ประวัติ

ชื่อ สุภาว์ เทวกุล ณ อยุธยา (ภูมิรัตน)
เกิด วันพฤหัสบดีที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๑ ปีมะโรง

เป็นบุตรีหลวงประกาศโกศัยวิทย์ (เสริม ภูมิรัตน) กับ นางพิศ ภูมิรัตน



การศึกษา
เรียนชั้น ป.๒ - ม.๑ (สมัยนั้น) ที่โรงเรียนสตรีจุลนาค เข้าเรียนที่โรงเรียนราชินีบน ในชั้น ม.๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ซึ่งเป็นปีแรกที่โรงเรียนราชินีบนรับนักเรียนชั้นมัธยมต้น จบชั้น ม.๖ จากโรงเรียนราชินีบน แล้วได้เข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่นอพยพ สอบเข้าจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยแผนกสถาปัตยกรรมศาสตร์ แต่ไม่ได้เรียน และต่อมาได้สอนหนังสือชั้น ป.๓ ที่โรงเรียนราชินีบนอยู่ ๑ ปี

สมรส กับ ม.ร.ว.ทัตเทพ เทวกุล

มี บุตร ธิดา ๕ คน คือ
  • ม.ล. สุภรัตน์ เทวกุล เคยรับราชการกระทรวงการต่างประเทศ
  • ม.ล. ภาว์รัตน์ จารุจินดา อดีตกรรมการผู้จัดการมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
  • ม.ล. กุลรัตน์ อึ้งอร่าม
  • ม.ล. เทพรัตน์ เทวกุล เคยรับราชการกระทรวงมหาดไทย
  • ม.ล. เบ็ญจารัตน์ โควินท์ทวีวัฒน์

>>  ทั้งนี้ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเงินค่าเล่าเรียนและค่าเลี้ยงดูทั้งสิ้นแก่บุตรธิดาทุกคนจนสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และรับพระราชทานเงินเดือนตราบจนสิ้นชีวิต

อาชีพ นักเขียน

กิจกรรม
  • เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนสองสมัย ได้ร่วมก่อตั้งสมาคมนักเขียนอาเซียน ซึ่งยังไม่สำเร็จจนถึงบัดนี้
  • เคยร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการเสริมสร้างเอกลักษณ์แห่งชาติ
  • กรรมการคณะกรรมการพัฒนาหนังสือ
  • ประธานชมรมมิตรสงเคราะห์
  • ประธานมูลนิธิโรงเรียนกุนนทีรุทธารามวิทยาคม
  • ประธานมูลนิธิโรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์
  • สร้างบทละครเวที ละครโทรทัศน์ และกำกับการแสดงให้แก่องค์กรต่าง ๆ ที่จัดแสดงละครการกุศล
  • ร่วมกับสมาชิกชมรมมิตรสงเคราะห์ประกอบกิจกรรมอันเป็นกุศลและเพื่อสาธารณะประโยชน์
กล่าวคือ
  • สร้างถังเก็บน้ำฝนให้แก่โรงเรียนในถิ่นกันดาร เช่นที่จังหวัดหนองคาย จังหวัดน่าน และ จังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมทั้งนำอุปกรณ์การเรียนการสอน การกีฬา เสื้อผ้าและยารักษาโรคไปมอบแก่ครูและนักเรียนเป็นประจำทุกปี ตามที่มีผู้ขอรับ การบริจาคมา
  • สร้างห้องสมุดให้แก่โรงเรียนที่อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก
  • มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนขาดแคลนจังหวัดน่าน ทุกปี ปีละ 6 ทุน
  • จัดทอดผ้าป่าเพื่อสร้างวัดทวีวัฒนา จังหวัดเลย
  • สร้างเมรุเผาศพ จังหวัดเลย
  • สร้างศาลาเอนกประสงค์ให้วัด จังหวัดตาก

สุดท้าย

เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลว เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๖


เรื่องของแม่
สุภาว์ - อาลัยโดยเนาวรัตน์
แม่ของเรา_คุณยายพิศ

สุภาว์ เทวกุลฯ
เขียนเป็นอนุสรณ์งานศพ ครูพิศ ภูมิรัตน เมื่อ 9 มีนาคม 2521

เราเรียกแม่ของเราว่า “คุณแม่”

ที่เรียก “คุณแม่” ก็เพราะพวกเราเกิดมาในสมัยที่ปู่ย่าตายายยังมียศถาบรรดาศักดิ์ซึ่งเรียกกันง่ายๆ ว่า เป็นพวก “ขุนนาง” อยู่ ลูกหลานขุนนางทั้งหลายจะมีพี่เลี้ยง และพวกพี่เลี้ยงนี่เองที่สอนให้เราเรียก คุณพ่อ คุณแม่ คุณลุง คุณป้า คุณอา คุณน้า ฯลฯ เพราะเขาจำเป็นที่จะต้องเรียกผู้เป็นนายอย่างยกย่องเช่นนั้น และเรามักจะอยู่กับพี่เลี้ยงมากกว่าอยู่กับพ่อกับแม่ เราก็เลยติดปากเรียกตามพี่เลี้ยง ทั้งๆ ที่ท่านผู้เป็นพ่อเป็นแม่และญาติผู้ใหญ่ของเราก็เรียกตัวของท่านเองว่า พ่อ แม่ ย่า ลุง ปู่ ฯลฯ เฉย ๆ และถ้าใครคนใดคนหนึ่งเกิดใช้คำว่า “คุณ” นำหน้าคำแทนตัวขึ้นมาละก็ มีหวังถูกนินทาว่า

“ไม่มีใครเขายกหางให้ เลยต้องยกเอง”

อย่างนี้เทียวละ


ในสมัยนั้น สมัยเมื่อเราเป็นเด็ก ผู้ใหญ่จะแสดงความสนิทสนมเอ็นดูและเมตตาลูกหลาน

และลูกหลานก็จะถูกอบรมสั่งสอนให้ยกย่องเคารพและเชื่อฟังญาติผู้ใหญ่และผู้ที่สูงกว่าด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิ และชาติวุฒิ

คนรับใช้และพี่เลี้ยงสมัยก่อนโน้นมีแต่คนดีๆ ทั้งนั้น ต่อหน้าพ่อแม่ปู่ย่าตายายเรา เขายกย่องทะนุถนอมเราอย่างไร ลับหลังเขาก็ยังคงยกย่องทะนุถนอมเราอย่างนั้น ไม่เหมือนคนเลี้ยงเด็กสมัยนี้ ต่อหน้าพ่อแม่ละก็ คุณหนูคะ คุณหนูขา แต่พอลับหลัง บางคนใช้ขันตักน้ำบ้าง ด้ามไม้กวาดบ้าง เคาะหัว “คุณหนู” ก็มี

ด้วยเหตุนี้ เราจึงยึดมั่นในสิ่งที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมา ไม่ว่อกแว่กวุ่นวายสับสนในความคิด และปฏิบัติตัวต่อท่านผู้ใหญ่เลยจนนิดเดียว

ชีวิตในวัยเด็กของเรานั้น ช่างอบอุ่นและสงบมีความสุขเสียจริง

คุณแม่ก็เหมือนกัน คุณแม่ชอบเล่าถึงชีวิตในวัยเด็กของคุณแม่อย่างมีความสุขเสมอ

คุณตา คือคุณพ่อของคุณแม่ชื่อ ขุนมหัตถกรรมประสิทธิ์ ชื่อจริงชื่อ พัน สุอังควาทิน คุณยายคือคุณแม่ของคุณแม่ชื่อ ชุ่ม คุณแม่เป็นลูกสาวคนโต มีน้องสาว ชื่อ พัฒน์ และน้องสาวร่วมบิดาซึ่งเกิดจากมารดาเลี้ยง ที่พวกเราเรียกกันว่า คุณยายมอญ นั้น อีกคนหนึ่งชื่อ พันกิ่ง

ไม่แปลกสำหรับสมัยก่อน แต่แปลกแต่จริงสำหรับสมัยนี้ คือ คุณยายใหญ่ กับ คุณยายมอญ ภรรยาหลวงและภรรยาน้อย ต่างก็ปรองดองกันเป็นอันดี แต่จะรักกันหรือเปล่านั้นสุดความสามารถของผู้เขียนที่จะรู้ได้ ที่รู้ก็คือว่า คุณพันกิ่ง หรือที่พวกเราเรียกว่า น้ากิ่ง นั้นก็ยกย่องนับถือคุณแม่ไม่น้อย เรียกคุณแม่ว่า คุณพี่ และหมั่นไปมาหาสู่เสมอๆ พบหน้าหลานทีไรก็ควักสตางค์แจกทีนั้น

พี่ๆ อุตส่าห์ค้นตำรับสืบสกุลมาให้ยาวเหยียด จะไม่เขียนถึงเสียเลย เดี๋ยวพี่ก็จะหมดกำลังใจ ฉะนั้น ถ้าท่านอ่านแล้วไม่สนุก เพราะไม่รู้เรื่องรู้ราวด้วย ก็ขออภัยด้วยเถิด

ขอเริ่มตั้งแต่คุณทวด คือคุณพ่อคุณแม่ของคุณตา หรือคุณปู่คุณย่าของคุณแม่เสียก่อน

คุณทวดผู้ชายชื่อ พระเสนาะดุริยางค์ ชื่อจริง พัก สุอังควาทิน คุณทวดผู้หญิงชื่อ พร้อม ท่านทั้งสองมีบุตรธิดาด้วยกัน 5 คน คือ

คนที่ 1 - พระสำอางค์ดนตรี (พลบ สุอังควาทิน)

พวกเราเรียกท่านว่า คุณตาพระสำอางค์ ท่านมีลูก 3 คน คือ คุณน้าผิน คุณน้าแผ้ว (คุณน้าผู้หญิงทั้งสองนี้ก็ใจดี เจอหลานเข้าจะต้องให้เงินเสมอเหมือนกัน) แล้วก็ ร.อ. ประภาส ที่เราเรียกว่า น้าภาส และคุณน้าผินนั้น ได้สมรสกับคุณอาของผู้เขียน คืออาเทพ หรือหลวงอนุมาณเมธานี ซึ่งเป็นน้องแท้ๆ ของคุณพ่อด้วย

คนที่ 2 - หม่อมพลับ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

พวกเราเรียกท่านว่า คุณยายพลับ ท่านเป็นหม่อมของหม่อมเจ้าเล็ก สนิทวงศ์ มีบุตรี 2 คน คือ ม.ร.ว.หญิงใหญ่ วสุธาร และ ม.ร.ว.หญิงปลี้มจิตร วสุธาร

คุณยายพลับ และคุณน้าหญิงใหญ่ เสียตั้งแต่ผู้เขียนยังไม่เกิด หรืออาจะเกิดแล้วแต่ยังเล็กอยู่มาก ข้อนี้ก็ลืมถามพี่ๆ ไป แต่ที่รู้ก็คือว่าผู้เขียนไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับท่านเลย แต่คุณน้าปลื้ม คือ หม่อมราชวงศ์ปลื้มจิตรนั้น นับว่าท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ที่ผู้เขียนคุ้นเคยอยู่ไม่น้อย เพราะเคยได้ไปเล่นกับพี่ๆ น้องๆ ลูกของท่านที่บ้านนางเลิ้งบ่อยๆ และท่านก็เหมือนญาติผู้ใหญ่ทั้งหลายนั่นแหละ คือรักและเอ็นดูหลานๆ ไปทีไรเป็นต้องเรียกขนมมาเลี้ยงจนอิ่มหมีพีมันทีนั้น

คนที่ 3 - ก็คือคุณตาของผู้เขียน ขุนมหัตถกรรมประสิทธิ์

คนที่ 4 - หม่อมเพิ่ม ภาณุมาศ ณ อยุธยา

มีบุตรี 2 คน คือ ม.ร.ว. สะไบ และ ม.ร.ว. สภังค์

ม.ร.ว. สะไบ กลายมาเป็นมารดาเลี้ยงของผู้เขียน ทำให้ผู้เขียนซึ่งเป็นลูกคนเล็กของพ่อแม่ ได้มีน้องชายเพิ่มมาอีก 3 คน ส่วน ม.ร.ว.สภังค์ นั้นเพิ่งจะเสียชีวิตไปเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง (นับในปี 2521 – บก.)

คนที่ 5 - หม่อมผาด ภาณุมาศ ณ อยุธยา ในหม่อมเจ้า โกสิต ภาณุมาศ

คุณยายผาด มีบุตรธิดา 7 คนด้วยกัน คือ ม.ร.ว.หญิง อินทิรา, ม.ร.ว.ชาย เรวัตร์, ม.ร.ว.หญิง สุมน, ม.ร.ว.ชาย โกศัล และ พล.ต.ต. ม.ร.ว. นิตย์, ม.ร.ว.ชาย แป และ ม.ร.ว. สำเภา

เฮอ...ลำดับญาติเสียเหนื่อย นี่ขนาดลำดับลงมาถึงอันดับเเดียวกับคุณแม่เท่านั้นนะ ถ้าจะลำดับลงไปถึงลูกหลานเหลนของคุณแม่ด้วยละก็ เห็นจะต้องจัดทำตำรับสืบสกุลมาต่างหากอีกเล่มหนึ่งละ

แต่อย่างไรก็ตาม คงจะเลี่ยงไม่ลำดับลูกหลานที่เป็นสายตรงของคุณแม่เสียหาได้ไม่ ฉะนั้น จึงจำต้องกราบขออภัยคุณน้า ๆ และขอโทษพี่ๆ น้องๆ อื่นๆ ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ยังหรอก จะยังไม่ลำดับในตอนนี้ ท่านผู้ที่พากเพียรอ่านมาถึงแค่นี้จะได้พักสมองเสียบ้าง ตอนนี้ขอคุยเรื่องคุณแม่ของเราต่อไปก่อนดีกว่า

พื้นภูมิของคุณตาคุณยาย คือคุณพ่อคุณแม่ของคุณแม่นั้น อยู่ทางฝั่งธนบุรี คุณแม่เกิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2432 ซึ่งตรงกับวันจันทร์ เดือน 10 ปีฉลู และสิ้นบุญ (ความจริงกรรม เพราะการมีชีวิตอยู่ของคนเรานั้น ถือว่าเป็นกรรมจริงๆ) เมื่อวันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2520

รวมอายุได้กี่ปี กี่วันนั้น เชิญท่านบวกลบดูเองเทอญ

เพิ่งมานึกขึ้นมาได้ตอนนี้เองว่า คนเกิดวันจันทร์นั้น การตั้งชื่อตามวิชาโหราศาสตร์เขามีเคล็ดอยู่ว่าจะต้องไม่มีสระ แต่คุณแม่ชื่อ พิศ ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักโหราศาสตร์ ถ้าหากว่าคุณตาจะให้คุณแม่ชื่อ พศ เสียละก็ คุณแม่อาจจะมีอายุยืนกว่านี้ก็ได้

คุณแม่เล่าให้พวกเราฟังเสมอว่า คุณตาเลี้ยงลูกอย่างทันสมัยมาก คือสมัยนั้นเขาไม่ค่อยนิยมให้ลูกผู้หญิงไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนกัน แต่เพราะคุณตามีความคิดผิดคนอื่น และประกอบกับเป็นความเคราะห์ดีของคุณแม่ผสมกัน ในตอนนั้นจึงมีการตั้งโรงเรียนสอนเด็กหญิงขึ้นที่จังหวัดธนบุรี เรียกว่า โรงเรียนวังหลัง ซึ่งก็คือ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เดี๋ยวนี้ และมีแหม่มโคล์ เป็นครูใหญ่

คุณตาพาคุณแม่ไปฝากเป็นนักเรียนประจำกินนอนที่โรงเรียนตั้งแต่คุณแม่อายุเพิ่งจะได้ 7 ขวบ เท่านั้นเอง

คุณแม่บอกว่า คุณยายถึงกับร้องให้สงสารลูก โถ ก็เพิ่งจะเจ็ดขวบเท่านั้นเอง แถมยังเป็นผู้หญิงเสียด้วย จะต้องห่างพ่อห่างแม่ไปกินนอนเข้าระเบียบ อยู่กับใครก็ไม่รู้ พี่เลี้ยงก็ไปคอยดูแลประคบประหงมไม่ได้

“แต่คุณตาใจแข็ง ไม่ยอมแพ้น้ำตาคุณยายเลย” คุณแม่เล่า

“แล้วตัวคุณแม่เองรู้สึกยังไงล่ะคะ” ผู้เขียนถาม

“ทีแรก แม่ก็นอนร้องไห้อยู่หลายคืนเหมือนกัน” คุณแม่บอก “แต่ตอนหลังกลับสนุกไปเสียอีก เพราะได้อยู่กับเพื่อนเยอะแยะ เวลาคุณตามารับกลับบ้านยังงี้ บางทีแม่ไม่อยากกลับเอานั่นแน่ะ”

เราฟังแล้วรู้สึกครึ้มและชื่นชมพิลึก แม่ของเราแสนจะทันสมัยอ่านพูดภาษาฝรั่งเป็นมาตั้งแต่เมื่อแปดสิบปีก่อนโน้นนั่นแน่ะ

คุณแม่เรียนอยู่ที่โรงเรียนวังหลัง กระทั่งอายุได้สิบห้าหย่อน กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 4 (ม.ศ.1 สมัยนี้) สมเด็จพระพันปีหลวงในรัชกาลที่ 6 ซึ่งขณะนั้น ทรงดำรงพระยศสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชการที่ 5) ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น

ด้วยเหตุนี้ คุณแม่จึงเป็นผู้หญิงไทยรุ่นแรกที่ได้ไปเรียนที่ญี่ปุ่น พร้อมกับนักเรียนหญิงรุ่นราวคราวเดียวกันอีก 3 ท่าน คือ คุณหญิงภรตราชา (ขจร อิศรเสนา) คุณนวล และคุณหลี

ส่วนนักเรียนชายที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปด้วยพร้อมกันอีกกลุ่มหนึ่งนั้นก็มี 4 ท่าน เช่นกัน คือ หม่อมเจ้าพงศ์ภูวนารถ. พระยาเทวาธิราช (ม.ล.แปด มาลากุล) พระยานรเทพปรีดา (เจริญ สวัสดิ์ชูโต) และ หลวงประกาศโกศัยวิทย์ (เสริม ภูมิรัตน) ซึ่งแต่ละท่านในขณะนั้นยังไม่ได้มียศถาบรรดาศักดิ์อะไรทั้งสิ้น ต่างก็กำลังเป็นหนุ่มเหน้ากันเต็มตัวทีเดียว และท่านสุดท้ายนั้น ก็คือ คุณพ่อ ของพวกเรานั่นเอง

คุณแม่กับคุณพ่อ ไปพบและรักกันที่ญี่ปุ่น เก๋หยอกใคร

สุภาพบุรุษหนุ่มทั้งสี่ท่านนั้น เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนราชวิทยาลัย และรับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งมหาดเล็กของสมเด็จพระยุพราช เจ้าฟ้าวชิราวุธ คือในหลวงรัชกาลที่ 6 นั้นเอง

คุณแม่เล่าว่า “คุณพ่อน่ะ รูปหล่อ แล้วก็เจ้าชู้ชะมัดเชียว”

คุณแม่มาเล่าในสมัยนี้ เลยใช้คำว่า หล่อ เป็นแต่ในสมัยโน้น คุณแม่อาจจะชมคุณพ่อว่า เก๋ คมสัน มีเสน่ห์จับใจก็ได้

เสียงที่คุณแม่เล่านั้นมีทั้งชื่นชม ภูมิใจและเจ็บใจนิดๆ ด้วย เพราะ

“เข้าใกล้ผู้หญิงคนไหนละไม่ได้ เป็นเกิดเรื่อง พูดเพราะก็ที่หนึ่ง เอาใจผู้หญิงก็ที่หนึ่ง กับคนอื่นละก็ เขียนจดหมายหวานๆ ใส่กระดาษสวยๆ ส่งให้เขา แต่กับแม่ คุณพ่อบอกว่าเราสองคนเข้าใจกันดี เพราะฉนัั้นถึงเขียนจดหมายใส่กระดาษฟางเราก็ยังเข้าใจกัน”

หรูไหมละ สำนวนของคุณพ่อของเรา

คุณแม่ไปเรียนเย็บปักถักร้อย วาดเขียน และดนตรีบ้างเล็กน้อยที่เมืองญี่ปุ่น สำเร็จการศึกษาเมื่ออายุ 19 จึงกลับมา และเข้าเป็นครูสอนการฝีมือที่โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาด ซึ่งขณะนั้น หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล ทรงเป็นอาจารย์ใหญ่

หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา ซึ่งในสมัยนั้นทุกคนเรียกท่านว่า “ท่านอาจารย์” นั้นทรงเคยเรียนโรงเรียนวังหลังมาด้วยกันกับคุณแม่ แต่ทรงเป็น “รุ่นพี่” และทรงมีพระเมตตากรุณาต่อคุณแม่เสมอมาจนกระทั่งสิ้นชีพิตักษัย พระคุณของพระองค์ท่านนั้นมากล้นหาที่เปรียบมิได้

ผีมือปักไหม หรือที่เรียกกันว่า ปักสะดึงแบบซ้อนฝีเข็ม ของคุณแม่นั้นยอดเยี่ยมจริงๆ จำได้ว่าคุณแม่ปักรูปนกกยูง แววหางและขนของนกยูงตัวนั้นเหลือบสีแพรวพราวราวกับของจริง ซึ่งทางโรงเรียนราชินีเคยใส่กรอบไว้จนกระทั้งเก่าซีดและเนื้อแพรที่ปักกินตัวขาดปรุจึงได้ปลดออก

นอกจากนั้นแล้ว คุณแม่ยังสอนนักเรียนหัดกายบริหารด้วยจังหวะเสียงออแกน และยังสอนวาดเขียนอีกด้วย แม้ในระยะหลังๆ เมื่อคุณแม่ยังมีการติดต่อด้านสังคมอยู่บ้างนั้น เมื่อจะส่งบัตรอวยพรปีใหม่ถึงใคร คุณแม่ก็ชอบที่จะเขียนรูปดอกไม้ด้วยสีน้ำ ส่งไปแทนที่จะซื้อ ดอกไม้ที่คุณแม่ชอบเขียนคือดอกพุทธรักษา ซึ่งผู้เขียนจำได้ว่า เคยนั่งเฝ้ามองคุณแม่ลงสีกลีบและแต้มสีแดงๆ แสดๆ ลงไป จนผู้เขียนตกใจกลัวมันจะเลอะ แต่มันไม่ยักเลอะ กลับกลายเป็นรูปดอกพุทธรักษาที่มองเหมือนดอกไม้จริงๆ เทียวละ

สี่ปีเต็มที่ศึกษาอยู่เมืองญี่ปุ่น ทำให้คุณแม่หลงเสน่ห์ชาวเมืองอาทิตย์อุทัยมิใช่น้อย สี่ปีเต็มตั้งแต่อายุยังเยาว์ ทำให้คุณแม่รับเอาลักษณะบางอย่างของผู้หญิงญี่ปุ่นเข้ามาไว้ในตัว เช่นเดินก้าวสั้นๆ แต่เร็ว จนกระทั้งแม้เมื่อคุณแม่อายุตั้งเจ็ดแปดสิบแล้ว คุณแม่ก็ยังเดินเร็วจนลูกต้องวิ่งตาม คุณแม่เพิ่งจะมาช้าลงเมื่อไม่กี่ปีก่อนที่จะเสียนี่เอง

ในเรื่องภาษาญี่ปุ่นนั้น คุณแม่ไม่เคยลืมเลย หมั่นพูด หมั่นค้นคว้า และคบหากับคนญี่ปุ่นอยู่เสมอ และเมื่อมีโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นขึ้นที่ท่าช้างวังหลวง คุณแม่ก็จัดการให้ลูกๆ เข้าเรียนเกือบจะทุกคน นอกจากพี่สาวคนรองลงมาจากพี่สาวใหญ่ ซึ่งขณะนั้นแต่งงานแล้วและไปอยู่กับพี่เขยซึ่งเป็นกงสุลพาณิชที่ฮ่องกงเท่านั้นที่ไม่ได้เรียน ตัวผู้เขียนเองนั้น รู้จัก คนนิจัวะ (สวัสดี), คมบังวะ (สายันห์สวัสดิ์), โอฮาโย โกไท ชมัทชึ (อรุณสวัสดิ์) โอยาชึ มินาไช (ราตรีสวัสดิ์ ขอลาไปนอน) และขอข้าวขอน้ำ เป็นมาตั้งแต่เล็กๆ เพราะเป็นลูกคนเล็ก คุณแม่ไปไหนก็หนีบเอาไปด้วยเสมอ

แม้เมื่อคุณแม่เจ็บ ก่อนหน้าที่จะเสียเพียงไม่กี่วัน คุณแม่ก็ยังพูดภาษาญี่ปุ่นอยู่

คุณแม่พูดภาษาญี่ปุ่นจนกระทั่งคนญี่ปุ่นเองถามว่า

“มาอยู่เมื่องไทยนานแล้วหรือ”

เมื่อประมาณปี พ.ศ.2480 เมื่อท่านอาจารย์หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล เสด็จไปประชุมองค์การกาชาดที่ประเทศญี่ปุ่น คุณแม่ก็ได้ตามเสด็จด้วยเพื่อทำหน้าที่ล่าม

คุณแม่มีเพื่อนรักที่เป็นคนญี่ปุ่นอยู่คนหนึ่ง เคยเรียนหนังสือมาด้วยกัน และเมื่อจากกันแล้ว ก็ยังเขียนจดหมาย ส่งรูปถ่าย ส่งของให้กันและกันอยู่เป็นประจำมานานหลายสิบปี คุณแม่สอนให้ลูกๆ เรียกว่า ป้าทะเก เราก็เรียกตามนั้นอย่างสนิทสนมทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตาสักนิด ว่าป้าทะเก คนนี้เป็นอย่างไร นอกจากจะเคยเห็นแต่ในรูปถ่ายเท่านั้น เวลาลูกหลานป้าทะเก มาเมืองไทยก็ต้องแวะมาหาคุณแม่ ข่าวคราวของป้าทะเกเพิ่งจะมาเงียบหายไปก่อนหน้าที่คุณแม่จะเสียเพียงไม่กี่เดือนนี่เอง บางทีป่านนี้เพื่อนรักทั้งสองอาจจะได้พบกัน และคุยกันอย่างสนุกสนาน ณ ที่หนึ่งที่ไดในภพอื่นแล้วก็เป็นได้

คุณแม่สอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนราชินีได้ประมาณสามปีกว่า ก็ได้แต่งงานกับคุณพ่อ

ต่อมา คุณแม่ก็มีลูกสาวคนโต คือพี่แดง หรือสมใจ ซึ่งต่อมาได้แต่งงานกับนายแพทย์ประสบ วรมิศร์ และมีบุตรธิดา คือหลานยายให้คุถณแม่ 4 คนด้วยกัน คือ ประสม วรมิศร์ (ตายตั้งแต่อายุ16 ปี), พ.ต.อ.พิศักดิ์ วรมิศร์. ประเสริฐ วรมิศร์ และ สบใจ ศิริยะพันธุ์

คุณแม่เล่าว่า แม้เมื่อมีพี่แดงแล้ว คุณแม่ก็ยังคงไปสอนหนังสืออยู่ และเอาพี่แดงไปโรงเรียนด้วย โดยมีคนเลี้ยงตามไปเลี้ยง ที่ต้องเอาพี่แดงไปด้วยนั้นก็เพราะสมัยนั้นแม่ต้องให้นมลูกเอง ไม่ได้กินนมวัวนมผงอย่างสมัยนี้ จนกระทั่งคุณแม่ตั้งท้องพี่น้อย คือพี่สาวคนรองจากพี่แดง และเกิดหกล้ม พี่น้อยเลยคลอดก่อนกำหนดคืออยู่ในทองเพียงเจ็ดเดือนเท่านั้น คุณแม่ก็เลยต้องลาออกจากโรงเรียน เพื่อคอยเฝ้าดูแลประคบประหงมพี่น้อย

“ตัวเท่าขวดน้ำ” คุณแม่เปรียบเทียบพี่น้อยเมื่อแรกเกิด “แถมยายหมอแกทำความสะอาดไม่หมด หนูยังแอบมากัดหูแม่น้อยเอาเสียอีก”

พี่น้อยมีชื่อจริงว่า จิตต์ใส ซึ่งต่อมาได้แต่งงานกับพี่สง่า สุวรรณศรี มีลูกสองคนชายและหญิง ที่ต้องผ่าออกทางหน้าท้องทั้งคู่ คือ สุรจิตต์(ใหญ่) และงามจิตต์(เล็ก)

ต่อจากพี่น้อยก็คือพี่เหมาะ หรือที่คุณแม่และพี่ ป้า น้า อา เรียกกันว่าแม่เภา พี่เหมาะซึ่งชื่อแสนเพราะว่า เหมาะเนตร แต่ไม่ชอบ เลยตัดเอาคำว่าเนตร ออกเสีย เหลือแต่เหมาะห้วนๆ นั้น ไม่ได้แต่งงาน และเพิ่งจะเสียไปอย่างกะทันหันด้วยระบบการทำงานของหัวใจล้มเหลวก่อนหน้าที่คุณแม่จะเสียเพียงสามอาทิตย์เท่านั้นเอง

หลังจากนั้น คุณพ่อได้ย้ายไปอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก คุณแม่อยากได้ลูกผู้ชาย ก็เลยไปกราบไหว้บนบานพระพุทธชินราช ขอลูกผู้ชาย เลยได้พี่นิด คือ สุรไชย ภูมิรัตน ออกมา

ต่อจากพี่นิด คุณแม่มีลูกหญิงอีกคนหนึ่ง แต่เสียตั้งแต่อายุเพียงไม่กี่วัน

และคนต่อมาก็คือ พี่อู๊ด หรือเกษม ภูมิรัตน

คนนี้ก็แปลกอีก คือทุกๆ คนเรียก อู๊ด แต่ยังไงถึงกลับเรียกตัวเองว่าเล็กก็ไม่ทราบ ผู้เขียนมีความสงสัยในเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็กจนเดี๋ยวนี้แก่แล้วก็ยังไม่รู้ว่า ทำไมพี่อู๊ด จึงเรียกตัวเองว่าเล็ก ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นลูกคนเล็กสักหน่อย

พี่อู๊ด แต่งงานกับ สมทรง และมีลูกชาย 2 คน คือสมเกษมกับคมสัน ยังเรียนหนังสือชั้นมัธยมอยู่ทั้งคู่

น้องชายของพี่อู๊ด ซึ่งน่าจะเรียกตัวเองว่าเล็ก กลับชื่ออิ๊ด คือ ปรีชา ภูมิรัตน

พี่อิ๊ดแต่งงานกับคุณตวงศิริ มีลูกชาย 2 คนเหมือนกัน ชื่อครรชิตและชนก พี่อิ๊ดแต่งงานก่อนพี่อู๊ด เลยมีลูกโตกว่า ขณะที่ทำหนังสือเล่มนี้ ครรชิตกำลังทำปริญญาเอกอยู่อเมริกาและชนกกำลังเรียนพาณิชยการ

แล้วก็มาถึงคนสุดท้อง คือตัวผู้เขียนเอง

สามีของผู้เขียน หม่อมราชวงศ์ทัดเทพ เทวกุล นั้นตายไปตั้ง 19 ปีแล้ว ทิ้งลูกไว้ให้เป็นมรดก 5 คน คือ สุภรัตน์. ภาว์รัตน์ กุลรัตน์ เทพรัตน์ และเบ็ญจารัตน์

และเพราะว่าผู้เขียนต้องเลี้ยงลูกถึง 5 คนมาเป็นเวลาอันยาวนานนี่เอง จึงได้รู้ว่าคุณแม่ต้องแบกภาระที่แสนจะหนักหน่วงแค่ไหนในการที่ต้องเลี้ยงดูพวกเรากว่าจะโตขึ้นมาได้

คุณแม่แยกทางกับคุณพ่อภายหลังที่ผู้เขียนเกิดได้เพียงปีเดียว แต่จะว่าแยกทางกันก็ไม่ค่อยถูกนัก เพราะคุณแม่ก็ยังพาลูกไปเยี่ยมคุณพ่ออยู่เหมือนกัน เอาเป็นว่า แยกกันอยู่ก็แล้วกัน

คุณแม่ได้กลับเข้าไปเป็นครูที่โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาดอีกครั้งโดยพระกรุณาของท่านอาจารย์หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา ซึ่งยังทรงเป็นอาจารย์ใหญ่อยู่และต่อมา ท่านอาจารย์ได้นำคุณแม่เข้าเฝ้าถวายพระอักษรแด่สมเด็จเจ้าฟ้าเพ็ชรรัตน์ราชสุดา จวบจนกระทั่งเจ้าฟ้าเสด็จเข้าศึกษาในโรงเรียนราชินี

หลังจากนั้น ท่านอาจารย์ได้โปรดให้คุณแม่พาลูก ไปพักอาศัยอยู่ในวังเทวะเวสม์ โดยโปรดให้ทำงานที่สำนักงานจัดการผลประโยชน์ทรัพย์สินส่วนพระองค์วังสระปทุม ซึ่งในเวลานี้มีสำนักงานอยู่ที่ตำหนักใหญ่วังเทวะเวสม์

ผู้เขียนจำได้ว่า เมื่อผู้เขียนอายุประมาณ 13-14 ปีนั้น คุณแม่ทำงานหนักมาก คือรับจ้างสอนภาษาไทยให้แก่คนญี่ปุ่นหลายต่อหลายราย และสอนภาษาณี่ปุ่นให้คนไทย เพราะตอนนั้นญี่ปุ่นกำลังเฟื่องในเมืองไทย นอกจากนั้นก็สอนภาษาญี่ปุ่นที่โรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นท่าช้างวังหลวง

ต่อมาหลังจากที่ท่านอาจารย์สิ้นชีพิตักษัยในปี 2495 คุณแม่ได้ลาออกจากสำนักงานจัดการผลประโยชน์ฯ ไปเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนจันทรวิทยา และเมื่อปลดเกษียนจากโรงเรียนจันทรวิทยาแล้ว ก็ไปเป็นครูแม่บ้านที่สมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่น และตลอดเวลาเหล่านี้คุณแม่ก็ยังรับสอนภาษาญี่ปุ่นเป็นการหารายได้พิเศษตลอดมา จนกระทั่งลูกๆ ทำงานได้ มีเงินเดือนมากพอ ที่จะช่วยกันส่งเสียคุณแม่แล้วนั่นแหละ คุณแม่จึงได้หยุดทำงาน และในภายหลังได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯพระราชทานเงินเลี้ยงชีพเดือนละห้าร้อยบาท และต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ขึ้นให้เป็นเดือนละหกร้อยบาทจนกระทั่งสิ้นบุญ

ในบั้นปลายชีวิต คุณแม่ไปพำนักอาศัยอยู่กับพี่น้อยและหลานสาว งามจิตต์ ลูกของพี่น้อย ที่บ้านเมืองนนท์ พี่เหมาะไปอยู่กับคุณแม่ด้วย และทุกเดือน เดือนละสองสามครั้ง คุณแม่กับพี่เหมาะจะมาเยี่ยมเยียนผู้เขียนและลูกๆ

คุณแม่ยังคงมีอารมณ์ขัน เช่นที่บ้านผู้เขียนมีสุนัขเยอะแยะและผู้เขียนชอบเรียกตัวเองว่า “แม่” เจ้าสุนัข หรือหมาพวกนี้มันก็เหลือเกิน ชอบนั่งนอนบนเก้าอี้ เวลาคุณแม่มาถึงคุณแม่จะบอกกับมันว่า

“เอ้า หลีกไป ขอให้ยายนั่งหน่อย” แล้วคุณแม่ก็หัวเราะ

เมื่อวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พี่สง่า สามีของพี่น้อยโทรศัพท์มาหาผู้เขียนว่า

“ภาว์ คุณแม่ไม่สบาย ช่วยบอกให้คุณนิดหรือคุณอิ๊ดเอารถมารับคุณแม่ไปหาหมอที”

ผู้เขียนไม่มีรถ ก็ต้องโทรศัพท์ไปบอกพี่ชายตามนั้น และในตอนเย็นวันนั้น พี่นิดและพี่อิ๊ด ซึ่งพบกันเป็นประจำอยู่ทุกเย็นเพราะเล่นเทนนิสด้วยกัน ก็พากันไปรับคุณแม่ที่บ้านเมืองนนท์พา มาให้หมอตรวจที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ หมอจัดการสวนอุจจาระให้ เพราะคุณแม่ปวดและแน่นท้อง แล้วก็ให้ยามากิน แล้วพี่ชายทั้งสองก็พาคุณแม่มาที่บ้านผู้เขียน บอกว่า

“คืนนี้พี่ว่าให้คุณแม่นอนบ้านภาว์ดีกว่า เพราะอยู่ใกล้โรงพยาบาลเผื่อไม่สบายอีกจะได้พาไปโรงพยาบาลได้เร็วและสะดวกกว่ากลับไปนอนบ้านเมืองนนท์”

ปรากฏว่าคืนนั้นคุณแม่นอนไม่หลับเกือบทั้งคืน บ่นแต่ปวดท้องและขอยากิน ผู้เขียนก็เลยไม่ได้นอนไปด้วย เพราะต้องคอยนั่งกดท้องให้คุณแม่อยู่”

คุณแม่ปวดท้องข้างขวา ทำให้ผู้เขียนสงสัยไปว่าท่านอาจจะเจ็บไส้ติ่ง เพราะรับประทานยาที่หมอให้มาเข้าไปกี่ครั้งก็ไม่หาย ดังนั้นในตอนเช้า ผู้เขียนก็เลยตัดสินใจ เรียกรถโรงพยาบาลพญาไทมารับคุณแม่ไปเข้าโรงพยาบาลเพื่อให้หมอตรวจให้ละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เพราะผู้เขียนคุ้นเคยกับนายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์ของที่นั่นดีพอสมควร

หมอโรงพยาบาลพญาไทยช่วยกันตรวจอาการของคุณแม่อย่างละเอียดแล้วก็บอกว่าตุณแม่เป็นนิ่วในถึงน้ำดี จะต้องผ่าตัด

“อายุคุณแม่ตั้งแค่นี้แล้วจะผ่าตัดได้หรือคะ”

คุณแม่อายุย่างเข้าแปดสิบเก้าแล้ว แต่หมอบอกอย่างมั่นใจว่า

“ผ่าได้ครับ เพราะความดันกับหัวใจของคุณแม่ดีมาก”

คงจะจริง เพราะคุณแม่ไม่เคยเจ็บถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อมาเลยในชีวิต ยาก็ไม่เคยชอบกิน โรคประจำตัวของคุณแม่คือโรคไต ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ยังสาว และเคยให้หมอญี่ปุ่นรักษาจนอยู่ในขั้นที่เรียกว่าหายมาแล้ว แต่ผู้เขียนจำได้ว่าในตอนหลังๆ ประมาณสิบกว่าปีมานี้ โรคไตของคุณแม่กำเริบอีก และคุณแม่ก็ไปหาซื้อยาหมอตี๋มากินเองเงียบๆ แล้วก็ไม่เห็นเป็นอะไร ไม่มีอาการของคนป่วยเป็นโรคไต เช่นปวดเมื่อยหลังหรือเท้าบวมอะไรทำนอนนั้น ปรากฏให้เห็นเลย

ใครจะไปคิด ว่าเจ้าโรคไตของคุณแม่มันจะมาทำพิษเอาในตอนนี้

หัวใจกับความดันดีเยี่ยม แต่ไตเกิดไม่ทำงานขึ้นมาเสียเฉยๆ อย่างนั้นเอง

หมอผู้เชี่ยวชาญโรคที่คุณแม่เป็นร่วมมือกันให้การรักษาดูแลถึงสามคน คือหมอผู้เชี่ยวชาญโรคในช่องท้องสองคน กับหมอผ่าตัดช่องท้องอีกหนึ่งคน แต่คุณแม่ซึ่งไม่เคยเจ็บมากมาก่อนเลยนั้นรำคาญการรักษาตามแบบที่ต้องใช้เครื่องมือสมัยใหม่ เช่นการให้เลือดและน้ำเกลือ การสอดท่อระบายปัสสาวะ การให้ออกซิเจนอะไรทำนองนี้นัก ก็เลยต่อสู้การบำบัดของหมอเต็มที่ เอะอะจะลุกขึ้นกลับบ้านท่าเดียว จนกระทั่งหมดแรง และหมดสติไม่รู้สึกตัว

คุณแม่นอนไม่มีสติอยู่สามวันในห้อง ไอ.ซี.ยู เพราะไตไม่ทำงานจนถึงวันอังคารที่ 11 ตุลาคม ก็สิ้นลมไปเงียบๆ เมื่อตอนบ่ายสองโมง

แม่ของเรา ไม่ได้เป็นแม่ผู้วิเศษเพียบพร้อมเลิศเลอขนาดแม่ระดับชาติทั้งหลาย แม่ของเราเคยทำสิ่งที่ลูกๆ รู้สึกว่าลำเอียงและไม่ยุติธรรมบ่อยๆ ในการแสดงออกถึงความรักและความอาทรในลูกบางคน

แต่ถ้าคิดดูให้ดีแล้ว เราก็จะรู้ว่า นั่นมิใช่เป็นเพราะแม่รักลูกคนหนึ่งคนใดมากกว่ากันหรอก แต่เป็นเพราะลูกแต่ละคนมีความ “ขาด” ไม่เท่ากันต่างหาก

ลูกคนไหนทำมาหากินคล่อง มั่งมีเงินทอง แม่ก็ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องให้

ลูกคนไหนยากจนขัดสน แม่ก็ห่วงใย ช่วยเหลือ

“ก็ถ้าแม่ไม่ให้ แล้วเขาจะไปเอาจากที่ไหน”

ลูกคนไหนทำดี มีผู้คนยกย่องนับถือ แม่ก็ปลาบปลื้มชื่นชมไปด้วย

แต่ถ้าลูกคนไหนทำผิด ถูกตำหนิติเตียน แม่ก็พลอยเดือดร้อนไปกับคำติเตียนนั้นด้วย จนถึงบางครั้งก็ต้องแก้แทน เพราะวิสัยของแม่ย่อมไม่พึงใจที่จะได้ยินผู้ใดติเตียนลูก

ตาชั่งยังเอียงได้

นาฬิกายังเดินผิดเวลา

แม้กระทั่งโลกก็ยังหมุนเอียงๆ

ก็แล้วปุถุชนคนธรรมดาแท้ๆ จะกะเกณท์ให้เดินตรงแหนวไม่เอนเอียงเหหันไปบ้างจะได้อย่างไร

นี่แหละ ฉะนั้นเมื่อลูกคนไหน “ขาด” มาก แม่ก็ให้มาก เมื่อเกิด ขาด อยู่ตลอดเวลาแม่ก็ต้องให้ตลอดเวลา ถึงแม้ตัวเองจะไม่มี ก็ต้องพากเพียรหามาให้ได้

นี่แหละคือ แม่

และนี่แหละคือ แม่ของเรา

ไหนๆ ก็ลำดับญาติทางคุณแม่ไว้แล้ว รู้สึกว่า ถ้าลำดับญาติทางคุณพ่อไว้บ้าง ก็คงจะไม่เสียหายอะไร แต่เท่าที่จำได้นั้น ก็จำได้ทั้งหมดแค่ลำดับชั้นผู้เขียนเองเท่านั้น ชั้นลูกชั้นหลานนั้นจำไม่ได้ และไม่มีเวลาจะสืบค้นได้ทันจึงต้องขอโทษลูกๆ หลานๆ ไว้ ณ ที่นี้ที่ไม่มีชื่อ

คุณปู่ มหาเสวกตรีพระยาเพ็ชรัตน์สงครามรามราชภักดีพิริยะพาหะ (เลื่อง ภูมิรัตน)

คุณย่า คุณหญิงเนื่อง ภูมิรัตน (นามสกุลเดิมของคุณย่าก็ภูมิรัตน เหมือนกัน)

คุณปู่กับคุณย่ามีลูกด้วยกันทั้งหมดดังนี้
1. หลวงประเสริฐอักษร (เมธ ภูมิรัตน) สมรสกับคุณทูล บุนนาค ไม่มีบุตรธิดา แต่ได้รับเอา มิตร ภูมิรัตน บุตรชายของพระยาไชยสุรินทร์ (ตาล บุนนาค) มาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม (เจ้าคุณไชยสุรินทร์เป็นพี่ชายของคุณป้าทูล)
2. หลวงประกาศโกศัยวิทย์ (เสริม ภูมิรัตน) สมรสกับคุณพิศ สุอังควาทิน มีบุตรด้วยกัน 7 คน คือ
นางสมใจ วรมิศร์, นางจิตต์ใส สุวรรณศรี. นางสาวเหมาะ ภูมิรัตน. นายสุรชัย ภูมิรัตน. นายเกษม ภูมิรัตน. นายปรีชา ภูมิรัตน และนางสุภาว์ เทวกุล ณ อยุธยา
และมีบุตรชายกับ ม.ร.ว. สะไบ สนิทวงศ์อีก 3 คน คือ นายพะวง ภูมิรัตน, นายจงใจ ภูมิรัตน และนายประสิทธิ์ ภูมิรัตน
3. นางจำนงค์สรกิจ (เกษม บรรณปัญญา)
4. หลวงนิคมบริรักษ์ (สืบ ภูมิรัตน) สมรสกับคุณสร้อยและมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ นายพงศ์ ภูมิรัตน
5. นางวิชิตพาหนะการ (นวลแข ภูมิรัตน) สมรสกับขุนวิชิตพาหนะการ (วุฒิ ภูมิรัตน) มีบุตรธิดา 2 คน คือ นางสุรีย์ ภูมิรัตน และ นายเทียบ ภูมิรัตน
6. หลวงอนุมานเมธานี (เทพ ภูมิรัตน) สมรสกับคุณผิน สุอังควาทิน มีบุตร คือ นายทะนง ภูมิรัตน และ นามอมร ภูมิรัตน
7. นางนิเวศน์ธิบาล (อนงค์ ภูมิรัตน) สมรสกับขุนนิเวศธิบาล (เสกศักดิ์ อมาตยกุล)มีบุตรธิดาด้วยกัน คือ นายสมวงศ์ อมาตยกุล, นางนงลักษณ์ วรวรรณ ณ อยุธยา, นายอภิชาติ อมาตยกุล, นางวาสนา วรวรรณ ณ อยุธยา และนายชาลี อมาตยกุล


9 มีนาคม 2521