปนั่งรับในห้องโน้นก็ได้”
ห้องโน้นที่เธียรพูดถึงก็คือห้องเล็กๆ ที่อยู่ติดกับห้องอาหาร เป็นห้องที่ท่านเจ้าของบ้านเรียกว่า “ครัวฝรั่งของแม่หนู” คือเป็นที่ที่ธิดาของท่านชอบประกอบอาหารว่างเล็กๆ น้อยๆ และเก็บพวกเครื่องกระป๋องต่างๆ
เธียรเลี่ยงไปยืนข้างหน้าต่างใกล้กับโต๊ะขาโครเมี่ยมสีชมพูสดสวยและเก้าอี้เข้าชุดกันในขณะที่หทยาเสียบปลั๊กต้มน้ำ และเปิดตู้ข้างฝาหยิบเอาถ้วยชาออกมาสองที่ หล่อนเอี้ยวตัวมาทางเขาถามว่า “รับอะไรคะ โอวัลตินดีไหม แก้เพลีย”
“โอวัลติน อย่าเลยครับ ขอกาแฟดีกว่า แก่ๆ หน่อยครับ”
ขณะที่หล่อนทำธุระอยู่กับเครื่องดื่ม เขาก็พินิจดูหล่อนพลางก็นึกไปถึงเพื่อนสาวๆ ที่เคยไปไหนมาไหนด้วยกัน ป่านนี้เจ้าหล่อนเหล่านั้นคงจะเที่ยวตามหาเขากันให้วุ่นวาย เพราะอยู่ๆ เขาก็เกิดหายหน้าหายตาไปเสียเฉยๆ เธียรเคยสวนพวกหล่อนตามถนน และที่ประตูบ้านของเขาเอง แต่หล่อนก็หาจำเขา ได้ไม่ เธียรรู้สึกสนุกที่สามารถตบตาเจ้าหล่อนได้ แต่สำหรับสตรีผู้ที่อยู่เบื้องหน้าเขาบัดนี้เล่า เขาชักไม่แน่ใจตัวเองว่าเขาทำถูกแล้วหรือที่เล่นละครตบตาหล่อนและบิดาของหล่อนเช่นนี้ และถ้าหล่อนรู้ ความจริง หล่อนจะโกรธเขาถึงขนาดไหน จะมองหน้าเขาอีกหรือไม่
หทยา ยกกาแฟมาส่งให้ แล้วนั่งลงที่หัวโต๊ะ
“ดิฉันดื่มกาแฟไม่ได้ค่ะ หมอห้าม” หล่อนบอกเขา แล้วยกถ้วยโอวัลตินขึ้นจิบ
เธียรยืนพิงขอบหน้าต่าง มือหนึ่งถือจานรอง อีกมือหนึ่งถือถ้วย ดวงตาของเขาจับนิ่งอยู่ที่หญิงสาว แต่ความคิดของเขากำลังขยายตัวกว้างออกจากที่ที่มันควรจะเป็น
ความคิดของเขาสะดุดหยุดลงเมื่อรู้สึกคล้ายได้ยินเสียงหญิงสาวถามอะไรแว่วๆ เธียรกระพริบตา เห็นดวงตาของหล่อนจับอยู่ที่มือของเขาข้างที่จับหูถ้วยอยู่ เมื่อเธียรมองตาม จึงรู้ว่าแหวนที่สวมติดนิ้วก้อยอยู่เป็นประจำนั้นเองที่เป็นเป้าสายตาของหล่อน
“คุณหทยา ว่าอะไรนะครับ ขอโทษ ผมไม่ได้ฟัง”
“ดิฉันพูดว่า....” หล่อนพูดช้าๆ ชัดถ้อย ชัดคำ “แหวนของคุณทิมสวยและเก๋เหลือเกินค่ะ”
เธียร ยกนิ้วขึ้นมองดู หัวเราะเจื่อนๆ พูดกับหล่อนว่า “สวยเกินกว่าที่คนแก่อย่างผมจะใส่ใช่ไหมครับ ความจริง ผมใส่มาตั้งแต่ยังหนุ่มๆ ใส่ติดนิ้วเสียชิน เอ้อ ถ้าคุณหทยาคิดว่าไม่เหมาะ...”
“ก็ไม่เห็นเป็นอะไรนี่คะ” หล่อนว่า เดินมารับถ้วยจากเขาไปวางไว้ที่อ่างสำหรับล้างชาม ขณะที่เดินไปหล่อนชำเลืองตามองดูเขา พูดว่าฉันไม่เห็นเลยว่าทำไมคุณ จะต้องเดือดร้อนแค่สวมแหวนที่คุณพูดว่ามันสวยเกินวัยคุณ”
วิธีที่หล่อนพูด คำพูดที่หล่อนใช้ และบางสิ่งบางอย่างในอากัปกิริยาที่หล่อน แสดงต่อเขา ทำให้เธียรรู้สึกพิกลขึ้นมาในใจ มันแตกต่างไปจากที่หล่อนเคยแสดงกับเขาเมื่อแรกที่เขาเข้ามาทำงานใหม่ๆ หรือว่า... เธียรไม่อยากคิดต่อไป เขาไม่ชอบเสียเวลา ครุ่นคิดถึงปัญหายุ่งยากในเมื่อมันยังไม่มาถึง เขาละจากหทยากลับไปยังห้องทำงาน
หทยาดูเหมือนจะสงวนปากคำมากขึ้น แต่เธียรกลับรู้สึกว่า หล่อนออกจะมองเขานานๆ และบ่อยครั้งผิดปรกติ บางทีเขาเงยหน้าขึ้นจากงานที่กำลังทำอยู่ก็พบว่าหล่อนกำลังมองดูเขาอยู่ก่อนแล้ว พอเขามองสบตา หล่อนก็ทำหน้าเฉย เบือนหนีไปเสียทางอื่น หรือไม่ก็ทำงานต่อไปโดยไม่พูดว่ากระไร ความอ่อนโยนสนิทสนมอย่างที่เด็กมีต่อผู้ใหญ่ที่หล่อนเคยแสดงต่อเขานั้นบัดนี้ไม่มีอีกแล้ว ; บางครั้งรู้สึกคล้ายกับว่าหล่อนกำลังยิ้มมองดูเขา แต่พอเขามองไปหล่อนก็กลับทำหน้าเฉย พอหล่อนหันไปทางอื่น เธียรก็ต้องยกมือขึ้นคลำหนวดบนริมฝีปาก สงสัยว่ามันจะบิดเบี้ยวหรือเอียงกะเท่เร่ผิดรูปผิดร่างไปบ้างหรือไม่
อากัปกิริยาที่เปลี่ยนแปลงไปของหทยานี้ทำให้เธียรรู้สึกกระสับกระส่ายไม่สบายใจจนบอกไม่ถูก เขาเดาไม่ถูกเลยว่าหล่อนเปลี่ยนไปเพราะอะไร จะว่าหล่อนจับได้ว่าเขาปลอมแปลงมาหรือก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เธียรมั่นใจว่าเขาไม่ได้พลั้งเผลอทำอะไรให้หล่อนจับได้เลย หนวดก็ไม่เคยหลุด แว่นก็ไม่เคยลืมใส่ นอกจากบางคราวจะถอดออกมาเช็ดบ้าง ซึ่งก็เป็นของธรรมดาของคนสวมแว่นทั่วๆ ไป หล่อนไม่น่าจะสงสัย แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้ทำให้เขารู้สึกไม่สบายอย่างยิ่ง ทุกครั้งที่หทยาเข้ามาใกล้ มิใช่ว่าจะไม่อยากอยู่ใกล้หล่อน มันเป็นแต่เพียงว่าเขารู้สึกคล้ายกับจะหายใจไม่สะดวกเมื่อต้องอยู่ใกล้หล่อนเท่านั้นเอง
ดังนั้นเมื่อรู้ว่าหทยาไม่อยู่บ้านในวันสุดท้ายก่อนหน้าที่บิดาของหล่อนจะกลับ เธียรจึงค่อยรู้สึกหายใจคล่องขึ้นเล็กน้อย ดูเหมือนว่าจะเป็นครั้งแรกที่เขาเพิ่งจะมีโอกาสเป็นตัวของตัวเองเต็มที่ นับตั้งแต่ย่างเข้ามาในบ้านนี้
เธียร ถอดแว่นตาที่เป็นเครื่องทรมานกายชนิดหนึ่ง ซึ่งเขาหามาประดับตัววางลงบนโต๊ะทำงาน ตนเองออกไปยืนยืดแข้งยืดขาอยู่ที่หน้าต่าง จากที่นั่น เขาสามารถมองลงไปเห็นสวนดอกไม้ซึ่งเต็มไปด้วยไม้ดอกหลากสี แยกออกเป็นกอเป็นหมู่ เป็นเหล่า สลับอยู่ด้วยลานหญ้าเขียวชอุ่มเว้าแหว่งเป็นโค้งเป็นตอน งดงามชวนมอง เธียรอดนึกมิได้ว่า สวนนั้นจะงามขึ้นอีกสักเพียงใด ถ้าหากว่า จะมีร่าง ระหงโปร่งงาม หุ้มห่อด้วยอาภรณ์สีสดใสของสตรีหนึ่งโผถลาอย่างร่าเริงไปตามกอไม้ กอนั้นกอนี้ กำลังที่เขาคิดเพลินอยู่นั้น ความคิดของเขาก็ต้องสะดุดหยุดลงโดยพลันด้วยเสียงที่สดใส แต่เรียบและชัดเจนดังขึ้นเบื้องหลังว่า
“กำลังดูอะไรเพลินเทียวหรือคะ คุณทิม”
เธียรเกือบสะดุ้ง เขาหันขวับมาตามเสียง หทยากำลังยืนอยู่ที่โต๊ะทำงานของเขา มือข้างหนึ่งของหล่อนจับก้านแว่นตาของเขาแกว่งไปมาคล้ายกับไม่ได้ตั้งใจ เธียรพยายามหัวเราะกลบเกลื่อนความผิดปรกติซึ่งอาจจะมีบ้างในท่าทางของตนเอง พูดว่า
“คุณหทยากลับเข้ามาเมื่อไรครับ ผมไม่ทราบเลย”
“ดิฉันมาแท้กซี่ ลงที่หน้าประตูแล้วเดินเข้ามา คุณจึงไม่ได้ยินเสียง แต่ก็ดีค่ะ”
“ดียังไงครับ” เขาถาม เดินกลับมาที่โต๊ะ
“ดีที่ได้เห็นคุณในเวลาที่คุณเป็นตัวของคุณเอง”
“เอ๊ะ” เขาพยายามพูดกลบเกลื่อนความรู้สึกผิดปรกติที่เกิดขึ้น “หมายความว่าอย่างไรครับ”
“หมายความว่าเมื่อเวลาที่คุณอยู่ต่อหน้าดิฉันและคุณพ่อ คุณออกจะใช้ความระมัดระวังตัวอยู่มากทีเดียว”
“มันเป็นธรรมดานี่ครับ ผมเป็นลูกจ้าง เมื่ออยู่ต่อหน้านายจ้างผมก็ต้องสำรวมตัวสำรวมกิริยาอาการ จะปล่อยตัวเหมือนอย่างเวลาอยู่คนเดียวอย่างไรได้”
หญิงสาวมองดูหน้าเขาเฉยอยู่ ดวงตาของหล่อนส่งประกายประหลาดพิกลจนเขารู้สึกกระวนกระวาย อึดอัดจนต้องถามว่า
“มีอะไรหรือครับ”
“ไม่มีอะไรหรอกค่ะ” หล่อนตอบ “เพียงแต่ดิฉันพยายามนึกดูว่าถ้าไม่มีหนวดกระจุกนั้นเสียแล้ว หน้าตาคุณจะเป็นอย่างไรเท่านั้นเอง” หล่อนวางแว่นตาลงเบื้องหน้าเขา บอกว่า “นี่คะแว่นตาของคุณ”
แล้วก็เดินตรงไปยังประตู หล่อนหยุดเดินและหันกลับมาพูดว่า “แต่ดิฉันว่าแว่นตาอันนี้ คุณไม่จำเป็นต้องมันก็ได้ไม่ใช่หรือคะ”
เจนเงยหน้าขึ้นเมื่อได้ยินเสียงบังตาห้องถูกผลักเข้ามาแล้วก็ต้องรีบลุกขึ้นทำความเคารพเมื่อแลเห็นผู้ที่เข้ามาในห้อง กุลีกุจอเลื่อนเก้าอี้ให้นั่ง
“วันนี้ใต้เท้ามาถึงที่นี่ มีอะไร จะใช้ผมหรือครับ”
“มีเรื่องมากวนใจคุณอีกแล้วหลานชาย” สุภาพบุรุษชราที่เพิ่งมาถึงพูดพร้อมกับถอนใจอย่างเหนื่อยอ่อน
“หาเลขานุการใหม่หรือไงครับ”
“มันก็เรื่องนั้นแหละ ท่านพยักหน้าอย่างอ่อนใจ “หาใครๆ มาก็ไม่ถูกใจยายหนูเขาสักที บางคนถูกใจฉันแต่ก็ไม่ถูกใจเขา เฮ้อมันไม่พอดีกันเสียเลย”
“อ้อ คุณหทยาแข็งแรงดีขึ้นบ้างหรือยังครับ”
“ดีเดออะไรกัน แก ดูจะยิ่งแย่ลงไปอีกน่ะไม่ว่า” ตอนที่หยุดทำงานใหม่ๆ น่ะดูสดใสขึ้นมากแล้วเทียวนา นี่กลับงอแงลงไปอีก ฉันกลุ้มใจจะแย่อยู่แล้วไหนลูกจะเจ็บไหนจะไม่มีคนทำงาน”
“แล้วคุณยศพงศ์...”
“ยศพงศ์มันก็ยุ่งอยู่ที่บริษัทน่ะซี เจ้านั่นก็หน้าตาเกรียมดำไปเหมือนกัน ถูกยายหนูบอกปัดไม่ยอมรับหมั้น เอ ฉันเห็นมันทำท่าประจ๋อประแจกันอยู่พักหนึ่งแล้วนา ก่อนที่คุณทิมเขาจะลาออกไปนั่น แล้วทำไม.... เออ พูดถึงคุณทิม เขาไปอยู่เสียข้างไหนคุณรู้บ้างไหม”
“เอ ยังไงก็ไม่ทราบครับ “ เจนพยายามทำเสียงให้เป็นปกติ “เขาไม่ได้เรียนใต้เท้าไว้ดอกหรือครับว่าเขาจะไปทำอะไร”
“เปล่านะซี ปุบปับก็ลาออกไปเสียเฉยๆ ฉันเองยังอดเสียดายไม่ได้คนๆ นี้ ทำงานดีทีเดียว เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ดี ถ้าจะหาให้ฉันอีกสักคนละก็ขอให้ได้อย่าง...”
ท่านสุภาพบุรุษชรายังพูดไม่จบประโยคบังตาก็ถูกกระแทกเข้ามาอีกครั้งหนึ่งโดยแรงจนดังปัง พร้อมเสียง
“เฮ้ เจน”
ชายชราสะดุ้งด้วยความตกใจ พลางเหลียวไปดูผู้ที่เข้ามาใหม่ด้วยอาการอันค่อนข้างจะตึงตังอยู่สักหน่อยนั้น พร้อมๆ กับที่คนผู้นั้นมองมาพบท่านแล้วก็ถึงซึ่งอาการงงงันตกตะลึงตาค้างไป
“อ้าว ว่าไง นายเธียร” เจนเป็นผู้แก้สถานการณ์คับขันเฉพาะหน้าได้ก่อน “เอะอะตึงตังมาทีเดียว ฉันกำลังมีแขกเห็นไหมล่ะ”
ชายหนุ่มผู้เพิ่งมาถึงหัวเราะแห้งๆ เลี่ยงไปยืนเสียอีกทางหนึ่งบอกว่า “ขอโทษทีเจน กันลืมถามคนข้างนอกไปว่าแกมีแขกอยู่หรือเปล่า” เขาหันไปทางชายชราพูดอ้อมแอ้มโดยไม่มองหน้าผู้ที่เขาพูดด้วยว่า “ผมขอประทานโทษครับ”
“ไม่ ไม่เป็นไรหรอก” ชายชราพูดแล้วลุกขึ้นยืนช้าๆ เจนลุกขึ้นด้วยตามมารยาท เขาถามท่านอย่างนอบน้อมว่า
“ใต้เท้าจะให้ผมลงข้อความอย่างที่เคยลงนั่นหรือครับ”
“ไม่ต้องแล้ว” ชายชราตอบ แล้วหันไปทางเธียร ถามว่า “เอ้อ พ่อคนนี้น่ะชื่ออะไรนะ”
“ชื่อเธียรขอรับ”
“ดีละ คุณเธียร มาเถอะ เรามีงานที่จะต้องรีบทำให้เสร็จอีกพะเรอเกวียนทีเดียว”
“แต่ ใต้เท้าครับ”
“แต่อะไรกันอีกเล่า” สุภาพบุรุษชราพูดพร้อมกับออกเดินนำไปที่ประตู เมื่อเห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งยังยืนงงงันอยู่ ท่านก็หันกลับมาบอกว่า
“มาเถอะไม่ต้องวุ่นวายหารูปลูกเมียหรือแว่นตงแว่นตาอะไรหรอก แล้วก็ไม่ต้องรอให้หนวดขึ้นเสียก่อนก็ได้”
จาก นิตยสาร ศรีสัปดาห์