แม่เป็นลูกสาวสุดท้องของ คุณตาหลวงประกาศโกศัยวิทย์ (เสริม ภูมิรัตน) และ คุณยายพิศ ภูมิรัตน เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๑ ตรงกับ ปีมะโรง
เป็นที่ถกเถียงกันมากว่า แม่มีอายุเท่าไรนับถึงวันที่เสียชีวิต ถ้าบวกกันตามตัวเลข จะได้กับ ๖๕ ปี แต่ที่ถูกต้องนั้น แม่จะมีอายุครบ ๖๕ ปี ในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ ที่เป็นดังนั้นก็เพราะว่า ในสมัยที่แม่เกิดนั้น ยังนับวันสงกรานต์ คือวันที่ ๑๓ เมษายน เป็น วันขึ้นปีใหม่ แม่จึงเกิดปลายปี ๒๔๗๑ ซึ่งถ้านับอย่างสากลแล้ว แม่เกิดในปี ๒๔๗๒
แม่มีพี่สาวสามคน และพี่ชายสามคนเรียงกันตามลำดับ การที่เป็นลูกสาวคนที่เจ็ด จึงเป็นที่มาของนามปากกา “รจนา”
เรื่องวงศาคณาญาติของแม่นี้ แม่ได้เล่าไว้ในเรื่อง “แม่ของเรา” ซึ่งเป็นเรื่องที่ แม่เขียนไว้อาลัยแด่คุณยายเมื่อ มีนาคม ๒๕๒๑ ลูกของแม่ไม่รู้เรื่องละเอียดเท่าไร จึงได้นำ เรื่อง “แม่ของเรา” ลงพิมพ์ไว้ในหนังสือนี้ด้วย
แม่เล่าว่าแม่เคยเรียนที่โรงเรียนสตรีจุลนาค ลูกสาวคนโตจำได้ว่าเมื่อยังเด็ก เคยติดตามแม่ไปเยี่ยมครูผู้ใหญ่ที่โรงเรียนสตรีจุลนาคอยู่บ่อยๆ แต่ที่จำได้แน่นอนคือแม่เป็นนักเรียนโรงเรียนราชินีบนด้วย เพราะเพื่อนๆ ของแม่กลุ่มหนึ่งที่ยังไปมาหาสู่และมีการติดต่อกันเสมอเป็นเพื่อนจากโรงเรียนราชินีบนนี้แหละ ลูกสาวสามคนแรกของแม่ก็เป็นนักเรียนราชินีเหมือนกันแต่คนละโรงเรียนกับแม่เพราะลูกๆ อยู่โรงเรียนราชินี(เฉยๆ)
เมื่อจบชั้น ม.๖ (หรือ ม.๓ในปัจจุบัน) จากโรงเรียนราชินีบน แม่ได้เข้าเรียนต่อ ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เข้าใจว่าสมัยนั้นโรงเรียนราชินีคงจะสอนถึงชั้นมัธยมหกเท่านั้น แม่ไม่ได้เล่าถึงชีวิตนักเรียนในโรงเรียนเตรียมอุดมเท่าไรนัก ลูกรู้แต่ว่าเกิดสงครามพอดี รุ่นที่แม่เข้าเรียนจึงมีชื่อเรียกว่า “รุ่นอพยพ” เพื่อนร่วมรุ่นที่ลูกเคยเจอะเจอโดยบังเอิญเมื่อติดตามแม่ไปในงานบางโอกาสคือ คุณจามร โชติกเสถียร เพื่อนคนอื่นๆ คงจะมีอีก แต่เพราะแม่ได้ได้เอ่ยถึง หรือลูกไม่มีโอกาสได้พบได้รู้จัก
สงครามเลิกแล้วแม่ไม่ได้กลับไปเรียนต่อ แต่ได้แต่งงานกับพ่อ ลูกของแม่ห้าคนนี้คนที่สี่เท่านั้นที่เป็นผู้ชาย
แม่เขียนหนังสือตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน ก่อนพ่อตายแม่เคยทำงานอยู่กับนิตยสาร “ศรีสัปดาห์” เป็นนิตยสารรายสัปดาห์รูปเล่มคล้าย “สตรีสาร” ที่เป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน
แม่เขียนเรื่องสั้นลงประจำฉบับเท่านั้น ต่อเมื่อไม่มีพ่อแล้ว นั่นแหละ แม่จึงเรื่องเขียนเรื่องยาวลงใน “เดลิเมล์วันจันทร์” และ “สกุลไทย” ในเวลาต่อมา และเริ่มงานเขียนบทละครวิทยุและบทละครโทรทัศน์ งานเขียนมากมาย ทำให้แม่ต้องลาออกจากศรีสัปดาห์มาเขียนหนังสืออย่างเดียว
แม่เลี้ยงลูกทั้งห้าคนให้เติบโตแข็งแรงมาก็ด้วยอาชีพเขียนหนังสือ แต่แม่ต้องการ ให้ลูก ๆ ตั้งใจเรียนหนังสือให้สูงที่สุดเสียก่อนที่จะคิดเขียนหนังสืออย่างแม่ แม่บอกว่า “คนเขียนหนังสือที่จะประสบความสำเร็จอย่างแม่นั้นต้องเรียกว่าเป็นโชค และไม่ใช่ว่า ทุกคนจะมีโชคได้เสมอกัน”
แม่ต้องประสบเคราะห์อีกครั้งหนึ่งเมื่อไฟไหม้บ้านในซอยสวนเงิน (ปี ๒๕๐๗) ก็ไม่ใช่แต่บ้านของแม่เท่านั้นที่ถูกไฟไหม้ เพื่อนบ้านอีกมากมายต้องร่วมประสบเคราะห์กรรมครั้งนี้ด้วย เหตุเพราะบ้านต้นซอยเสียบเตารีดไฟฟ้าทิ้งไว้ จากเหตุการณ์ครั้งนี้เอง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเงินเพิ่มเป็นค่าเลี้ยงดูบุตรธิดาทั้งห้าคนซึ่งรวมทั้งค่าเล่าเรียน ค่าขนม ค่าเสื้อผ้า หนังสือ และอุปกรณ์การศึกษา กับค่าเช่าบ้านอีกเดือนละสองพันบาท ซึ่งเงินจำนวนสองพันนี้ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานแก่แม่ตลอดมาตราบจนสิ้นชีวิต
ด้วยรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น แม่จึงร่วมในกิจกรรมการกุศลทุกอย่างที่มีผู้ขอความร่วมมือโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการนั้นเป็นไปเพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฯ แม่ทำในเรื่องที่ถนัดมาก นั่นก็คือ เขียนบทละครโทรทัศน์ หรือบทละครเวที ช่วยกำกับการแสดง ฝึกซ้อม ดูแลให้งานสำเร็จลุล่วงไปโดยเรียบร้อยอย่างเต็มใจ
มีงานอีกมากที่แม่ร่วมมือกับเพื่อนกลุ่มอาชีพต่างๆ ดำเนินการเพื่อสาธารณะประโยชน์และเพื่อประเทศชาติ ท่านทั้งหลายเหล่านั้นได้กรุณาเขียนถึงกิจกรรมต่างๆ ที่แม่มีส่วนร่วมอยู่ด้วยลงพิมพ์ไว้เป็นอนุสรณ์ในหนังสือเล่มนี้เช่นเดียวกัน
อาชีพนักเขียนของแม่ทำให้แม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหลายวงการ เรื่องของแม่นั้นหลายๆ คน หลายๆ วงการต้องช่วยกันเล่า ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งจะรู้ได้ทุกเรื่อง นอกจากตัวของแม่เอง ลูกของแม่ได้แต่หวังว่าข้อเขียนและแง่มุมต่าง ๆ ที่ท่านทั้งหลายได้กล่าวถึงแม่ในหนังสือเล่มนี้จะเป็นกระจกเงาที่สะท้อนภาพของแม่ได้ชัดเจน
ในส่วนของลูก เรื่องของแม่เป็นเรื่องที่เล่าได้ไม่รู้จบ มีรายละเอียดนับได้ทุกเวลาทุกนาทีทั้งที่บรรยายออกมาเป็นถ้อยคำ บันทึกเป็นข้อความ หรือที่รู้สึกซึมซับอยู่เพียงในใจ เมื่อแม่ยังอยู่ ลูกไม่เคยรู้ซึ่งถึงความหมายของคำว่า ผู้ให้กำเนิด ตราบจนต้องสูญเสียนั่นแหละ ถึงได้เข้าใจว่าลูกเคยมีอะไร และแม่เป็นผู้ให้ชีวิตอย่างแท้จริง ในความรู้สึกของลูก แม่เป็นคนเก่งและมีพรสวรรค์ไปเสียหมดทุกเรื่อง แม่ทำกับข้าว ทำขนมสารพัดอย่างได้อร่อย แม่ตัดเย็บเสื้อผ้าให้ลูกได้ถูกใจ แม่วาดรูปได้สวย ซึ่งเมื่อลูกยังเล็กลูกจะรบเร้าให้แม่วาดตุ๊กตากระดาษที่เลือกว่าจะเอาหน้าตาอย่างดาราคนโน้นคนนี้ และที่สวยถูกใจคือหน้าของเด็บบี้ เรย์โนลด์ ดาราฮอลลี่วู้ดสมัยก่อน แล้วแม่ยังชอบทำการฝีมือเสียนักหนา เราจึงมีเรื่องทำด้วยกันตลอดเวลา จนกระทั่งเมื่อลูกเติบโตตามกาล เวลาและมีกิจการงานของแต่ละคน จึงได้ห่างเหินเรื่องเหล่านี้ไป
เมื่อยังไม่ได้เป็นพ่อเป็นแม่ ลูกไม่เคยเข้าใจว่า การเป็นแม่นั้นเป็นเรื่องที่ต้องอดทนและเสียสละอย่างยิ่ง เพราะแม่ไม่เคยปริปากบอกเล่า แม้ก่อนที่แม่จะจากไปไม่นาน แม่ยังพูดถึงลูกว่า “แม่เป็นคนโชคดีที่มีลูกเลี้ยงง่าย ไม่เคยเจ็บไข้เป็นอะไรหนัก ๆ และ ไม่เคยทำความเดือดเนื้อร้อนใจ”